วิกฤติน้ำท่วมยังหนักทางภาคเหนือ อีสาน และกลาง จ.อุบลฯ อ่วม 17 อำเภอ จ.มหาสารคาม น้ำท่วมมหาวิทยาลัย 2 แห่ง ชาวชัยภูมิเริ่มขาดอาหารและน้ำดื่ม ที่ทุ่งบางระกำน้ำท่วมเกินความจุ “บิ๊กตู่” ลงตรวจ จ.เพชรบูรณ์ ส่วนพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจมบาดาลหลายจังหวัด ชาวชัยนาทป่วยโรคน้ำกัดเท้านับร้อยราย ส่วนชาว อ.บางบาล รวมตัวประท้วงขอระบายน้ำ ขณะที่ “ชัชชาติ” เร่งวางแผนระยะยาว 1 ปี ปลัด สธ.แจงตายสะสม 26 ศพ กรมอุตุฯแจ้ง 9-12 ต.ค. หลังฝนตกอากาศจะเย็นลง

ชาวบ้านหลายพื้นที่ยังทุกข์ระทมกับน้ำท่วมขังบ้านเรือนต้องย้ายไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว บางรายน้ำท่วมชั้น 1 ต้องย้ายขึ้นไปอยู่ที่ชั้น 2 เพื่อเฝ้าทรัพย์สินกลัวสูญหาย สภาพติดเกาะความเป็นอยู่แสนลำบาก เจ้าหน้าที่ลำเลียงอาหารและน้ำดื่มช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

...

อุบลฯอ่วมท่วม 17 อำเภอ

สถานการณ์น้ำใน จ.อุบลราชธานี ช่วงเช้าวันที่ 6 ต.ค. แม่น้ำมูลไหลท่วมถนนสถิตนิมานกาล เขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ ระดับน้ำสูงถึงหน้าอก เจ้าหน้าที่ปิดการจราจร ขณะนี้ จ.อุบลราชธานี น้ำท่วม 17 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อน 37,535 ครอบครัว อพยพหนีน้ำ 5,373 ครอบครัว จำนวน 16,369 คน พื้นที่เพาะปลูกถูกน้ำท่วม 195,328 ไร่ ถนนถูกน้ำท่วม 34 สาย วัด 51 แห่ง โรงเรียน 52 โรง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9 คน ส่วนระดับน้ำแม่น้ำมูลสูงขึ้นอีก 17 ซม. มีน้ำสูง 11.12 เมตร น้ำล้นตลิ่ง 4.12 เมตร

เตรียมเรือพายส่งลูกเรียน

ที่บ้านบึงอีเฒ่า หมู่ 5 ต.ศิลา อ.เมืองขอนแก่น พบว่าปริมาณน้ำเอ่อท่วมทั้งหมู่บ้าน ระดับน้ำสูงถึงหัวเข่า และมีแนวโน้มท่วมสูงขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านเร่งเก็บสิ่งของภายในบ้าน ด้านนางฝน จันศิริ อายุ 56 ปี ชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า ลำน้ำพองไหลเข้าท่วมหมู่บ้านมานาน 3 วันแล้ว ระดับน้ำสูงขึ้นต่อเนื่อง โชคดีที่บ้านมีเรือเตรียมเอาไว้ใช้ในยามที่ถูกน้ำท่วม เพราะต้องพายเรือออกไปส่งลูกไปเรียนหนังสือ ส่วนกระสอบข้าวเปลือก 50 กระสอบ และสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นขนขึ้นไปเก็บที่ชั้น 2 เรียบร้อยแล้ว ขณะที่นายประจวบ รักแพทย์ นายอำเภอเมืองขอนแก่น กล่าวว่า พื้นที่น้ำท่วม 11 ตำบล 65 หมู่บ้าน น้ำไหลมาจากลำน้ำพองและแม่น้ำชี ท่วมพื้นที่การเกษตรกว่า 3 หมื่นไร่ และท่วมถนนหลายสาย

กาฬสินธุ์เฝ้าระวังสูงสุด

สถานการณ์ระดับน้ำที่เขื่อนวังยาง อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ล่าสุดมีระดับน้ำอยู่ที่ 140.89 ม.รทก. (เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) จากระดับกักเก็บปกติ 137 ม.รทก. ยังคงปักธงสีแดงประกาศเตือนสถานการณ์ระดับน้ำอยู่ในภาวะวิกฤติและต้องเฝ้าระวังขั้นสูงสุด ขณะนี้สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ อ.ร่องคำ อ.ฆ้องชัย อ.กมลาไสย และ อ.เมืองกาฬสินธุ์ รวมทั้งสิ้น 22 ตำบล ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบความเสียหายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ส่งผลให้มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,772 ล้าน ลบ.ม.จากความจุระดับกักเก็บ 1,980 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 89 เปอร์เซ็นต์ และยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 208 ล้าน ลบ.ม.

