ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า Ve-Chick (วีชิค) ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อไก่จากโปรตีนพืช เป็นผลงานที่เล็งเห็นถึงแนวโน้มของตลาดโลกสำหรับอาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based food) มีมูลค่าในช่วง 4-30 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 และคาดว่าจะเติบโตมีมูลค่าสูงถึง 8,000-70,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่าสามแสนล้านบาท) ในปี 2568 รวมทั้งประเทศ ไทยที่มีผู้บริโภคกลุ่ม flexitarian ซึ่งมีความรักสุขภาพและเน้นการบริโภคผลิตภัณฑ์และโปรตีนจากพืชเพื่อลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ราว 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 17-18 ล้านคน จากประชากรไทย 67-68 ล้านคน
แต่ที่ผ่านมา อาหารเพื่อสุขภาพตอบสนองผู้บริโภคในบ้านเรารสชาติยังไม่ดีนัก จึงนำมาสู่งานวิจัยจนประสบความสำเร็จในการออกแบบเนื้อสัมผัสของผลิตภัณฑ์จากพืชให้คล้ายคลึงกับเนื้อไก่ เกิดเป็น Ve-Chick ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อไก่จากโปรตีนพืช ซึ่งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเอกชนแล้วรวม 3 ราย รายที่ 1 เป็นโรงงานรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับอาหารตามความต้องการของลูกค้า การเพิ่มตัวเลือกผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์จากโปรตีนพืชให้กับลูกค้าจะช่วยเพิ่มตลาดให้กับธุรกิจของบริษัท
...
ขณะที่รายที่ 2 บริษัท กรีน สพูนส์ จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ตอัพด้านอาหารเพื่อสุขภาพ ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ที่บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ภายหลังจากรับถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว และบริษัทได้พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยมีแผนจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในช่วงต้นปี 2566
ล่าสุด บริษัท บี ไอ จี เนเชอรัล กรีน จำกัด เป็นรายที่ 3 รับถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับตลาดอาหารเจ ที่บริษัทเชี่ยวชาญด้วยเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์จากโปรตีนพืชที่ไม่ซับซ้อน สามารถหาวัตถุดิบได้ง่าย เนื้อสัมผัสของผลิตภัณฑ์คล้ายคลึงกับเนื้อไก่ ปรุงเมนูอาหารได้หลากหลาย ในต้นทุนที่แข่งขันได้ ซึ่งวัตถุดิบล้วนคัดสรรมาจากเกษตรกรโดยตรง
ผอ.เอ็มเทคเผยอีกว่า ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อไก่จากโปรตีนพืช ได้แนวคิดมาจากโจทย์ที่ต้องการเพิ่มการใช้ประโยชน์ของใยอาหารที่ทางทีมวิจัยสกัดได้จากเปลือกส้มโอ ขณะเดียวกันทางทีมงานได้มองเห็นถึงกระแสการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์อาหารจากโปรตีนพืชในต่างประเทศ และมองเห็นโอกาสในการวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมอาหารในประเทศ ทีมวิจัยจึงได้ปรับเปลี่ยนจากการใช้วัตถุดิบที่ได้จากงานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการ มาใช้ส่วนประกอบหรือวัตถุดิบที่มีอยู่ และสามารถหาได้ในท้องตลาด มาออกแบบโครงสร้างของผลิตภัณฑ์ และกระบวนการในการผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อไก่จากโปรตีนพืชที่เสริมใยอาหาร มีรสชาติ และเนื้อสัมผัสที่คล้ายคลึงกับเนื้อสัตว์มากที่สุด ปรุงเป็นเมนูอาหารได้หลากหลาย แล้วยังมีราคาย่อมเยาสามารถเข้าถึงได้.