รัฐบาลได้กำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” ที่มีนวัตกรรมเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งกำหนด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว และตอบสนองต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนไปได้นั้น จำเป็นต้องพัฒนาอุตสาหกรรมหลักของประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมชั้นสูงที่เน้นใช้เทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนา “เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi)” ในอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมใหม่ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสม ส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และชุมชนในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม รวมถึงทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ทั้งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ นำไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
พื้นที่และโครงสร้างต่างๆ ใน EECi ได้รับการออกแบบให้พร้อมรองรับ 6 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1) นวัตกรรมการเกษตร 2) เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 3) ระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 4) แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและการขนส่งสมัยใหม่ 5) การบินและอวกาศ และ 6) เครื่องมือแพทย์ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สำคัญ เช่น โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี สำหรับงานวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ, โรงเรือนอัจฉริยะและโรงงานผลิตพืช สำหรับพัฒนาพันธุ์พืชให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และลดระยะเวลาการเพาะปลูก รวมทั้งการตั้งเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ระดับพลังงาน 3 GeV ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับจากประเทศที่พัฒนาแล้วว่ามีพลานุภาพ และเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่สามารถสร้างคุณประโยชน์มากมายมหาศาลต่องานวิจัยในหลากหลายด้าน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางวิจัยด้านแสงซินโครตรอนชั้นแนวหน้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในอนาคต
พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้กำหนดสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาทำงานหรือลงทุนใน EECi เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี, สิทธิการครอบครองที่ดิน, สิทธิในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์, การออกวีซ่าทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ (SMART Visa) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้บริหาร ผู้ประกอบการ และนักลงทุนต่างชาติ ที่ต้องการเข้ามาในไทยเพื่อทำงานหรือลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงการยกเว้นอากรนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีการจัดงาน APEC Media Focus (AMF) Group ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 ในพื้นที่ EECi โดยให้การต้อนรับสื่อมวลชนชั้นนำของไทยและต่างชาติกว่า 25 สำนักข่าว เพื่อร่วมประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022 ของไทย พร้อมทั้งนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมพื้นที่ EECi ซึ่งเป็นโอกาสของไทยในการแสดงศักยภาพให้ชาวต่างชาติรับรู้ว่า ไทยมีศักยภาพและความพร้อมในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม และพร้อมเปิดรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
#APECพร้อมไทยพร้อม