เปิดภาพบรรยากาศ "รถไฟลอยน้ำ รอบปฐมฤกษ์ในสัปดาห์แรกของปี" ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

วันที่ 6 พ.ย. 65 มีรายงานว่า ขบวนรถพิเศษ นำเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งมีสถานีต้นทางจากหัวลำโพง กรุงเทพฯ และสถานีปลายทาง ณ แหล่งท่องเที่ยวรถไฟลอยน้ำ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางสัมผัสกับเส้นทางท่องเที่ยว “รถไฟลอยน้ำ หนึ่งเดียวของเมืองไทย” ในทุกๆ วันเสาร์ และอาทิตย์ ตลอด เดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 โดยเริ่มรอบปฐมฤกษ์ของปีทั้ง 2 วันที่ผ่านมา ต้องลากยาวถึงวันละ 17 โบกี้ แต่จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละวัน จากเดิม วันละประมาณ 1,200 คน เหลือเพียงวันละ 700-800 คน ต่อวัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ ขบวนรถพิเศษนำเที่ยวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะเปิดให้บริการแบบเช้าไปเย็นกลับ ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดจัดในทุกวันเสาร์ และอาทิตย์ ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 รวม 24 วัน เพื่อช่วยสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศให้กลับมาฟื้นตัวได้ตามนโยบายของรัฐบาล ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ สร้างความเข้มแข็งสู่เศรษฐกิจฐานราก และชุมชนให้กลับมามีความเข้มแข็งยั่งยืน

...

ซึ่งขบวนรถไฟจะหยุด ณ จุดชมวิว เป็นเวลา 20 นาที ให้นักท่องเที่ยวลงถ่ายภาพ ซึ่งเป็นไฮไลต์สำคัญของทิปนี้ เนื่องจากเป็นทริปพิเศษ เข้าสู่บรรยากาศการท่องเที่ยวแบบวิถีชีวิตชาวเขื่อน และสนุกสนานกับขบวน “รถไฟลอยน้ำ” ที่ทอดยาวข้ามไปบนอ่างเก็บน้ำ เหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ นับเป็นประสบการณ์สุดพิเศษ ของการรถไฟไทย

ทั้งนี้ ทางการรถไฟ ยังเปิดโอกาส ให้นักท่องเที่ยวได้ แวะลงเลือกซื้อสิ้นค้า ชิม ช้อป สินค้าพื้นเมือง OTOP ซึ่งมีทั้งของกิน ของฝาก ผลิตภัณฑ์ชุมชน ของพื้นบ้าน บริเวณชานชาลา ที่สถานีบ้านโคกสลุง (โคก-สะ-หลุง) เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชาวชุมชนในช่วงนี้ เป็นเวลา 30 นาที จากนั้นขบวนรถไฟก็จะเดินทางกลับมายังสถานีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมต่างๆ บริเวณพื้นที่โดยรอบของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยขบวนรถไฟเที่ยวกลับ จะออกจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในเวลา 15.30 น.

สำหรับประวัติขบวนรถไฟลอยน้ำ เดิมเป็นทางรถไฟสายกรุงเทพ บัวใหญ่ หนองคาย อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำป่าสักในอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และต่อมาพื้นที่ดังกล่าวถูกพัฒนาเป็นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ตามโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อใช้กักเก็บน้ำ แก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมกับมีการสร้างทางรถไฟยกระดับขึ้นเหนือน้ำเพื่อใช้สัญจรไปยังจังหวัดต่างๆ ได้ ซึ่งเมื่อขบวนรถไฟวิ่งลัดเลาะไปตามขอบของอ่างเก็บน้ำ และมองออกไปนอกหน้าต่างจะดูคล้ายกับรถไฟแล่นไปบนผิวน้ำ ขบวนรถไฟนี้จึงได้ชื่อว่า “รถไฟลอยน้ำ”

นางสาวพิมพกานต์ พิพิธธนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลพบุรี กล่าวว่า สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากับขบวนรถไฟ ขบวนพิเศษนี้ นอกจากจะได้มีโอกาสเดินทางได้มาเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวในบริเวณเขื่อนป่าสัก ซึ่งเป็นเขื่อนดินที่ยาวที่สุดในประเทศไทยแล้ว ก็ยังสามารถเดินทางเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ของชุมชนไทยเบิ่งบ้านโคกสลุง (โคก สะ หลุง) แหล่งท่องเที่ยวทางด้านธรรมชาติ บ้านกล้วยไข่ น้ำตกวังก้านเหลือง ถ้าเกิดมาในช่วงของเดือนธันวาคม ก็ยังได้ชื่นชมความสวยงามของดอกทานตะวันบาน ซึ่งตรงนี้ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกหนึ่งไฮไลต์ของจังหวัดลพบุรีด้วยเช่นกัน

...

ทั้งนี้ ตารางการเดินรถ เที่ยวไป (ขบวนที่ 921) ขบวนรถไฟออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 6.00 น. จากนั้นหยุดรับ-ส่ง ผู้โดยสารตามสถานีต่างๆ คือ สถานีสามเสน ชุมทางบางซื่อ บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง รังสิต อยุธยา สระบุรี ชุมทางแก่งคอย ถึงจุดชมวิว “รถไฟลอยน้ำ” กลางเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขบวนรถจะหยุดกลางสันเขื่อนมีเวลาให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม ดื่มด่ำกับความงดงาม 20 นาที และเดินทางไปที่สถานีโคกสลุง มีเวลาให้นักท่องเที่ยว ชิม ช้อป สินค้าพื้นเมือง OTOP ประมาณ 30 นาที

จากนั้นขบวนรถจะพานักท่องเที่ยวมาถึงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เวลา 10.35 น. นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามอัธยาศัย ไม่ว่าจะรับประทานอาหารกลางวันจากร้านค้าของกลุ่มชุมชนท้องถิ่น หรือท่องเที่ยวรอบนอกตัวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยใช้บริการรถตู้ อัตราค่าบริการท่านละ 70 บาทตลอดเส้นทาง ที่จะนำชมสถานที่ท่องเที่ยวทุ่งทานตะวัน ณ บ้านกล้วย & ไข่ ชมสวนเฟิร์นยักษ์ และถ่ายรูปกับบรรยากาศสไตล์ชิกๆ ที่จุดชุมวิว ณ ไร่ทรัพย์ประยูร และขึ้นขบวนรถไฟเที่ยวกลับออกจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เวลา 15.30 น. และหยุดรับ-ส่ง ผู้โดยสารตามสถานีต่างๆ คือ สถานีชุมทางแก่งคอย สระบุรี อยุธยา รังสิต ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน ชุมทางบางซื่อ สามเสน ถึงสถานีกรุงเทพฯ เวลา 18.50 น.

...

“ผู้สนใจสามารถติดต่อซื้อตั๋วโดยสารล่วงหน้าได้ก่อนเดินทางล่วงหน้าได้ ที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ หรือระบบ D-Ticket รวมถึงสามารถจองเดินทางเป็นหมู่คณะแบบเช่าเหมาคัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเฟซบุ๊ก แฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย”