อ.ธรณ์ เผยสัญญาณเตือนผลกระทบของภาวะโลกร้อนจากท้องทะเล ปรากฏการณ์ ปะการังเปลี่ยนสี-ดาวหนามเยอะผิดปกติ แนะคนไทยต้องช่วยดูแลทะเลให้แข็งแรง พร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ


วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า วันนี้จะเล่าเรื่อง ทะเลห้ามอ่อนแอ เพื่อนธรณ์คงสงสัยว่าทะเลอ่อนแอเป็นไปได้หรือ คำตอบคือได้ ทะเลก็ป่วยได้เหมือนคนเรา หากสิ่งแวดล้อมรอบตัวย่ำแย่เกินทน

นักวิทยาศาสตร์จึงต้องคอยตรวจสุขภาพระบบนิเวศทางทะเล โดยเฉพาะแนวปะการัง เราต้องเช็กเป็นประจำ โดยมีโปรแกรมตรวจเป็นข้อๆ เหมือนเราไปตรวจร่างกาย เช่น ปริมาณปะการัง ปริมาณตัวอ่อน ชนิด/ปริมาณปลาที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ฯลฯ ที่นับได้หลายสิบข้อ นำมารวมกันเพื่อประเมิน Resilience หรือความสามารถในการฟื้นตัวของระบบนิเวศ ซึ่งสำคัญมากในยุคโลกร้อน ภัยพิบัติเพียบ เปรียบเสมือนคนร่างกายแข็งแรง แม้จะเจ็บป่วยกะทันหัน พอหายป่วยก็ฟื้นตัวได้เร็ว

นอกจากเช็กภูมิแล้ว เรายังต้องติดตาม "อาการไม่สู้ดี" ของระบบนิเวศ สองภาพที่นำมาให้เพื่อนธรณ์ดู เป็นเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดกับแนวปะการังไทย หนึ่งคือโรคแถบสีเหลืองที่ตอนนี้เกิดแถวสัตหีบ/แสมสาร นักวิทยาศาสตร์พบว่าเนื้อเยื่อของปะการังเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หลังจากนั้นเนื้อเยื่อจะตาย และเริ่มมีสาหร่ายมาปกคลุมส่วนที่ตาย การลุกลามประมาณ 1 เซนติเมตร/เดือน ในปะการังโขด และประมาณ 1-6 เซนติเมตร/สัปดาห์ ในปะการังเขากวาง

หากส่วนไหนของปะการังเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ปะการังส่วนนั้นจะตาย ตอนนี้กรมทะเลร่วมกับหลายหน่วยงาน รวมทั้งอาสาสมัคร กำลังตัดแซะปะการังส่วนที่มีชีวิตเพื่อไปปลูกใหม่ เราพอทราบว่าโรคนี้อาจเกิดจากแบคทีเรีย ยังไม่มีทางรักษา ก็เลยต้องใช้วิธีนั้น

...

อีกเรื่องรายงานเพื่อนธรณ์ คือ ดาวหนาม ดาวทะเลที่กินปะการัง เป็นเรื่องปรกติของธรรมชาติที่จะมีดาวทะเลชนิดนี้อยู่บ้าง แต่บางครั้ง บางที่เกิดความผิดปรกติ ดาวหนามเพิ่มจำนวนอย่างเร็ว ปีนี้มีรายงานจากเกาะบอน อุทยานสิมิลัน ทีมอุทยานลงไปตรวจสอบแล้ว เน้นย้ำตรงนี้ว่า ดาวหนามเป็นส่วนหนึ่งของแนวปะการัง เพื่อนนักดำน้ำเห็นแล้วอย่าเพิ่งเก็บทำลาย หากมีเยอะจนผิดสังเกต ขอให้รายงานมา

ปรากฏการณ์ COT Outbreak มีตัวบ่งชี้จากปริมาณที่ต้องเยอะมากเป็นพิเศษ เช่น ดำไปร้อยเมตรเจอหลายสิบตัว (COT - Crown Of Thorns) โลกร้อนยังรุนแรง และคงรุนแรงขึ้นเรื่อย สิ่งแวดล้อมในทะเลเปลี่ยนแปลง บางครั้งอาจมีภัยพิบัติเงียบที่เรามองไม่เห็น เช่น น้ำร้อนจัด น้ำเย็นจัด ฯลฯ

นักวิทยาศาสตร์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถติดตามดูแลได้ทั้งหมด จึงต้องพึ่งพาพวกเรา ทั้งผู้ประกอบการ นักดำน้ำ นักท่องเที่ยว ฯลฯ ช่วยกันรายงานเหตุการณ์ผิดปรกติเข้ามา ซึ่งก็ต้องบอกว่า ยอดเยี่ยมมาก คนไทยรักทะเลและช่วยกันดูแลจริงจัง รายงานกันเข้ามาตลอด สองกรณีนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นชัด ทุกคนยังมีส่วนสำคัญในการช่วย นั่นคือการดูแลทะเลให้แข็งแรง พร้อมรับมือกับภาวะโลกร้อน ลดมลพิษ ลดน้ำเสีย ดูแลขยะ ไปเที่ยวก็อย่าทำร้ายทะเล อย่าเหยียบอย่าจับปะการัง

รวมถึงหลีกเลี่ยงการกินปลาที่ช่วยดูแลระบบนิเวศ เช่น ปลานกแก้ว ฉลาม ฯลฯ เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ สำคัญสุดคือ "ทะเลห้ามอ่อนแอ" และมีแต่พวกเราที่จะช่วยกันเสริมภูมิต้านทาน สร้างทะเลไทยที่แข็งแรงได้ ยิ่งตอนช่วงเด้งกลับของการท่องเที่ยวไทย ทะเลสวยสดใส แนวปะการังดีงาม เป็นเรื่องสำคัญมาก จึงเขียนเรื่องยาวมาฝากเพื่อนธรณ์ เพื่อช่วยกันดูแลทะเลให้แข็งแรงนะ

ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat