การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาโลกร้อน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว ทั่วโลกให้ความสำคัญและสร้างความร่วมมือในการรับมือปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เวทีแก้ปัญหาโลกร้อนที่ใหญ่ที่สุดของโลกประจำปีนี้คือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 หรือ COP27 ระหว่างวันที่ 3–18 พ.ย. ที่เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์

วาระสำคัญคือการติดตามความคืบหน้าแผนการดำเนินการตามคำมั่นสัญญาในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อปี 2564 ที่ประเทศต่างๆจะต้องตีพิมพ์แผนการดำเนินการที่จะบรรลุเป้าหมายร่วมกันจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5–2 องศาเซลเซียส ภายในปี ค.ศ.2100 (พ.ศ.2643)

วันพรุ่งนี้ (15 พ.ย.) คุณวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะตัวแทนประเทศไทย จะขึ้นกล่าวถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์ และความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยในรอบ 1 ปี ซึ่งถือว่าไทยประสบความสำเร็จ สามารถโชว์ผลงานต่อนานาชาติได้ว่าไทยทำได้จริงตามที่ให้สัญญาไว้เมื่อปีที่แล้ว

...

ทั้งแผนระยะยาวมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 (พ.ศ.2608) โดยจะลดคาร์บอนจาก 388 ล้านตัน ลงเหลือ 120 ล้านตัน และแผนระยะสั้น ลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) รวมทั้งความสำเร็จการดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงตามกรอบอนุสัญญาฯและความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่ดำเนินงานตามหัวข้อ 6.2 ได้ครบถ้วนออกมาเป็นรูปธรรม

โดย ไทย กับ สวิตเซอร์แลนด์ ได้ลงนามข้อตกลงกรอบความร่วมมือในการดำเนินงานที่มีการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ หรือเรียกง่ายๆว่าเป็นการตกลงซื้อขายคาร์บอนเครดิต ไทยกับสวิตเซอร์แลนด์จึงเป็น “ประเทศคู่แรกของโลก” ที่ดำเนินงานภายใต้หัวข้อ 6.2 แห่งความตกลงปารีส เมื่อรัฐต่อรัฐลงนามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ภาคเอกชน
ทั้งสองประเทศก็ซื้อขายคาร์บอนเครดิตตามข้อตกลงได้ทันที

มีโครงการที่เกิดขึ้นแล้วจากข้อตกลงดังกล่าวคือ โครงการด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชน (รถร่วมบริการ) ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า จำนวน 500 คัน (โครงการมีศักยภาพดำเนินงานที่ 5,000 คัน) จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 5 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปี ทั้งยังช่วยลดฝุ่น PM2.5 และเป็นการกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Modal shift)

รมว.วราวุธให้นโยบายไว้ว่าเงินที่ภาคเอกชนได้จากการขายคาร์บอนเครดิต จะต้องนำกลับไปทำกิจกรรมที่ลดปริมาณคาร์บอนให้มากกว่าที่ขายได้ เรียกว่าขายเท่าทุนไม่เอา ต้องขายแล้วได้กำไร ลดคาร์บอนฟุตปรินต์ลงได้มากกว่าเดิม

ขณะเดียวกันไทยยังเป็นแห่งแรกของอาเซียน โดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดตัว กระดานซื้อขายคาร์บอนเครดิต รวมทั้งใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน Renewable Energy Certificate (REC)

ประเทศไทยมีพื้นที่ 323 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าแค่ 102 ล้านไร่ แต่ด้วยศักยภาพของภาครัฐและเอกชนทำให้สามารถสร้างแพลตฟอร์มเทรดคาร์บอนเครดิตได้สำเร็จ และพร้อมเป็นศูนย์กลางการเทรดให้กับทุกประเทศ

การประชุม COP27 ครั้งนี้ไม่เพียงเป็นโอกาสดีที่จะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และยืนยันเป้าหมายการขับเคลื่อนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งยังเป็นการประกาศให้โลกได้รู้ว่าประเทศเล็กๆอย่างไทยมีความมุ่งมั่น และทำได้จริงอย่างที่พูด.

“ลมกรด”