กทม.จัดเจ้าหน้าที่-อุปกรณ์-ยานพาหนะ ลุยเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มเก็บ 2 ทุ่ม จนถึงตี 5 เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ย้ำใช้วัสดุจากธรรมชาติ-ไม่หลากหลาย เพื่อลดภาระในการคัดแยก
เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 8 พ.ย. 65 นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นำสื่อมวลชนตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ กรุงเทพมหานคร ในการจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บริเวณท่าเรือ สะพานพุทธยอดฟ้า เขตพระนคร
รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดคอยเก็บกระทงบนผิวน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 8 จนถึงสะพานพระราม 9 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร โดยได้ เตรียมเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ และยานพาหนะในการจัดเก็บกระทง จำนวน 189 คน เรือเก็บขยะ จำนวน 30 ลำ ติดตั้งไฟส่องสว่างทุกลำ เรือขนถ่ายและลำเลียงวัชพืช จำนวน 2 ลำ จอดที่ปากคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร เรือเก็บขนและลำเลียงวัชพืช จำนวน 2 ลำ เรือตรวจการณ์ จำนวน 2 ลำ รถตรวจการณ์ จำนวน 5 คัน และรถบรรทุกเทท้าย จำนวน 9 คน เพื่อใช้ในการลำเลียงกระทงไปส่งที่สถานีขนถ่ายมูลฝอย โดยปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลา 20.00 น.วันที่ 8 พ.ย.65 ไปจนถึงเวลา 05.00 น.วันที่ 9 พ.ย.65 จากนั้นจะลำเลียงกระทงที่จัดเก็บได้ทั้งหมด ขึ้นรถ 2 จุด คือ บริเวณปากคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร และท่าคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ เขตราษฎร์บูรณะ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะรวบรวมขนย้ายไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย ทั้ง 3 แห่ง ของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สถานีขนถ่ายมูลฝอยอ่อนนุช หนองแขม และสายไหม เพื่อกำจัดต่อไป สำหรับกระทงที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาตินั้น จะมีการคัดแยกเข้าโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม ซึ่งเป็นการนำกระทงกลับมาใช้ประโยชน์ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำกระทงไปฝังกลบ
...
ส่วนสถิติการจัดเก็บกระทงในปี 2564 ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครจัดเก็บกระทงได้ จำนวน 403,235 ใบ จากสถิติการจัดเก็บกระทงเมื่อเทียบกับปี 2563 ปริมาณกระทงที่จัดเก็บได้ จํานวน 492,537 ใบ และแนวโน้มปริมาณกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 96.40 เป็น 96.46 ในขณะที่การใช้กระทงโฟมมีปริมาณลดลงจากร้อยละ 3.60 เป็น 3.54 เนื่องจากกรุงเทพมหานครได้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ให้ประชาชนหันมาใช้กระทงที่ทำจากวัสดุ ธรรมชาติหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น กระทงที่ทำจากหยวกกล้วยและใบตอง แป้งมันสำปะหลัง ชานอ้อย ซึ่งจะเป็นการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และได้ขอความร่วมมือเขตแจ้งสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลอง ในพื้นที่ที่มีการลอยกระทงงดใช้กระทงโฟม รวมถึงรณรงค์วิธีลดปริมาณขยะหลังคืนลอยกระทง โดยให้ประชาชนลอยกระทงรวมกัน โดยร่วมลอย 1 ครอบครัว คู่รัก/1 กลุ่ม/ สำนักงานต่อ 1 กระทง เลือกกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ขนาดเล็ก ใช้วัสดุไม่หลากหลาย เพื่อลดภาระในการคัดแยกอีกด้วย
ทั้งนี้ สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักงานเขต และสำนักการระบายน้ำ จะรวบรวมผลการจัดเก็บกระทง ส่งให้สำนักสิ่งแวดล้อม ก่อนเวลา 05.00 น. พร้อมตรวจสอบข้อมูลก่อนรายงานผลการจัดเก็บกระทงให้เสร็จภายในเวลา 07.00 น.วันที่ 9 พ.ย.65 และจะรายงานผลผ่านเว็บไซต์ www.bangkok.go.th และสื่อออนไลน์ของกรุงเทพมหานครต่อไป