นักการเมืองมักพูดถึงปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกี่ยวพันกับปัจจัยหลายอย่าง หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือการจัดสรรงบประมาณ เพราะต่อให้กระจายอำนาจไปแล้ว แต่ถ้างบฯไม่เพียงพอก็ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวบ้านไม่สำเร็จ

ผมได้ชมรายการ “วุฒิสภารายสัปดาห์” ที่ คุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ส.ว. อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ ปัญหาสัดส่วนการจัดงบประมาณที่ไม่เอื้อต่อการกระจายความเจริญมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี และถึงแม้รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องจัดสรรงบฯลงท้องถิ่น 35% แต่งบฯที่ลงไปก็เต็มไปด้วยงบฯฝากเบิกจากส่วนกลาง ท้องถิ่นไม่ได้มีอำนาจพิจารณาใช้งบฯเต็มจำนวน

ส.ว.อภิชาติกล่าวว่า ประเทศไทยแบ่งการปกครองเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น งบฯส่วนกลางหรือที่เรียกว่างบฯฟังก์ชัน เป็นงบฯของ 20 กระทรวง มีมากถึง 80% (ในงบฯปี 2566 มีประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท จาก 3.185 ล้านล้านบาท)

ขณะที่ ส่วนภูมิภาค ผวจ.มีงบฯแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 2 หมื่นกว่าล้านบาท คิดเป็น 0.8% ทั้งๆที่ ผวจ.และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดรู้ปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดี แต่ถูกจัดงบฯมาให้แบบท็อปดาวน์

สำหรับ งบฯท้องถิ่นมี 29% หรือกว่า 8 แสนล้านบาท (รวมงบฯที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดสรรให้ อบต.ทับซ้อนอยู่ด้วย) แต่ในจำนวนนี้มีลักษณะเป็น งบฯฝากเบิก เช่น นมโรงเรียน อาหารกลางวันเด็ก เบี้ยคนชรา รพ.สต. ฯลฯ ซึ่งเป็นภารกิจรอเบิกอยู่แล้ว

ปัญหาของท้องถิ่นคือ ไม่มีเงินมาบริหารจัดการ เพราะงบฯ 40% เป็นงบฯบุคลากร ต้องจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง อีก 40% เป็นงบฯจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ ค่าดำเนินงาน และยังมีงบฯฝากเบิกจากส่วนกลางอีก ทำให้เหลืองบฯพัฒนาแค่ 5% เช่น สร้างถนน แหล่งน้ำ สะพาน อบต.บางแห่งมีงบฯพัฒนาไม่ถึง 2 ล้านบาท และงบฯก็ลงไปไม่ถึงตำบล หมู่บ้าน เพราะไม่ใช่หน่วยงานรับงบฯตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ

...

ในเมื่อสัดส่วนการจัดสรรงบฯ 80% ยังอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งมีปลัดกระทรวง 20 คน อธิบดี 150 คน รวม 170 คน คุมเงิน 2.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ข้างล่าง ได้รับจัดสรรจริงแค่ 20% มี ผวจ. 76 คน นายกเทศมนตรี 2.4 พันคน นายก อบต. 5.3 พันคน รวม 7 พันกว่าคน ซึ่งรู้ปัญหาในท้องถิ่นดีที่สุด แต่ได้บริหารงบฯแค่ 8 แสนล้านบาท ทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้

ถ้าไม่แก้วิธีการกระจายงบประมาณ ก็ไม่เห็นแสงสว่างที่จะแก้ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำได้

ส.ว.อภิชาติเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังนี้ 1.ระยะสั้น ให้กระทรวงมหาดไทยอัดเงินลงไปที่หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 แสนบาท ทั้งหมด 75,086 หมู่บ้าน ก็ใช้งบฯ 7,580 ล้านบาท ให้ชาวบ้านคิดกันเองว่าจะใช้แก้ปัญหาในพื้นที่อย่างไร จะได้ตรงความต้องการของชุมชน

2.ระยะกลาง ตัดทอนงบฯส่วนกลาง เฉือนไปเพิ่มให้กับจังหวัดหรือท้องถิ่นมากขึ้น อาจจะกำหนดให้ทำเรื่องสาธารณูปโภคที่จำเป็นก่อน หรือกำหนดเพดานวงเงิน เช่น ตัดงบฯส่วนกลาง 10% ลงไปให้ท้องถิ่นหรือจังหวัดคิดโครงการเสนอมา ไม่ใช่ปล่อยให้ปลัดกระทรวงกับอธิบดี 170 คน เป็นผู้กำหนดโครงการ

3.ข้อนี้สำคัญที่สุดคือ เจตจำนงทางการเมืองต้องชัดเจนและจริงจัง เนื่องจากต้องแก้ไข พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ต้องอาศัยนักการเมือง ทั้งนายกฯ คณะรัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. ช่วยกันผลักดันแก้กฎหมาย

ผมเห็นด้วยว่าข้อ 3 สำคัญสุด แต่ก็เป็นข้อที่ยากสุดเช่นกัน หวังว่าจะมีสักวันที่นักการเมืองไทยสามัคคีพร้อมใจกันครับ.

ลมกรด