องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าใน ปี ค.ศ.2050 ทั่วโลก จะมีประชากรกว่าร้อยละ 50 หรือราว 5,000 ล้านคนจะเป็นผู้มีภาวะสายตาสั้น และอีก 900 ล้านคนจะมีปัญหาสายตาสั้นมากกว่า 500 ขึ้นไป ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล

ผู้คนจดจ่อกับโทรศัพท์ หน้าจอคอมพิวเตอร์มากขึ้น รวมถึงพันธุกรรมจากพ่อแม่ที่สายตาสั้นทั้งคู่ก็จะส่งผลให้ลูกมีโอกาสสายตาสั้นสูงกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า

วันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนตุลาคมทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็น “วันสายตาโลก (World Sight Day)” เพื่อให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกรณรงค์ป้องกันแก้ไขปัญหาตาบอด ปัญหาสายตาเลือนราง โดยมีรายงานพบประชากรโลกตาบอดปีละประมาณ 7 ล้านคน สาเหตุร้อยละ 80 สามารถป้องกันได้

ส่วนใหญ่มาจากปัญหาตาต้อกระจก ผู้ที่มีปัญหาความพิการทางสายตา ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความทุกข์ทรมานในการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

ผลสำรวจผู้พิการทางการมองเห็นประเทศไทยหลายปีมาแล้ว ระบุว่า โรคที่เป็นสาเหตุของตาบอดที่สำคัญ 5 โรค ได้แก่ โรคต้อกระจก ต้อหิน โรคของจอตา โรคที่ทำให้ตาบอดในเด็ก และโรคของกระจกตา

...

ปัญหาเกี่ยวกับ “ดวงตา” เป็นเรื่องใกล้ตัวมีผลกับการใช้ชีวิตประจำวันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ทั้งภาวะสายตาสั้น สายตาเอียง เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป สายตาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นภาวะสายตายาวในผู้สูงวัย และ...เมื่อเข้าสู่วัย 60 ปี อาจจะต้องเผชิญกับโรคต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม

ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว การให้บริการตรวจคัดกรองวินิจฉัยและรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับโรคตาได้อย่างถูกต้องตรงจุดทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูการมองเห็น...มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าก่อนเข้ารับการรักษา

รศ.นพ.อัมพร จงเสรีจิตต์ ผู้อำนวยการศูนย์จักษุและเลสิก โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง บอกว่า ปัจจัยความเสื่อมถอยของสายตายุคปัจจุบันนอกจากมีความเสื่อมตามสภาพ อย่างเช่นวัยเด็กก็มีทั้งสายตาสั้น สายตาขี้เกียจก็มีความจำเป็นต้องตรวจ พออายุมากขึ้นก็เสื่อมตามอายุ สายตายาว ต้อหิน ต้อกระจก

“บวกกับยุคปัจจุบันโรคต่างๆ เบาหวานก็มีผลต่อสายตา กระทบมากขึ้น นับรวมไปถึงการเล่นโทรศัพท์มือถือ มีงานวิจัยพบว่า...ถ้าเด็กๆเล่นมือถือก่อนอายุ 8 ขวบจะทำให้สายตาสั้นเยอะขึ้น แล้วก็อาจจะมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อตา การเพ่ง...เป็นโรคสายตาที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน”

สายตาถ้าใช้งานมากก็เสื่อมเร็ว ใช้งานโดยไม่พักกล้ามเนื้อตาก็เสื่อม ทำให้แห้ง...อาจจะมีต้อลม ต้อเนื้อ สายตาสั้น ข้อแนะนำเบื้องต้นในการถนอมสายตาง่ายๆเลยก็คือในกลุ่มวัยทำงานแนะนำกฎ 20...20...20 หมายถึงว่า 20 แรก...ถ้าทำงานหน้าจอ 20 นาที แล้วก็พักสายตาสัก 20 วินาที...หลับตาก็ได้ จะทำให้ตาไม่แห้ง

การพักจะทำให้กล้ามเนื้อตาที่เพ่งได้คลายตัว จากนั้น 20 สุดท้าย...ก็ให้มองออกไปนอกหน้าต่าง มองไปกว้างๆไกลๆให้สุดสายตา 20 ฟุตขึ้นไป เป็นการลดการทำงานของกล้ามเนื้อการเพ่ง สร้างความสดชื่นให้ตาด้วย โดยเฉพาะการมองในพื้นที่สีเขียวๆฟ้าๆจะทำให้ตาสบายขึ้น...ไม่เครียด ลดอาการปวดหัว

นพ.พิชิต กังวลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง บอกว่า ศูนย์จักษุและเลสิกเรามุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีการรักษา นวัตกรรมทางการแพทย์มาใช้รักษา บำบัด วินิจฉัยตามมาตรฐานระดับสากล เพื่อยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ตรงจุด เหมาะกับผู้รับบริการแต่ละราย

แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางในแต่ละสาขาจะคอยให้คำแนะนำผู้ป่วยด้วยรูปแบบการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติหลังการรักษา และไม่กลับมาเจ็บป่วยซ้ำ

...

