“ความยากจนข้ามรุ่น” และ “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย โดยเฉพาะเยาวชนจาก “ครอบครัวยากจน” จำนวนมาก ไม่มีโอกาส “เรียนหนังสือ” มากกว่าภาคบังคับ
ข้อมูลจากองค์การยูเนสโก ระบุว่า ไทยมีเยาวชนจากครัวเรือนฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ...เพียง 8 ใน 100 คนเท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ น้อยกว่าเด็กที่มาจากครัวเรือนร่ำรวยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศถึง 6 เท่า
น่าสนใจว่า...ไม่ใช่เพราะความสามารถและขาดศักยภาพการเรียนรู้ หากแต่เป็นเพราะการเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาจากเศรษฐานะของครอบครัวและปัจจัยอื่นๆที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงโอกาสและทำให้เด็กไม่สามารถที่จะเรียนต่อ
ทั้งนี้มีผลวิจัยติดตามข้อมูลประชากรเยาวชนมากกว่า 1.5 แสนคนอย่างต่อเนื่อง 4 ปี พบว่าประเทศไทยมีเด็กช้างเผือก (Resilient Students) ซึ่งมาจากครัวเรือนยากจนที่สุดของประเทศที่แม้จะยากจน แต่สามารถสอบผ่านเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาได้สำเร็จราวร้อยละ 14
...
จากการติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2561-2565 ของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่ได้รับทุนเสมอภาคจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หรือเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ พบด้วยว่า
ในปีการศึกษา 2565 มีเยาวชนจากครัวเรือนที่รายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศกว่า 20,018 คน สามารถสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยผ่านระบบ TCAS65 ได้สำเร็จ
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) บอกว่า เมื่อปีการศึกษา 2561 กสศ.และ สพฐ.ได้ร่วมกันคัดกรองและสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนชั้น ม.3 ที่มีสถานะความยากจนในระดับยากจนและยากจนพิเศษจำนวน 106,137 และ 41,884 คน ตามลำดับ
เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน โดย 4 ปีต่อมา นักเรียนในกลุ่มนี้จำนวน 20,018 คน สามารถสอบติดมหาวิทยาลัยผ่านระบบ TCAS65 ได้สำเร็จ คิดเป็นราวร้อยละ 12-14 ตัวเลขนี้อาจเป็นจำนวนไม่มาก แต่นับว่ามีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น
คำถามสำคัญมีว่า...ทำอย่างไรจึงจะสร้าง “โอกาสทางการศึกษา” ให้เสมอภาคได้จริง?
พุ่งเป้าไปที่ “นักเรียนทุนเสมอภาค” จำนวน 41,884 คน ซึ่งเป็น นักเรียนรุ่นแรกของ กสศ. ที่ได้รับการคัดกรองมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เวลานั้น กสศ.ในฐานะองค์กรที่มีภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเร่งให้เกิดการปฏิรูประบบการศึกษา ผ่านการพัฒนากลไกและมาตรการเชิงระบบ
เพื่อให้สามารถสร้างโอกาสที่จะนำไปสู่การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดภายใต้ทรัพยากรด้านงบประมาณของประเทศมีจำกัด
เนื่องจาก กสศ.ได้รับการจัดสรรทรัพยากรคิดเป็นเพียงราวร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศทั้งระบบ เราได้วิจัยพัฒนากระบวนการคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษด้วยวิธีวัดรายได้โดยอ้อมร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เพื่อชี้เป้าหมาย “เด็ก” และ “เยาวชน” ที่มีชีวิตยากลำบากมากที่สุด ร้อยละ 15-20 ของประเทศให้ได้รับเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาคจาก กสศ.ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าครองชีพทางการศึกษา
...
โดยมีเงื่อนไขให้ต้องมีอัตราการมาเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80-85 และมีพัฒนาการที่สมวัย เพราะ กสศ.เชื่อว่านักเรียนกลุ่มนี้เป็นกลุ่ม ที่มีความเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษาเพราะความยากจนระดับรุนแรง แม้ว่ารัฐจะมีมาตรการเรียนฟรีก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อสถานะครัวเรือน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรกลุ่มนี้ที่มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,044 บาท หรือน้อยกว่าวันละ 35 บาทเท่านั้น
จากการติดตามกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา พบว่า เงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขช่วยให้นักเรียนมีอัตราการมาเรียนที่ดีขึ้นลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษา และมีพัฒนาการที่สมวัยมากขึ้น
ทำให้จำนวนเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาน้อยลงตามลำดับ รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะศึกษาต่อในระดับการศึกษาที่สูงกว่าภาคบังคับมากขึ้น
“การทำให้เรื่องโอกาสทางการศึกษาเป็นเรื่องที่ยั่งยืนได้สำหรับนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ คือการปิดช่องว่างการส่งต่อการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานอย่างไร้รอยต่อ ผ่านการเชื่อมต่อฐานข้อมูล...การทำงานในการส่งต่อนักเรียนกลุ่มนี้ให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรและเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น”
เด็กทุกคนไม่ว่าเกิดมายากดีมีจนควรมีสิทธิบรรลุเป้าหมายการศึกษาสูงสุดที่เขาใฝ่ฝันสิ่งนี้คือเป้าหมายชีวิตของเขา และเป้าหมายของประเทศ ทั้งหมดคือเรื่องเดียวกัน
การพัฒนา “ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา” จะช่วยให้ประเทศไทยมีระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลรายบุคคล รายสถานศึกษาระยะยาว ครอบคลุมเด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดของประเทศจำนวนมากกว่า 1.9 ล้านคนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เพื่อให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยเหลือสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กเยาวชนเหล่านี้ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาและสามารถศึกษาต่อไปจนถึงระดับสูงสุดตามศักยภาพ
...
ฐานข้อมูลจากระบบหลักประกันฯยังสามารถใช้สนับสนุนการวิจัยพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสนับสนุนมาตรการระยะยาวในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษา รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาครบทุกมิติทุกระดับชั้นในอนาคต
โดยมีจุดหมายปลายทางสำคัญ เพื่อให้เด็ก...เยาวชน...ครอบครัวทุกระดับรายได้ และทุกพื้นที่ในประเทศไทยมีความมั่นใจว่าระบบการศึกษาไทยมี “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ให้แก่นักเรียนทุกคนบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาได้ตามขีดความสามารถและความมุ่งมั่นของพวกเขาอย่างแท้จริง
...มิใช่เพราะฐานะทางเศรษฐกิจ มิใช่เพราะความห่างไกล หรือปัจจัยอื่นๆ
โอกาสทางการศึกษา คือการลงทุนที่สร้างผลกระทบและให้มูลค่าตอบแทนที่สูงที่สุดต่อประเทศ
“ประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นแรกของครอบครัวที่จบการศึกษาสูงกว่าพ่อแม่ ที่เดิมมีค่าเฉลี่ยระดับการศึกษาสูงสุดเพียงชั้นประถมศึกษาหรือเทียบเท่า...มากว่า 10 ปีแล้ว เมื่อวันที่คนรุ่นนี้มีรายได้สูงขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน ย่อมหมายถึงการเปิดประตูสู่โอกาสในชีวิตที่มากกว่า”
...
แน่นอนว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคม (Social Mobility) เศรษฐกิจ และหยุดวงจรความยากจนที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น (Intergenerational Poverty) ให้สิ้นสุดลงในรุ่นของพวกเขา.