เรื้อรังมานาน “ปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรม” ที่กำลังกลับมาเป็นประเด็นร้อนให้สังคมต้องติดตามเฝ้าจับตา “การลักลอบปล่อย และเคลื่อนย้ายทิ้งกากของเสียอันตราย” ตามพื้นที่สาธารณะก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างหลายจุดนับตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา
เฉพาะเดือน ก.ย.นี้พบการลักลอบทิ้งอย่างน้อย 2 แห่ง คือ ซากเศษพลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ น้ำมัน ใน อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา และกากของเสีย 8 หมื่นตัน ในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ตามกรมควบคุมมลพิษที่รวบรวมข้อมูลในปี 2555-2564 มากถึง 79 ครั้ง สูงสุดคือภาคตะวันออก 45 ครั้ง ภาคกลาง 21 ครั้ง ภาคตะวันตก 8 ครั้ง
ทั้งยังมีพื้นที่เสี่ยงอีก 12 จังหวัด คือ จ.ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปราจีนบุรี สระบุรี สระแก้ว นครราชสีมา ลพบุรี เพชรบุรี และราชบุรี เป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ส่งผลให้ปริมาณของเสียเพิ่มสูงขึ้นแล้วอาจลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมตามมานี้ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ บอกว่า
...
ตามข้อมูลที่เรารวบรวมมาตั้งแต่ปี 2560-2564 มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมถี่ขึ้น 280 ครั้ง โดยเฉพาะ จ.สมุทรสาคร สมุทรปราการ อยุธยา ปทุมธานี ราชบุรี และพื้นที่ EEC ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี เพชรบุรี ส่วนใหญ่เป็นสารอันตรายพวกกรด น้ำมันเก่า ถูกนำมาทิ้งฝังกลบบ่อขุดหน้าดินขายในที่ดินเอกชน
หลังๆพบการทิ้งในที่ดินชาวบ้านโดยเจ้าของไม่รู้จนถูกดำเนินคดีครอบครองวัตถุอันตรายบ่อยครั้ง
สิ่งที่เป็นปัญหากว่านั้น “กฎหมายเปิดให้ฝังกลบกากอุตสาหกรรมในโรงงานได้” ทำให้ภายหลังมีโรงงานบางแห่งนำกากของเสียอันตรายสอดไส้ฝังกลบไปด้วย “หน่วยงานกำกับก็ไม่ดูแล” ส่วน จนท.สิ่งแวดล้อมจะเข้า ตรวจสอบได้ยาก “ต้องขอหมาย” กลายเป็นช่องโหว่ให้โรงงานฝังกลบกากอันตรายทำผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น
ตามปกติแล้ว “การกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายด้วยวิธีฝังกลบนั้น” ต้องอยู่ในรูปแบบหลุมฝังกลบกากอุตสาหกรรมอันตราย (Secured Landfill) ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการป้องกันการรั่วซึมของน้ำชะกากไหลปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำใต้ดินด้วยการปูแผ่นพลาสติก HDPE ความหนาแน่นสูง และมีระบบติดตามคุณภาพน้ำใต้ดินตลอด
ด้วยช่วง 10 ปีมานี้ “กฎหมาย” ให้กำจัดด้วยวิธีปลอดภัยเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นระบบ Secured Landfill หรือเผาทำลายอุณหภูมิสูงเพื่อลดความเป็นอันตรายก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ภายหลังก็มีประกาศกฎกระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตให้นำกากของเสียอันตรายตามโรงงานอุตสาหกรรมสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบรีไซเคิลได้
