ผศ.ดร.พรกมล สาฆ้อง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เผยว่า การขับเคลื่อนให้เกิดศูนย์วิจัยชุมชนทั่วประเทศ โดยทีมวิจัยได้ร่วมกับเครือข่ายวิจัยภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการสนับสนุน “ศูนย์วิจัยชุมชนผ้าย้อมครามสุขภาพ บ้านดอนกอย จ.สกลนคร” นำองค์ความรู้ ผ้าย้อมครามมาถ่ายทอดขยายผลสู่กลุ่มวิสาหกิจทอผ้าย้อมคราม บ.ดอนกอย เน้นขยายผลและต่อยอดจากองค์ความรู้ที่ปราชญ์ชาวบ้านดำเนินการอยู่แล้ว

“ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ถือเป็นการสืบสานงานหัตถกรรมจากบรรพบุรุษ เผ่าภูไท จากการทอผ้าใช้เองในครัวเรือนมาสู่งานเชิงพาณิชย์ ทำให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจของกลุ่มแม่บ้าน ที่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2546 จากสมาชิก 9 คน ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มเป็น 70 คน ผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามดอนกอยเป็นผ้าที่มีสีสวย มีความวาว มีความนุ่ม และกลิ่นหอมของคราม เป็นเอกลักษณ์ที่ลูกค้าเห็นและสามารถจำแนกชิ้นงานได้ชัดเจน”

ดร.พรกมล บอกว่า ทีมวิจัยฯได้เข้าไปช่วยยกระดับมูลค่าของผ้าย้อมคราม ด้วยการนำเสนอข้อมูลด้านสุขภาพของผ้าย้อมคราม เพราะผลจากงานวิจัยที่ผ่านการทดสอบแล้ว พบว่า ผ้าย้อมครามมีคุณสมบัติในการยับยั้งแบคทีเรียบริเวณใต้วงแขนของเสื้อผ้า ยับยั้งกลิ่นตัว ป้องกันแสงยูวี และยังลดรอยฟกช้ำ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ จนกระทั่งได้รับการคัดสรรเป็นสินค้า 6 ดาวของ จ.สกลนคร

...

ปัจจุบันสินค้าครามของที่นี่มี 2 รูปแบบคือ ผ้าย้อมคราม และเนื้อครามสำหรับใช้เตรียมสีย้อม เป็นเนื้อครามที่มีผลต่อคุณภาพการย้อมคราม ทำให้สีสวย และติดทนบนเส้นใยผ้า เนื้อครามที่มีคุณภาพจะต้องมีปริมาณอินดิโกบลู (สารสี) ในปริมาณสูง

“นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบด้วยว่า ปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณอินดิโกบลูในต้นครามมาจากสายพันธุ์ การปลูก และอายุในการเก็บเกี่ยว ที่ต้องมีอายุ 3 ปีขึ้นไป และเมื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพของต้นครามที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวครามพบว่า เมื่อระยะต้นครามเริ่มมีฝักสีน้ำตาลจะให้ปริมาณอินดิโกบลูมากที่สุด จึงได้ร่วมกับชุมชนที่จะพัฒนากรรมวิธีการผลิตเนื้อครามให้มีปริมาณอินดิโกบลูสูงขึ้น นอกจากนี้ยังได้พัฒนาวิธีการวิเคราะห์อินดิโกบลูในเนื้อคราม เพื่อใช้ในการจำแนกคุณภาพ และอาจใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาของเนื้อครามได้ในอนาคต และยังได้พัฒนาวิธีการวิเคราะห์การตรวจสอบหาปริมาณอินดิโกบลูในเนื้อครามในระดับโมเลกุล พัฒนาวิธีการตรวจสอบผ้าย้อมครามธรรมชาติและผ้าย้อมครามสังเคราะห์ การตรวจสอบโลหะหนักบนผ้าย้อมคราม ทีมวิจัยยังได้พัฒนาการใช้ประโยชน์จากต้นครามนอกเหนือจากการใช้เพื่อย้อมผ้าครามเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันทางทีมวิจัยกำลังพัฒนากระบวนการสกัดสารจากต้นครามด้วยกรรมวิธีที่เป็น มิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำสารสกัดไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในอนาคต” ดร.พรกมล กล่าวทิ้งท้าย.