สาวโชว์กิน "ค้างคาว" อ้างซื้อมาจากตลาด ไม่รอดโดนโทษอ่วม ฐาน "ครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครอง" พร้อมชี้เป็นสัตว์ที่มีเชื้อโรคหลายชนิด เสี่ยงอันตรายต่อการแพร่เชื้อโรคสู่คน
เฟซบุ๊ก ส่วนประสานความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติ โพสต์ข้อความโดยระบุว่า ตามที่ได้รับแจ้งจากประชาชนผ่านทาง "สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362" กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่ามียูทูบเบอร์สาว โพสต์คลิปโชว์การรับประทานค้างคาว พร้อมแคปชั่นว่า "ค้างคาวสดน้ำโกกๆ เมนูท้าความสยอง" ลงสื่อเฟซบุ๊กและช่องยูทูบของตัวเองนั้น
คณะเจ้าหน้าที่ประกอบไปด้วย สำนักงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า ร่วมด้วย สายตรวจปราบปรามฯ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี), ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี), หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สน.4 (ลาดกะเฌอ) และสถานีตำรวจภูธรโพนนาแก้ว ได้ร่วมกันดำเนินการตามที่ได้รับแจ้งทางสายด่วนพิทักษ์ป่า 1362
โดยในคลิปแสดงการกินค้างคาว ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งความกล่าวหา น.ส.พรชนก (นามสมมติ) ว่ากระทำผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2565 มาตรา 17 ประกอบมาตรา 92 ฐาน "ครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครอง" โดยสถานที่เกิดเหตุ อยู่ในอำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร จากการตรวจสอบในคลิปดังกล่าวพบว่า เป็นค้างคาวเพดานเล็ก (Scotophilus kuhlii) อยู่ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
จากการสอบปากคำ น.ส.พรชนก (นามสมมติ) ทราบว่าซากสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าว ซื้อมาจากตลาด ในอำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย คณะเจ้าหน้าที่จึงมีความเห็นร่วมกันว่า แม้จะไม่พบการกระทำผิดซึ่งหน้า แต่ตามหลักฐานเป็นการกระทำผิดที่สำเร็จแล้ว จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ฐาน ครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามมาตรา 17 มีบทกำหนดโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม มาตรา 92 คณะเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ที่สถานีตำรวจภูธรโพนนาแก้ว อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
...
ทั้งนี้ เนื่องจากค้างคาวเป็นสัตว์ที่มีเชื้อโรคหลายชนิด เสี่ยงอันตรายต่อการแพร่เชื้อโรคสู่คน ถึงแม้ว่าจะมีการนำไปทำให้สุกแล้วก็ตาม ปัจจุบัน ค้างคาวเป็นสัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งจัดอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองมีทั้งสิ้นเกือบ 100 ชนิด.
ขอบคุณเฟซบุ๊ก ส่วนประสานความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติ