ภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้ เพราะโควิด-19 “เด็กประถมต้น” มีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ เทียบเท่าอนุบาล 2 สะท้อนความจริงที่พบด้วยว่า เด็กร้อยละ 98 มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน ส่งผลให้เขียนหนังสือช้า ควบคุมทิศทางการเขียนได้ไม่ดี

นอกจากนี้แล้ว...การทรงตัวในการนั่งเขียนไม่ดี ทํางานเสร็จช้า เรียนไม่รู้เรื่อง

ให้รู้เอาไว้ว่า “กล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่” มีความสำคัญอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว กล้ามเนื้อมัดเล็กมีความสำคัญในการพัฒนาสมองและระบบประสาท เพราะใช้ทั้งเขียนหนังสือ เล่นดนตรี หยิบจับของต่างๆไปจนถึงช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน ส่วนกล้ามเนื้อมัดใหญ่...ก็ต้องพัฒนาควบคู่กัน

โดยกล้ามเนื้อมัดใหญ่...มีความสำคัญในการเรียนรู้ของเด็กๆมากทั้งช่วยในการพยุงตัวหรือทรงตัว ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว รวมถึงช่วยให้อวัยวะต่างๆทำงานสัมพันธ์กัน

คำถามสำคัญมีว่าช่วงที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับ “เด็กประถมต้น”? คำตอบก็คือ...นักเรียนชั้น ป.2 เป็นกลุ่มที่มีภาวะเรียนรู้ถดถอยสูง ตลอดช่วงการระบาดของโควิด-19 กว่า 2 ปี เด็กๆเรียนด้วยข้อจำกัด

...

“เรียนออนไลน์ไม่เหมาะกับเด็กปฐมวัยและประถมศึกษาตอนต้น พื้นฐานสำคัญของการเรียน การอ่าน การคิดเลข ถ้าเริ่มต้นไม่ดี เรียนไม่รู้เรื่องตั้งแต่เล็ก โอกาสล้มเหลวในอนาคตสูง ยังมีโอกาสเสี่ยงหลุดออกนอกระบบ สอดคล้องกับที่ยูเนสโกชี้ว่า...ถ้าเราไม่จัดการอะไรเรื่องนี้อย่างจริงจังประเทศจะเสียเด็กรุ่นนี้ไปทั้งรุ่น”

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้ทำวิจัยเรื่อง “การสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย” สะท้อนความจริงไว้เช่นนี้

สิ้นสุดภาคเรียนแรกของปีการศึกษา 2565 กับการเปิดเรียน 100% มีสัญญาณอะไรในห้องเรียน ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาที่กำลังบอกเราว่าเด็กรุ่นนี้มีโอกาสเป็น “ลอสเจเนอเรชัน” อย่างที่องค์การยูเนสโกคาดการณ์ หากรัฐบาลทั่วโลกไม่ลงมือฟื้นฟูการเรียนรู้ แต่กลับมุ่งจะก้าวไปข้างหน้าเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

แม้วันนี้สถานการณ์โรคระบาดจะเริ่มคลี่คลายแล้วจากการวิเคราะห์ทางด้านสาธารณสุข แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นกับการเรียนรู้ของเด็กๆยังเรื้อรังและไม่มีทีท่าว่าจะหายไปโดยง่าย

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 การปิดสถานศึกษาและการเรียน การสอน รูปแบบทางไกลส่งผลต่อประสิทธิภาพ การเรียนรู้ของนักเรียนทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่ม...ยากจน ขาดโอกาส และกลุ่มเด็กเล็กทักษะขั้นพื้นฐานในทุกมิติที่เด็กๆได้สะสมไว้หายไป

น่าสนใจว่า...เด็กๆจำนวนไม่น้อยลืมวิธีการอ่านและเขียน บางคนจำไม่ได้แม้แต่ตัวอักษร เด็กเล็กเริ่มเข้าเรียน แต่กลับไม่มีโอกาสได้ เรียนรู้ทักษะหรือการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายอารมณ์ สังคมและสติปัญญา เนื่องจากการเรียนรู้ในช่วงปฐมวัยหรือประถมต้นที่ขาดหายไป

หากเราไม่สามารถหยุดแนวโน้มนี้ได้ หมายความว่า...ประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในภาวะการเรียนรู้ถดถอยเป็นรายบุคคลเท่านั้น แต่ข้อมูลที่พบกำลังบอกเราว่า ประเทศไทยอาจเข้าสู่ภาวะเสี่ยงต่อการสูญเสียเด็กทั้งรุ่น หรือ “LostGeneration”...เรื่องนี้จึงเป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายควรตื่นตัวและให้ความสำคัญ

กสศ.ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัยเพื่อประเมิน...“เด็กปฐมวัย” มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เป็นทางการในระดับประถมศึกษาหรือไม่

โดยวัดทักษะพื้นฐานด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ รวมถึง Executive Functions (EFs) เช่น ความจำใช้งาน (working memory) พร้อมกันนี้ยังได้สำรวจข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือน...สถานศึกษาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ต่อระดับความพร้อมของเด็กปฐมวัยระดับอนุบาล 3 รวม 73 จังหวัด ระหว่างปีการศึกษา 2563-2565

พบว่า ทักษะด้านภาษาหลังจากต้องหยุดเรียน...หลังจากต้องหยุดเรียนเป็นเวลานาน เด็กจำนวนมากขึ้นไม่รู้จักตัวอักษรไทยเลยจากร้อยละ 9 ก่อนการระบาดโควิด-19 เป็นร้อยละ 15 หลังการระบาด

ถัดมา...ทักษะด้านคณิตศาสตร์ ทักษะด้านภาษาหลังจากต้องหยุดเรียน...หลังจากต้องหยุดเรียนเป็นเวลานาน พบว่า เด็กปฐมวัยจำนวนมากขึ้นไม่รู้จักตัวเลข 0–9 ได้ครบจากร้อยละ 25 ก่อนการระบาดเป็นร้อยละ 36 หลังการระบาด

...