ผลตามมาก็คือ “กากของเสียอันตราย” กลายเป็นวัตถุดิบใช้เพื่อการรีไซเคิลมากขึ้นแล้ว “โรงงานรีไซเคิลประเภทนี้ก็เพิ่มตาม” แต่ปัญหาว่าขนาดคุณสมบัติของโรงงานหลายแห่งกลับไม่เป็นไปตามมาตรฐาน อันสมควรจะได้รับอนุญาตให้นำกากของเสียอันตรายเข้ามาทำการรีไซเคิลได้ด้วยซ้ำ
ดังนั้น ตอนนี้แค่โรงงานทั่วไป หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ไม่มีศักยภาพกำจัดกากของเสียอันตราย แต่กลับสามารถขนย้ายไปใช้เป็นวัตถุดิบรีไซเคิลในปริมาณมากเกินความสามารถของโรงงานจะทำการรีไซเคิลได้ ทั้งมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ดีพอ สุดท้ายต้องนำกากของเสียฝังกลบลงดินในเขตโรงงานตัวเองแทน
บางส่วนอาจขนย้ายไปทิ้งบริเวณจุดฝังกลบขยะชุมชนหรือทิ้งตามพื้นที่สาธารณะ กลายเป็นปัญหากระทบสิ่งแวดล้อมโผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ อันเป็นความซับซ้อนของระบบการจัดการกากของเสียอันตรายที่ไม่มีความชัดเจน
ย้ำด้วยในปี 2564 “ประเทศไทย” ผลิตกากของเสียจากอุตสาหกรรมอันตรายประมาณ 1.5 ล้านตัน/ปี ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องโดยโรงงานได้รับใบอนุญาต 6 แสนตัน ส่วนที่เหลืออีก 9 แสนตันก็เป็นกากของเสียอันตรายผิดกฎหมายที่ไม่มีการขออนุญาตนำไปทำลายอย่างเช่น บริษัทลักลอบรับกำจัดขยะทุกประเภทด้วยต้นทุนต่ำ
แล้วถูกนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง ด้วยการฝังกลบในหลุมฝังกลบขยะไม่อันตราย ลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณะ หรือการเผาทำลายไม่ถูกวิธี สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาการลักลอบทิ้งกากอันตรายมักมีความสัมผัสเป็นลูกโซ่ ส่วนกากของเสียจากอุตสาหกรรมที่ไม่อันตราย 17 ล้านตัน/ปี มักนำเข้าสู่การรีไซเคิลได้เกือบทั้งหมด
...
สรุปภาพรวมคือ “ศักยภาพการกำจัดกากของเสียอันตรายในประเทศต่ำ” ทั้งเชิงเทคโนโลยีโนว์ฮาว หรือการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหานี้
จริงๆแล้ว “กากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมมิอาจรีไซเคิลได้” อย่างเช่นกากของเสียประเภทสารกัดกร่อน กรดด่าง หรือสารละลายปนเปื้อนโลหะหนัก กากน้ำมันดำ เพราะอาจก่อให้เกิดความเป็นอันตรายสูงต่อสิ่งแวดล้อมฉะนั้นจำเป็นต้องกำจัดด้วยการใช้เทคโนโลยีเฉพาะปรับทำลายฤทธิ์ก่อนไปขั้นตอนอื่น
แม้แต่ “กากของเสียอันตรายประเภทสารไวไฟ” ก็ควรใช้เทคโนโลยีเฉพาะปรับทำลายฤทธิ์ไม่ให้เป็นอันตราย...ที่เคยเกิดมาแล้ว “กรณีโรงงานรีไซเคิลหลายแห่งไฟไหม้” มักมีสาเหตุเกิดจากกากของเสียประเภทวัตถุดิบไวไฟถูกเตรียมนำไปรีไซเคิลแทบทั้งสิ้น ฉะนั้นกากของเสียประเภทนี้ไม่ควรใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อการรีไซเคิลได้
ถ้าหาก “กฎหมาย” จะอนุญาตก็ต้องผ่านมาตรฐานการตรวจสอบทั้งระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม การทำปฏิกิริยาทางเคมีที่อาจก่อให้เกิดการระเบิดขึ้นส่วนโรงงานก็ต้องมีระบบป้องกันกากอันตรายรั่วซึมออกนอกโรงงาน แต่อย่างที่กล่าวมาแล้ว “โรงงานรีไซเคิลในไทย” ยังเป็นโรงงานขนาดเล็กศักยภาพการผลิตต่ำมากๆ
...
