จากการที่กรมประมงได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง และรัฐบาลได้อนุมัติกรอบวงเงินสินเชื่อกว่า 10,300 ล้านบาท ซึ่งมีชาวประมงให้ความสนใจเข้าร่วมมากถึง 5,596 ราย

แต่ผู้ประกอบการประมงยังคงประสงค์ให้ภาครัฐดำเนินโครงการต่อจากเฟสแรก ประกอบกับในขณะนี้มีเรือประมงพื้นบ้าน 50,000 กว่าลำได้จดทะเบียนเรือเรียบร้อยแล้ว และกำลังจะขอรับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และเรือประมงพาณิชย์ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ 9,593 ลำ ในจำนวนนี้มีเรือประมง 103 ลำ ที่เพิ่งจะได้รับอนุญาตให้ทำการประมง ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือในโครงการต่างๆของภาครัฐ

อีกทั้ง สถานการณ์ปัจจุบันที่ต้นทุนในการทำประมงสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ จึงได้เร่งผลักดันโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง เฟส 2

ล่าสุด ที่ประชุม ครม. 1 พ.ย.2565 มีมติ “อนุมัติ” โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง เฟส 2 ภายในกรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการประมงพาณิชย์และพื้นบ้านเรียบร้อยแล้ว

โดยชาวประมงสามารถกู้เงินทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี และผู้ประกอบการประมงต้องจ่ายเองร้อยละ 4 ต่อปี กำหนดชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 7 ปี

โดยมีรูปแบบของสินเชื่อฯ 2 ประเภท 1.สินเชื่อเงินกู้ระยะสั้น เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ เช่น ค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน ค่าน้ำมัน ค่าน้ำแข็ง ฯลฯ 2.สินเชื่อเงินกู้ระยะยาว เพื่อเป็นเงินทุนในการไปปรับปรุงเรือ ปรับเปลี่ยนเครื่องมือและอุปกรณ์ทำการประมง

หลังจากนี้กรมประมงจะได้ดำเนินการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ประมงจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล ฯลฯ เพื่อหารือกำหนดแนวทางการปฏิบัติในการดำเนินโครงการและเร่งรัดปล่อยกู้ต่อไป.

...

สะ-เล-เต