ในที่สุดความพยายามเปลี่ยนระบบการจัดเก็บค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติจากระบบเดิม ซึ่งเป็น “เงินสด” เพื่อไปสู่ระบบใหม่ที่เป็นอิเล็ก ทรอนิกส์ (E–ticket) ก็ประสบความสำเร็จ

เมื่อ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้จัดทำ “โครงการพัฒนาระบบการจำหน่าย บัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E–ticket) ในอุทยานแห่งชาติ” ขึ้นเพื่อต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บเงินรายได้และเป็นการลดภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการจองบัตรค่าบริการฯล่วงหน้า แค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน QueQ ซึ่งมีทั้งระบบ IOS และระบบ Android และเพิ่มช่องทางการชำระเงินผ่านทางบัตรเครดิต/เดบิต หรือชำระเงินผ่าน QR Code ใน Application ของธนาคารในประเทศไทย

ทั้งยังเป็นการควบคุมขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติ (Carrying Capacity : CC) ไม่ให้มีนักท่องเที่ยวมากเกินจนส่งผลกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบบ E-ticket คือการให้นักท่องเที่ยวจองคิวเข้าอุทยานฯล่วงหน้า พร้อมชำระเงินทันที เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและอำนวยความสะดวก ส่วนกรณีคนที่ไม่ได้จองและวอล์กอินเข้าอุทยานฯ หากนักท่องเที่ยวเต็มจำนวนแล้วก็ไม่สามารถรับเพิ่มได้

...

ที่สำคัญ ระบบ E–ticket ถือเป็นการเปิดเผยความโปร่งใสของการจัดเก็บเงินรายได้ของอุทยานฯให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้อีกด้วย

จากข้อมูลการจัดเก็บเงินรายได้อุทยานแห่งชาติในเดือน ส.ค.2565 เก็บได้ 52,482,195 บาท เพิ่มขึ้นกว่าในช่วง เดียวกันเดือน ส.ค.2564 ถึง 45,953,015 บาท หรือเพิ่มขึ้น 703.81% จำนวนนักท่องเที่ยวเดือน ส.ค. 685,210 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของเดือน ส.ค.2564 ถึง 567,007 คนหรือเพิ่มขึ้น 479.69% แต่ถ้านับจำนวนเงินจัดเก็บตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณเดือน ต.ค.2564 ถึง ส.ค.2565 จัดเก็บได้ 673,251,401.09 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน ต.ค.2563-ส.ค.2564 ถึง 229,947,483.75 บาท หรือเพิ่มขึ้น 80.35% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 ถึง ส.ค.2565 มี 10,986,458 คน เพิ่มขึ้นจาก เดือน ต.ค.2563 ถึง ส.ค.2564 ถึง 3,801,272 คน หรือเพิ่มขึ้น 52.90%

โดยอุทยานแห่งชาติที่จัดเก็บเงินสูงสุดตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 ถึง ส.ค.2565 คือ เขาใหญ่ หาดนพรัตน์ธารา–หมู่เกาะพีพี หมู่เกาะสิมิลัน เอราวัณและเขาแหลมหญ้า–หมู่เกาะเสม็ด

“สถิติการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ สามารถจัดเก็บเงินรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังโควิด–19 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นต่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในอุทยานมาก โดยขณะนี้อุทยานแห่งชาติทุกแห่งมีการบริหารจัดการแบบใหม่ มีการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ทั้งขยะ น้ำเสียตลอดจนความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ดังนั้น กรมอุทยานฯจึงได้พัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E– ticket) ในอุทยานแห่งชาติขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บเงินรายได้ และเป็นการลดภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องเสียเวลามานั่งตรวจบัตร ฉีกบัตร เพราะแต่เดิมใช้ระบบแบบตั๋วฉีกและชำระเงินเป็นเงินสด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ที่จัดเก็บเงินไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด และให้เจ้าหน้าที่ไปทำหน้าที่ป้องกันรักษาดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอุทยานแห่งชาติ” นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดเผยถึงที่มาของระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็ก ทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ

...

นอกจากนี้ ระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็ก ทรอนิกส์ (E-ticket) ยังช่วยแก้ปัญหาความปลอดภัยของ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวหรือพักแรม ซึ่งจะต้องได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อความปลอดภัยในขณะท่องเที่ยว เช่น การเที่ยวชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ต้องได้รับการแนะนำเรื่องการแต่งกายหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่เหมาะสม หรือหากประสบอุบัติเหตุระหว่างท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่อุทยานฯต้องมีความพร้อมในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี เป็นต้น

เพราะต้องไม่ลืมว่าในแต่ละอุทยานฯ มีเจ้าหน้าที่จำกัดและยังถูกแบ่งไปทำหน้าที่ต่างๆ ทั้งงานด้านป้องกัน ลาดตระเวน ดูแลนักท่องเที่ยว ประจำหน่วยกู้ชีพกู้ภัย ฯลฯ ไหนจะต้องมาทำหน้าที่เก็บเงินอีก ก็จะทำให้ประสิทธิภาพของอุทยานฯลดลงไป

...

“ระบบ E–ticket จะทำให้เกิดความชัดเจนในการท่องเที่ยวในอุทยานฯมากขึ้น เพราะระบบนี้จะมีการยืนยันตัวตนของนักท่องเที่ยว ทั้งวันเวลา เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ซึ่งเมื่อเข้ามาท่องเที่ยวในอุทยานฯจะสามารถติดตามตัวได้หากเกิดเหตุเช่นเดียวกับ Application การท่องเที่ยวอื่นๆ รวมทั้งความโปร่งใสของการจัดเก็บที่จะมีระบบรายงานผลจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละอุทยานฯ สถิติการจอง ข้อมูลผู้ประกอบการ รายงานประเภท บุคคล และยานพาหนะและยอดเงินแบบ Realtime โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯจะเปิดใช้งานระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E– ticket) ในอุทยานแห่งชาตินำร่อง จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา–หมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และอุทยานแห่งชาติเอราวัณ โดยเริ่มในเดือน ม.ค.2566 จากนั้นจะขยายไปทุกอุทยานแห่งชาติและวนอุทยานฯด้วย โดยระบบที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถรองรับการเปิดใช้งานในอุทยานฯ และวนอุทยานฯได้ทุกแห่ง” นายรัชฎา ระบุ

“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า การนำระบบ E-ticket มาใช้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบบเก่าไปสู่ระบบใหม่ที่ดีกว่า เพราะทำให้เกิดความโปร่งใส ทั้งสามารถจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

แต่สิ่งที่เราอยากจะฝากคือ นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ชอบท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ แต่ไม่คุ้นชินกับระบบ E-ticket เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไรจึงจะเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงระบบใหม่ได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

เพื่อให้อุทยานแห่งชาติที่เป็นสมบัติทางธรรมชาติของคนไทยทุกคนเข้าถึงได้อย่างแท้จริง.

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม

...