ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาต้องถือว่าภาครัฐผลักดันโครงสร้างและกระบวนการต่างๆตามที่ให้คำมั่นต่อประชาคมโลกในเวทีประชุม COP26 ได้อย่างรวดเร็ว มีแผนดำเนินการชัดเจนที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 (พ.ศ.2593) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 (พ.ศ.2608) รวมทั้งดำเนินการตามข้อตกลงปารีส หัวข้อ 6.2 สำเร็จเป็นประเทศแรก

ความจริงไทม์ไลน์เดิมของไทยไม่ได้เร็วขนาดนี้ แต่อียูขอให้ขยับไทม์ไลน์เร็วขึ้น 15 ปี ซึ่งไทยรับปากและให้คำมั่นตามนั้น โดยมีเงื่อนไขขอให้อียูช่วย สนับสนุนทางการเงิน และสนับสนุนความรู้เทคโนโลยีในการลดและกักเก็บคาร์บอน

ก่อนเดินทางไปประชุม COP27 ที่อียิปต์ คุณวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ว่าไทยได้ทำตามคำพูดแล้ว ครั้งนี้จะถือโอกาสไป ทวงสัญญากับอียู ให้สนับสนุนตามเงื่อนไขด้วย ผมก็ขอส่งใจช่วยให้ทวงหนี้ราบรื่น เอาเงินสนับสนุนและเทคโนโลยีกลับมาพัฒนาประเทศไทย

ปัญหาโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นับวันยิ่งใกล้ตัวเรามากขึ้น โดยเฉพาะประเทศกลุ่มอียูให้ความสำคัญที่สุด มีการตั้ง กำแพงภาษีคาร์บอน (CBAM) กับสินค้า 5 ชนิด เหล็ก อะลูมิเนียม ปุ๋ย ไฟฟ้า ซีเมนต์ และกำลังพิจารณาเพิ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เข้าไปด้วย นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกากับแคนาดาก็คิดจะใช้มาตรการภาษีคาร์บอนเช่นกัน ประเทศไหนจะส่งสินค้าไปขาย ต้องดูว่าสินค้านั้นในกระบวนการผลิตทั้งหมดก่อคาร์บอนฟุตปรินต์เท่าไหร่ ถ้าเกินกำหนดต้องเสียภาษีเพิ่ม ทำให้สู้คู่แข่งลำบาก ไทยพึ่งพาการส่งออกมากถึง 70% ถ้าการส่งออกมีปัญหาจะกระทบต่อรายได้ประเทศ และห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)

บริษัทเอกชนรายใหญ่ทั้งหลายตื่นตัวกับคาร์บอนเครดิตอย่างมาก ทั้งปรับกระบวนการผลิตเพื่อลดคาร์บอนฟุตปรินต์ และหากิจกรรมที่สร้างคาร์บอนเครดิต เมื่อก่อนบริษัทยักษ์ใหญ่ปลูกป่าเพื่อทำซีเอสอาร์ แต่ทุกวันนี้ตั้งหน้าตั้งตาปลูกป่าเพื่อ เก็บคาร์บอนไว้ใช้กับกิจการของตัวเอง

...

ที่น่าเป็นห่วงคือ บริษัทเล็ก เอสเอ็มอี และชาวบ้านทั่วไป ถ้าไม่เรียนรู้ ไม่ยอมรับ ไม่ปรับตัว อาจไปไม่รอด อย่าคิดว่ากระแสรักษ์โลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นแค่เรื่องขำๆของคนโลกสวย เพราะนี่คือเทรนด์โลกที่จะส่งผลกระทบครั้งยิ่งใหญ่

แม้แต่ธนาคารซึ่งดูเผินๆไม่น่าจะได้รับอิทธิพลจากไคลเมตเชนจ์ แต่ที่จริงธนาคารก็โดนบีบอย่างหนัก คุณจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เผยว่า ธนาคารที่มีผู้ถือหุ้นเป็นนักลงทุนสถาบัน ทุกปีจะได้รับจดหมายทวงถามจากนักลงทุนสถาบันทั่วโลกว่าได้ดำเนินมาตรการเข้มงวดกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมคืบหน้าแค่ไหนแล้ว ธนาคารจะปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ได้ มิฉะนั้นนักลงทุนสถาบันจะถอนหุ้นออก

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็โดนกดดันเช่นกัน ถ้าในห่วงโซ่อุปทานไม่ปรับวิธีดำเนินงานเพื่อมุ่งสู้คาร์บอน เน็ต ซีโร่
นักลงทุนสถาบันก็ไม่อาจมาถือหุ้นได้

ไปดูตัวอย่างภาคการเกษตรบ้าง การปลูกข้าวต้องมีน้ำเลี้ยงในนา 4-5 เดือน ซึ่ง ข้าวที่แช่น้ำ เกิดการหมักหมมแล้วปล่อย ก๊าซมีเทน เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ร้ายแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์เสียอีก ถ้ายังไม่ปรับเปลี่ยนวิธีปลูกข้าว ในอนาคตการส่งออกข้าวจะมีปัญหาแน่นอน

ปัจจุบันมีเทคโนโลยี ปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ช่วยลดก๊าซมีเทนได้ถึง 70% ไม่ต้องห่วงว่าข้าวจะตาย แถมยังให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 10-20% รัฐบาลไทยร่วมกับรัฐบาลเยอรมนีทำแปลงนาสาธิตไว้หลายจังหวัด ไปลองศึกษาดูได้ ตอนแรกอาจรู้สึกยาก แต่รับรองได้ผลคุ้มค่า

โลกเคยโดนดิจิทัลดิสรัปมาแล้ว พวกที่ไม่ปรับตัวล้มหายตายจากไปมากมาย อีกไม่นานไคลเมตเชนจ์ดิสรัปจะกวาดล้างรุนแรงยิ่งกว่า ผมเล่าสู่กันฟังเพื่อจะได้เรียนรู้และปรับตัวกันแต่เนิ่นๆ.

ลมกรด