155 อุทยานแห่งชาติและ 91 วนอุทยาน พร้อมเปิดให้เข้าชมเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีแล้ว หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย อุทยานแห่งชาติและวนอุทยานจึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทาง นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าไปชื่นชมสัมผัสธรรมชาติ อย่างใกล้ชิดในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีนี้

ขณะที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย สำนักอุทยานแห่งชาติ มีการปรับมาตรการใหม่ เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ คือ เที่ยวธรรมชาติแบบสนุกสนานไปพร้อมๆกับการรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม เพื่อลดภาระแก่สิ่งแวดล้อมและรักษาธรรมชาติไว้ให้นานที่สุด

ทั้งยังมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้กระทบต่อธรรมชาติ โดยนักท่องเที่ยวจะต้องจองเข้าอุทยานฯล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน QueQ

แน่นอนอาจจะยุ่งยาก ลำบาก รำคาญใจอยู่บ้าง แต่จำเป็นต้องทำเพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย

รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา
รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา

...

“แม้จะเปิดการท่องเที่ยวแล้ว แต่อุทยานฯ ทุกแห่งยังคงมาตรการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดความ แออัด เพื่อเฝ้าระวังโควิด-19 และเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมธรรมชาติ ที่ได้รับการฟื้นฟูในช่วงที่มีการปิดอุทยานฯได้สมความตั้งใจ ในหลายอุทยานฯพบว่าพืชพันธุ์ไม้หายากกลับมาเจริญงอกงามอย่างรวดเร็ว สัตว์ป่าต่างๆ เช่น หมูป่า กระรอกบิน ผีเสื้อชนิดต่างๆ นกนานาชนิดที่ไม่ค่อยปรากฏตัวให้เห็น สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้ง ขณะที่อุทยานฯทางทะเล 26 แห่งที่เปิดการท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา พบปะการังในหลายอุทยานฯ มีการก่อตัวและงอกใหม่เช่นเดียวกับหญ้าทะเล สำหรับสัตว์ทะเล เช่น เต่า มะเฟือง พะยูน ปลาโลมาอิรวดี และ ปลาฉลามหูดำ มีคนพบเห็นสัตว์ทะเลเหล่านี้บ่อยครั้งขึ้น สิ่งเหล่านี้จะต้องไม่ถูกทำลายลงไป กรมอุทยานฯจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นการท่องเที่ยวสีเขียว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยทางธรรมชาติ การสูญเสียความหลาก หลายทางชีวภาพ จากการท่องเที่ยว” นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานฯ เปิดเผยถึงการท่องเที่ยววิถีใหม่

ทั้งนี้ สำนักอุทยานแห่งชาติยังได้เตรียมอุทยานฯทางเลือกเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับอุทยานฯยอดนิยม ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปจนล้น เช่น อุทยานฯดอยอินทนนท์ อุทยานฯดอย สุเทพ-ปุย จ.เชียงใหม่ ก็ให้ไปท่องเที่ยวใน อุทยานฯออบขาน อุทยานฯขุนขาน อุทยานฯแม่วาง จ.เชียง ใหม่ ซึ่งมีความสวยงามไม่แพ้กัน หรืออุทยานฯดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่ ก็ไปอุทยานฯ ผาแดง อุทยานฯดอยผาเวียง แทน หรืออุทยานฯเขาใหญ่ ก็ให้ไปอุทยานฯแม่วงก์ อุทยานฯคลองวังเจ้า อุทยานฯปางสีดา หรืออุทยานฯภูกระดึง อุทยานฯภูเรือ จ.เลย ก็ให้ไปอุทยานฯภูสอยดาว อุทยานฯภูผาม่าน หรืออุทยานฯหาดนพรัตนธารา-หมู่เกาะพีพี อุทยานฯอ่าวพังงา อุทยานฯหมู่เกาะสิมิลัน ก็ให้ไปที่อุทยานฯธารโบกขรณี อุทยานฯหมู่เกาะลันตา อุทยานฯเขาหลัก-ลำรู่ เป็นต้น เพื่อลดความแออัด

...

ขณะที่ นายสมศักดิ์ ภู่เพ็ชร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า แนวโน้มนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาอุทยานแห่งชาติมีจำนวนมาก จากสถิติเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวถึง 490,940 คน เพิ่มขึ้นถึง 67.34% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.2564 นี่ขนาดยังไม่เปิดอุทยานฯ รับนักท่องเที่ยวเต็ม 100% ดังนั้น การจองเข้าอุทยานฯต้องจองล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน QueQ โดยเปิดรับ 70% และอีก 30% จะเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้จองล่วงหน้าสามารถ Walk in มาท่องเที่ยวได้ อย่างไรก็ตาม วันธรรมดาอุทยานฯจะลดค่าที่พักลง 30%

สมศักดิ์ ภู่เพ็ชร
สมศักดิ์ ภู่เพ็ชร

...

“เมื่อเข้ามาในอุทยานฯ ก็จะมีข้อปฏิบัติ คือ ห้ามปรุงอาหารประเภทมีกลิ่นและอาหารปิ้งย่างบริเวณลานกางเต็นท์หรือที่พัก เพื่อไม่ให้ควันและกลิ่นไปรบกวนนักท่องเที่ยวและสัตว์ป่า ทั้งยังเป็นการลดปริมาณขยะด้วย โดยอุทยานฯได้เตรียมพื้นที่สำหรับการงดประกอบอาหารบริเวณลานกางเต็นท์ คือ จัดร้านค้าสวัสดิการรองรับ และจัดพื้นที่ประกอบอาหารหรือจัดโซนนิ่งให้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังจำกัดความเร็วของรถยนต์ ไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและความดังของเสียงต้องไม่เกิน 95 เดซิเบล ส่วนนักท่องเที่ยวที่ไปท่องเที่ยวอุทยานฯทางทะเล ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานฯ ได้แก่ Oxybenzone (Benzophenone–3, BP–3), Octinoxate (Ethylhexylmetho xycinna rate), 4–Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben หากฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562” ผอ.สำนักอุทยานฯระบุ

นอกจากนี้ อุทยานฯยังได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของการกู้ชีพ กู้ภัยและแผนเผชิญเหตุในอุทยานแห่งชาติ ภายใต้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในอุทยานแห่งชาติและวนอุทยานทั่วประเทศ โดยมี 7 ศูนย์ดูแลนักท่องเที่ยวใน 155 อุทยานแห่งชาติ มีรถแอมบูแลนซ์ 155 คัน ประจำในทุกอุทยานฯ มีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกฝนช่วยเหลือชีวิต จึงขอให้ประชาชนและนักท่อง เที่ยวมั่นใจในความปลอดภัยและสวัสดิภาพเมื่อมาท่องเที่ยวอุทยานฯ

...

“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า มาตรการใหม่ของกรมอุทยานฯ ในการเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวในฤดูกาลท่องเที่ยว น่าจะเป็นการตอบโจทย์เพื่อเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสสำหรับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

เพราะการได้มาซึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวกับสิ่งที่ธรรมชาติที่ได้รับการฟื้นฟูและจะต้องสูญเสียไปอีกไม่คุ้มกันแน่นอน

การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ไม่ใช่เรื่องยาก เราสามารถชื่นชมธรรมชาติได้ภายใต้กติกาใหม่ที่ได้ทั้งนักท่องเที่ยวและได้ปกป้องรักษาธรรมชาติไปในตัว

สำคัญที่สุดคือ เพื่อรักษาธรรมชาติที่ถือเป็นสมบัติของชาติไว้ให้ลูกหลานไทยในอนาคต.

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม