น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว ศธ.ได้เตรียมการรองรับ พ.ร.บ.ฉบับนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการให้มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา รวมทั้งสิ้น 245 เขตพื้นที่ฯ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 6 ก.พ.2566 ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ยกร่างจำนวน องค์ประกอบ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.พิจารณาแล้วภายในสัปดาห์หน้า ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้ทางสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เตรียมดำเนินการถ่ายโอนภารกิจเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลไปยังเขตพื้นที่การศึกษา และให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกเขตเตรียมการรองรับ โดยจัดเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและอบรมให้มีความรู้ เพื่อให้ช่วงรอยต่อการถ่ายโอนการบริหารงานบุคคล ไม่มีปัญหา
รมว.ศึกษาธิการกล่าวต่อว่า ส่วนการบริหารงานบุคคลในระหว่างนี้ มาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ระบุไว้ว่าการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งของ กศจ.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล ซึ่ง กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดไว้ให้เป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขต พื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่ค้างการดำเนินการอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เม.ย. พ.ศ.2560 จนกว่าจะมี อ.ก.ค.ศ.เขต พื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ สำหรับเรื่องการโอนงานบุคลากรไปยังเขตพื้นที่การศึกษา เชื่อว่าจะดำเนินการได้อย่างโปร่งใส เพราะองค์ ประกอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่เป็นไตรภาคี และ การคัดเลือกก็ต้องเสนอที่ประชุม ก.ค.ศ.อนุมัติไม่ใช่แต่งตั้งกันเอง.
...