พื้นที่เกษตรที่ประสบภัยทั่วประเทศ คาดว่าจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 59 จังหวัด พื้นที่ 5,493,345.75 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 3,601,720.00 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,803,732.00 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 87,893.75 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบรวม 645,783 ราย

แนวทางการฟื้นฟูพื้นที่ภาคการเกษตรที่ประสบภัย กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เตรียมการไว้ 2 แนวทาง

1.สนับสนุนให้เกษตรกรมีแหล่งอาหารใหม่ มอบหมายให้กองขยายพันธุ์พืช และศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 1–10 ระดมกำลังเจ้าหน้าที่เร่งบรรจุและจัดชุดเมล็ดพันธุ์พืชผักพันธุ์ดี

ประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์ดีหลายชนิด ได้แก่ พริก มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู และกระเจี๊ยบเขียว จำนวนรวมกว่า 3.5 แสนซอง นำไปช่วยเหลือเกษตรกรในเบื้องต้น เพื่อเป็นพืชอาหารและพืชทดแทนในส่วนของพื้นที่เกษตรที่ได้รับความเสียหาย และกำลังเร่งดำเนินการบรรจุและจัดชุดเพิ่มเติมอีก 2 แสนซอง เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกรให้ได้มากที่สุด

นอกจากชุดเมล็ดพันธุ์พืชผักแล้ว ยังมีการสนับสนุนต้นพันธุ์พืชผักพืชอาหาร และต้นพันธุ์ไม้ผลไม้ยืนต้นอีกด้วย ทั้งหมดนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจะนำไปมอบให้เกษตรกรในพื้นที่ทันทีภายหลังน้ำลด โดยกระจายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ประสบภัยมากที่สุด สำหรับเกษตรกรที่มีความประสงค์ขอรับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผักเพิ่มเติม สามารถแจ้งความจำนงได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่รวบรวมปริมาณ และแจ้งต่อศูนย์ขยายพันธุ์พืชเพื่อดำเนินการจัดสรรต่อไป

2.สนับสนุนปัจจัยการผลิตสำหรับป้องกันกำจัดโรคพืช สนับสนุนชีวภัณฑ์เชื้อราไตรโคเดอร์มาที่มีทั้งในส่วนพร้อมใช้ 8,200 กิโลกรัม (สามารถใช้ได้กับพื้นที่ 8,200 ไร่) และหัวเชื้อขยาย 11,500 ขวด (สามารถใช้ได้กับพื้นที่ 172,500 ไร่) จากกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย

...

เกษตรกรสามารถมาขอรับได้จากสำนักงานเกษตรจังหวัด และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) ชัยนาท, สุพรรณบุรี, ชลบุรี, ขอนแก่น, สงขลา, เชียงใหม่, นครราชสีมา, สุราษฎร์ธานี และพิษณุโลก เพื่อนำไปใช้งานเพื่อควบคุมเชื้อราในดินและฟื้นฟูพืชหลังน้ำลด หากไม่มั่นใจกับอาการของต้นพืช สามารถสอบถามปัญหาโรคพืชได้ที่คลินิกพืช ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน.

สะ-เล-เต