ทีมแพทย์มีความชำนาญการเฉพาะทางด้านจักษุ...เลสิก พร้อมเครื่องมือที่ทันสมัย บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าผู้ป่วยจะมาด้วยปัญหาเกี่ยวกับโรคตา ตั้งแต่ การตรวจวัดสายตา การตรวจคัดกรองความผิดปกติของดวงตา การมองเห็น

การตรวจรักษาโรคตาต่างๆ อาทิ ต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตา ม่านตาอักเสบ รวมถึงการตรวจรักษาโรคตาในเด็ก การผ่าตัดต้อกระจกและเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม การผ่าตัดจอประสาทตา การผ่าตัดรักษาเปลือกตาและเบ้าตา หนังตาตก

รศ.นพ.อัมพร ย้ำว่า...ปัญหาเกี่ยวกับโรคตาและการมองเห็น เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย สำหรับภาวะความผิดปกติทางสายตา ได้แก่ สายตาสั้น สายตาเอียง สายตายาวแต่กำเนิด ปัจจุบันจักษุแพทย์สามารถทำการผ่าตัดรักษาได้ด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ การผ่าตัดเลสิก, เฟมโตเลสิก, รีเลกซ์ (ReLEX) และการใส่เลนส์เสริม

ศูนย์จักษุและเลสิกพัฒนาการผ่าตัดรักษาสายตาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้นำการผ่าตัดสายตาด้วยวิธี รีเลกซ์เคลียร์ (ReLEX CLEAR) มาใช้ทำการผ่าตัดแก้ไขสายตา

“ReLEX CLEAR เป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของสายตาแบบไร้ใบมีด โดยใช้ FEMTO เลเซอร์พลังงานต่ำระดับนาโนจูล เพื่อแยกชั้นกระจกตาหรือเปิดแผลที่กระจกตา ช่วยให้จักษุแพทย์ปรับแต่งความโค้งของกระจกตาเพื่อแก้ไขค่าสายตาให้เหมาะสม”

ข้อเด่นของการใช้พลังงานต่ำ ประกอบกับ Focal Volume ขนาดเล็กทำให้มีอัตราการยิงซ้ำมากขึ้นและเร็วกว่าเดิม...1 ล้านรอบต่อวินาที มีความตรงจุด ขอบแผลเรียบ ไม่เกิดผลเสียต่อเนื้อเยื่อกระจกตาบริเวณใกล้เคียง ถัดมา...ฟังก์ชันตรวจจับศูนย์กลางรูม่านตาอัตโนมัติทำให้แพทย์สามารถยิงแสงเลเซอร์ได้ตรงจุดรวดเร็ว

...

อีกทั้งแก้ไขสายตาเอียงให้ตรงขึ้นด้วยเทคโนโลยีตรวจจับแกนเอียงของดวงตาอัตโนมัติ...เปิดแผลที่กระจกตาขนาดเล็กมาก 2.6-3.0 มิลลิเมตร ลดความบอบช้ำ ลดภาวะตาแห้ง ทำให้การมองเห็นจะชัดเร็วขึ้น

นอกจากนี้แล้วประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนี้ยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังการผ่าตัด อาทิ ภาวะตาแห้ง การมองเห็นในภาวะ แสงน้อย และใช้เวลาพักฟื้นเพียง 1 วันถึง 1 สัปดาห์เท่านั้น...

ศูนย์ยังได้นำเครื่อง FEMTO LDV Z8 มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผ่าตัดต้อกระจกโดยใช้แขนกลเลเซอร์ คล้ายกับการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ในต่างประเทศเรียกว่า “Femto Robotic Cataract Surgery” อาศัยคุณสมบัติเด่นใช้พลังงานต่ำ ลดความบอบช้ำต่อกระจกตา เพิ่มความตรงจุด เพื่อประสิทธิภาพปลอดภัยยิ่งขึ้น

จุดสังเกตสำคัญเกี่ยวกับ “สายตา” ที่ผิดปกติ ทางที่ดีควรต้องพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวัดสายตาก่อนอายุ 6 ขวบ ถ้าเป็นไปได้ควรตรวจสักครั้งหนึ่ง วัยทำงานก็อาจจะมีโรคตาแห้งได้ ที่สำคัญคือช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไปจะมีโรค “ต้อหิน” ที่อันตราย สังเกตเอง รักษาเองไม่ได้ เพราะไม่มีอาการล่วงหน้า ควรไปตรวจปีละครั้ง

ต้องวัดความดันตาโดยแพทย์เท่านั้น ต้อหิน...เป็นภัยเงียบ ถ้ามีอาการเมื่อไหร่ ตามัว...ก็ใกล้จะตาบอดแล้ว การรักษาก็ทำได้แค่คุมอาการไม่ให้ แย่ลง ยกเว้นต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม จะรู้ได้...โดยตื่นเช้ามาก็ให้ปิดตาทีละข้างดูขอบประตู หน้าต่าง ถ้าเบี้ยวไม่คมชัดก็ต้องรีบไปพบแพทย์ เราผิดปกติตาข้างไหน

“ดวงตา” นั้นสำคัญ ต้องดูแลอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารให้ครบหมู่ กินวิตามินเสริม แคโรทีนอยู่ในผักผลไม้สีส้ม...เหลือง...แดง ช่วยบำรุงการทำงานของเซลล์จอประสาทตาให้ไม่เสื่อมง่าย และระวังแสงแดดจัดทำให้เกิดต้อเนื้อ ต้อลม ต้อกระจก...ควรใส่แว่นกันแดดป้องกัน.

...