เมื่อเทียบกับ “มาตรฐานกฎหมายกำจัดกากของเสียอันตรายฉบับเดิม” ความจริงก่อนหน้านี้เคยเก็บข้อมูลโรงงานไฟไหม้ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีโรงงานกิจการรีไซเคิลพลาสติก และอิเล็กทรอนิกส์เกิดเหตุเพลิงไหม้ 75 กรณี ล้วนไม่มีมาตรฐานการจัดการดูแลสิ่งแวดล้อม และการป้องกันอุบัติภัยในโรงงานด้วยซ้ำ
เช่นเดียวกับ “การลักลอบทิ้งกากของเสียจากอุตสาหกรรมในไทย” อันเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไขจริงจัง ด้วยในปี 2560-2564 ปรากฏพบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมชนิดแข็ง 71 ครั้ง แต่ละแห่งส่งผลให้มลพิษลุกลามมากขึ้น เช่นกรณีการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายในพื้นที่ ต.บ้านดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี
ไม่เท่านั้นยังมีการปล่อยน้ำเสียชนิดกรดด่าง น้ำชุบโลหะ หรือสารปนเปื้อนอุตสาหกรรมออกนอกโรงงานถึง 209 ครั้ง ทำให้กากของเสียบางประเภท เช่น “สารไดออกซิน” ตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้นานกว่า 100 ปี
ส่วนกากของเสียประเภทโลหะหนักมักสะสมในพืชผลการเกษตร เนื้อสัตว์ สามารถเข้าสู่ร่างกายคนโดยการบริโภคสะสมสารพิษกลายเป็นการก่อโรคมะเร็งตามมาก็ได้
เรื่องนี้มีข้อสังเกตว่า “ตามปกติกากของเสียอุตสาหกรรมไม่สามารถนำออกจากโรงงานได้” เว้นแต่ต้องแจ้งเจ้าพนักงานกรมโรงงานอุตสาหกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ “เพื่ออนุญาต” ที่ต้องระบุตั้งแต่การผลิตกากอุตสาหกรรมชนิดใด จำนวนเท่าใด การขนย้ายทำลายเท่าไร รถบรรทุกทะเบียนอะไร ปลายทางกำจัดที่ไหน
...
หากเข้มงวดจริงๆ “การลักลอบทิ้งกากอันตรายจะไม่เกิดขึ้นเลย” เพราะระบบแจ้งขออนุญาตผ่านอิเล็กทรอนิกส์ “ปิดช่องตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง” แล้วยังมีสำเนาเอกสารอีก 6 ชุด ที่อยู่ในมือของบริษัทผู้ก่อกำเนิดกากของเสีย ผู้ขนส่ง ผู้รับบำบัดกำจัด กรมโรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ตำรวจทางหลวง
นั่นก็สะท้อนว่า “ระบบมีการเชื่อมโยงสามารถตามตรวจสอบได้ตลอด” แต่กรณีเมื่อเกิดเหตุแล้วบ่อยครั้งที่ “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” มักชี้แจงบอกไม่รู้เป็นกากประเภทไหน หรือมาจากที่ใด ที่ต้องรอผลการพิสูจน์ใช้เวลาระยะหนึ่ง ลักษณะกล่าวอ้างเช่นนี้ดูเหมือนเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติงานตรวจระบบแจ้งผ่านอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมี “ร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือ PRTR” ที่จะมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไข หรือลดปัญหานี้โดยกำหนดให้รายงานข้อมูลสารเคมี การปลดปล่อย การเคลื่อนย้ายสารมลพิษในโรงงานอุตสาหกรรม ที่ยังอยากได้เสียงคนไทยช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ด้วย
เพื่อประชาชนจะได้รับทราบสถานการณ์อันจะนำไปสู่เฝ้าระวังการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม และมีข้อมูลจัดการภัยพิบัติป้องกันผลกระทบล่วงหน้า แล้วก็เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นกลไกในการแก้ปัญหามลพิษอุตสาหกรรม ลดความเสี่ยงอุบัติภัยสารเคมีเป็นพิษจากโรงงาน...วางแผนป้องกันผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
นี่คือต้นตอ “การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม” อันเป็นปัญหามลพิษเรื้อรังรุนแรงมานาน “กฎหมาย PRTR” จะช่วยแก้จุดบอดคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนให้ปลอดภัยมากขึ้นก็ได้.