ประเด็นสำคัญที่ต้องเน้นย้ำ...หลังจากต้องหยุดเรียนเป็นเวลานาน เด็กปฐมวัยมีความสามารถในการจำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ลดลง ซึ่งน่าจะเป็นเพราะความจำใช้งานต้องสร้างผ่านการทํากิจกรรมที่กระตุ้น ในการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ “สมอง”...จึงจะพัฒนาความสามารถในการจดจำแล้วดึงความจำนั้นมาใช้งาน

ดังนั้น พอไม่ไปโรงเรียนและผู้ปกครองไม่รู้วิธีกระตุ้นจึงเกิดภาวะถดถอยขึ้น

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชี้ว่า ในขณะที่สถานการณ์การระบาดใหญ่ของโควิด-19 กำลังจะจบ จึงยังมีวิกฤติซึ่งเกิดจากผลกระทบในช่วงที่ผ่านมาที่เราต้องเร่ง “รับมือ” และ “แก้ไข”

“เด็กปฐมวัย” ที่มีภาวะการเรียนรู้ถดถอย มีโอกาสสูงที่จะประสบปัญหาการเรียนรู้ในระดับประถมศึกษาเพราะพวกเขาคือ “เด็กอนุบาลยุคโควิด–19” ที่ข้ามมาเรียนชั้นประถมต้นในปัจจุบัน

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา การปิดเรียนแต่ละวันในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กปฐมวัย-อนุบาลเสียโอกาสในการเรียนรู้ไปกว่าร้อยละ 90 ของระดับการเรียนรู้ที่ควรจะได้ จึงส่งผลให้เกิดภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้ขึ้น...“เด็กประถมต้นในวันนี้มีพัฒนาการเท่าเด็กชั้นอนุบาล”

...

อย่างไรก็ตาม แม้เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากการเรียนรู้ถดถอยทุกระดับชั้น แต่ช่วงประถมตอนต้นคือพื้นฐานสำคัญของการเรียน การอ่าน การคิดเลข ถ้าเริ่มต้นไม่ดี เรียนไม่รู้เรื่องตั้งแต่เล็ก โอกาสที่จะล้มเหลวในอนาคตสูง ด้วยพื้นฐานที่ไม่แข็งแรง ทําให้มีโอกาสที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาได้

สถานการณ์ฉุกเฉินนี้เกิดขึ้นทั่วโลกรายงานล่าสุดในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาระบุว่าเด็กเล็กมากกว่า 167 ล้านคนทั่วโลก สูญเสียโอกาสในการเข้าถึงบริการการศึกษาก่อนปฐมวัย เด็กอายุ 10 ปีจากประเทศยากจนและรายได้ปานกลางไม่สามารถอ่านหนังสือหรือเข้าใจเรื่องราวง่ายๆได้เพิ่มขึ้นจาก 53% เป็น 70% ขณะที่ 34% ของเด็กทั่วโลก...มีภาวะความเครียด ซึมเศร้า และวิตกกังวลเพิ่มขึ้น...

นักการศึกษาทั่วโลกต่างเป็นห่วงกับสถานการณ์นี้ พยายามกระตุ้นให้ประเทศต่างๆลงทุนในการแก้ปัญหาและมีแผนฟื้นฟูอย่างจริงจังโดยเร่งด่วน มิเช่นนั้นแล้ว เราอาจสูญเสียเด็กรุ่นนี้ไปทั้งรุ่น

ตอกย้ำ 14 สัญญาณเตือนที่ค้นพบ อาทิ เด็กพูดเป็นคำๆไม่เป็นประโยค, เล่าเรื่องไม่ได้, ท่าทางจับดินสอผิด เกร็งเมื่อยล้า, เขียนได้ช้าหรือเขียนไม่เสร็จ, ตอบคำถามเป็นคำๆหรือประโยคสั้นๆ, อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แม้คำพื้นฐาน, กระโดดขาเดียว และกระโดดสองขาพร้อมกันไม่ได้, เด็กบางคนมีอาการทางจิตใจ

เช่น เครียด ไม่โต้ตอบ ไม่สื่อสาร แยกตัวจากเพื่อน งอแง ขาดเรียนบ่อย ไปห้องน้ำบ่อยและไปครั้งละนานๆ บางคนขอไปห้องพยาบาลเพราะปวดหัว ปวดท้องบ่อยจนผิดสังเกต

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางเบื้องต้นให้ “โรงเรียน” และ “ครอบครัว” สังเกตบุตรหลานหรือลูกศิษย์ของตนเองและช่วยกันฟื้นฟูให้ทันท่วงที.