“ช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์กุ้งไทยมิใคร่สู้ดีนัก มีสาเหตุมาจากทั้งปัญหาอุทกภัย การปิดตลาดรับซื้อกุ้งในช่วงวันหยุด ตลอดจนสภาวะเงินเฟ้อของประเทศผู้รับซื้อกุ้งทะเลรายใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน แม้ว่าค่าเงินบาทของไทยในขณะนี้จะอ่อนตัวลง แต่ด้วยสภาวะเงินเฟ้อ เลยทำให้ค่าครองชีพของประเทศคู่ค้าเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณความต้องการสินค้ากุ้งในตลาดต่างประเทศจึงยังคงทรงตัว ผู้ส่งออกไทยมีคำสั่งซื้อลดลง ทำให้ราคากุ้งภายในประเทศบางช่วงตกลงมา แต่ราคายังคงไม่ต่ำกว่าที่ชริมพ์บอร์ดได้เคยประกาศไว้ และราคากุ้งเฉลี่ยยังสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2564”
...
นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง บอกถึงสาเหตุของการที่ทำให้สถานการณ์กุ้งไทยยังคงบอบช้ำจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือชริมพ์บอร์ด ครั้งที่ 5/2565...แม้ผู้ส่งออกไทยจะมียอดสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าลดลง แต่ขอยืนยันว่าห้องเย็นและโรงงานแปรรูปยังคงประกันราคารับซื้อตามที่กำหนดร่วมกันไว้ไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อรักษาเสถียรภาพราคากุ้งภายในประเทศ
นอกจากนี้ ชริมพ์บอร์ดยังได้มอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัด จัดทำราคากุ้งขาวแวนนาไม ณ ปากบ่อ เป็นประจำทุกวันและประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ทราบเพื่อเป็นราคาอ้างอิงในการรับซื้อผลผลิต พร้อมทั้งขอให้เกษตรกรวางแผนการเลี้ยงกุ้งให้ตรงตามความต้องการของตลาดในพื้นที่ และซื้อขายกุ้งผ่านระบบ APD ของกรมฯ เพื่อให้ผลผลิตมีตลาดรองรับที่แน่นอน และได้ราคาดี เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ตลาดต้องการ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
ทั้งนี้ นอกจากแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาราคากุ้งแล้ว ชริมพ์บอร์ดยังได้เตรียมการส่งเสริมการส่งออกกุ้งกุลาดำไปยังประเทศจีน เพื่อให้สามารถผลิตกุ้งได้ตรงตามความ ต้องการของคู่ค้าเมื่อจีนเปิดประเทศอีกครั้งหลังการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำและผู้ส่งออก ร่วมกันวางแผนการผลิตและหากลยุทธ์ฟื้นการส่งออกกุ้งกุลาดำไปยังประเทศจีน ซึ่งนิยมกุ้งกุลาดำไทยมาก แต่ผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยหากสามารถทำตลาดจีนได้ ผลผลิตกุ้งกุลาดำที่เพิ่มขึ้นจะเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทยให้ไปสู่เป้าหมายได้
ด้าน ศักดิ์สหกรณ์ คงสมุทร ประธานคลัสเตอร์กุ้งกุลาดำไทย ขยายความเพิ่มเติมถึงสถานการณ์และโอกาสของกุ้งกุลาดำไทย...จีนถือเป็นตลาดที่ต้องการกุ้งกุลาดำค่อนข้างมาก ได้ราคาสูง โดยเฉพาะกุ้งน็อกที่มีชีวิต ช่วงตลาดต้องการมาก และผลผลิตน้อยได้ราคาสูงถึง กก.ละ 300-400 บาท แต่ก็ต้องแลกกับคุณภาพ ทั้งในเรื่องกายภาพ อัตรารอด และระยะทางขนส่ง รวมถึงความผันผวนค่อน ข้างสูง ฉะนั้นเกษตรกรต้องมีความพร้อม และวางแผนการผลิตให้ดี ส่วนตลาดกุ้งต้ม จะได้ราคารองลงมา แต่ต้องแลกกับสเปกของสี ที่ต้องแดงเข้มเบอร์ 28 ขึ้นไป และทางกายภาพต้องสวยไม่มีตำหนิ
...
สำหรับอีกตลาดที่มีอนาคตนั่นคือ ตลาดฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต เป็นตลาดในการสร้างแบรนด์ของกลุ่มเกษตรกรหรือเกษตรกรรายฟาร์ม ที่ทำการค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศเป็นหลัก ผ่านช่องทางออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งมีโอกาสพัฒนาต่อยอดกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่น โดยการขนส่งผ่านรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสู่จีน ยุโรป ตะวันออกกลาง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ส่วนตลาดกุ้งจับตาย เพื่อส่งโรงงานทำสินค้าแช่แข็งและแกะเนื้อไว้หาง เป็นตลาดที่ราคายังไม่จูงใจต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรทั่วไป แต่มีความจำเป็นในการช่วยเก็บผลผลิตตกสเปกจากตลาดอื่นมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า ถือเป็นความชำนาญของห้องเย็นบ้านเรา
...
ทั้งนี้ กุ้งกุลาดำไทยจะเติบโตและยั่งยืนแค่ไหน นอกจากขึ้นกับสายพันธุ์ที่สม่ำเสมอ ให้ผลผลิตต่อเนื่อง สอดรับกับการปรับระบบการเลี้ยงให้เหมาะสมของเกษตรกรแล้ว การประชาสัมพันธ์ตามช่องทางต่างๆถึงความโดดเด่น ความพิเศษ รสชาติ สีสัน ความปลอดภัย ให้ตอบโจทย์ตามที่ลูกค้าปลายทางต้องการ พร้อมมาตรฐานรองรับจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนเกษตรกร ก็จะทำให้ลูกค้ายอมควักกระเป๋าจ่ายแพงขึ้นได้ไม่ยาก.
กรวัฒน์ วีนิล