ร้อยเอ็ดอพยพหนีน้ำชีทะลัก

น้ำชีเอ่อล้นจนพนังกั้นน้ำขาดน้ำไหล่ท่วมชุมชนปั้นอิฐแดง บ้านดินแดง 2 หมู่ 3 ต.ม่วงลาด อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด บางจุดน้ำท่วมสูงมิดหลังคาบ้าน และโรงปั้นอิฐ ชาวบ้านเร่งอพยพหนีน้ำไปอยู่ที่จุดพักพิงริมถนนสายร้อยเอ็ด-กาฬสินธุ์ น้ำไหลเชี่ยวระดับน้ำสูงขึ้นต่อเนื่อง น้ำชีล้นไหลเชี่ยวรุนแรงผ่าเข้ามากลางชุมชน และน้ำที่ไหลเชี่ยวเพิ่มระดับขึ้นตลอดเวลา ส่วนผู้สูงอายุและเด็กยังอยู่บนบ้านชั้น 2 รอความช่วยเหลือ

เกิดรอยรั่วพนังกั้นคลอง

ที่อ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน จ.มหาสารคาม น้ำล้นความจุและมีรอยรั่วของพนังกั้นคลองผันน้ำ ทำให้น้ำทะลักไปเอ่อท่วมถนนบายพาสหมายเลข 291 และท่วมข้ามถนนบายพาส ระดับน้ำสูงถึงหัวเข่า ขณะเดียวกันน้ำไหลท่วม ม.การกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตมหาสารคาม และ ม.ราชภัฏมหาสารคาม ทั้ง 2 แห่ง ระดับน้ำสูงถึงเอว นักศึกษาช่วยกันย้ายสิ่งของหนีน้ำ ส่วนลำห้วยคะคาง น้ำล้นเอ่อท่วมบ้านจัดสรร บ้านเอื้ออาทร ถนนจุฑางกูรคุ้มสามัคคี และโรงเรียนเทศบาลโพธิ์ศรี ระดับน้ำสูงขึ้นต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองมหาสารคามตั้งศูนย์บรรเทาทุกข์ และที่พักพิงชั่วคราวกับผู้ประสบอุทกภัยเมืองมหาสารคาม และโรงเรียนเทศบาลศรีสวัสดิ์วิทยา

...

ชัยภูมิท่วมนานกว่า 2 เดือน

ชาวบ้านที่หมู่ 7 บ้านท่าฉาง ต.ยางหวาย อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ บ้านเรือนถูกน้ำท่วมสูงมิดหัว เป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว ชาวบ้านใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก หลายครอบครัวต้องขนยายข้าวของ สัตว์เลี้ยง รถยนต์ และรถ จยย. ย้ายไปอยู่ที่สูง บางรายออกมากางเต็นท์ที่ริมถนนทางหลวง อ.คอนสวรรค์-อ.แวงน้อย ขาดแคลนอาหารแห้งและน้ำดื่มวอนเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ จ.บุรีรัมย์ น้ำท่วม ต.ชุมแสง อ.กระสัง ชาวบ้านเดือดร้อน 54 หลังคาเรือน

จูงควายหนีน้ำเลี้ยงริมถนน

จ.พิจิตร ระดับน้ำในแม่น้ำยมที่ไหลผ่าน อ.สามง่าม อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.บึงนาราง และ อ.โพทะเล สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีมวลน้ำจาก จ.พิษณุโลก ไหลมาสมทบและประกอบกับยังมีฝนตกในพื้นที่ น้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรหลายหมู่บ้านที่อยู่ติดสองฝั่งแม่น้ำยม ล่าสุด พ.ต.อ.กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ นายก อบจ.พิจิตร นำเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือขนของและอุปกรณ์การแพทย์ภายใน รพ.สต.วังลูกช้าง นำไปไว้ในที่สูง ส่วนที่บ้านเนินยุ้ง หมู่ 7 ต.รังนก อ.สามง่าม น้ำท่วมถนนเข้าหมู่บ้านความยาวกว่า 7 กม. ชาวบ้านอยู่ในสภาพติดเกาะถูกตัดขาดจากภายนอก และที่บ้านใหม่ หมู่ 6 และหมู่ 11 บ้านคลองสาลิกา ต.รังนก อ.สามง่าม น้ำท่วมคอกปศุสัตว์ของชาวบ้าน ทำให้ต้องย้ายทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยง เช่น กระบือ 15 ตัว และแพะจูงมาเลี้ยงข้างถนน

...

อ.บางระกำ ท่วมเต็มพื้นที่

ที่บ้านปากคลอง หมู่ 7 ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำอยู่ริมแม่น้ำยม มีน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชน เนื่องจากน้ำในแม่น้ำยมสายหลักและแม่น้ำยมสายเก่าที่มาบรรจบกันใต้ประตูระบายน้ำบางแก้ว มีปริมาณน้ำไหลผ่านมาอย่างต่อเนื่องและค่อนข้างแรง บ้านเรือนน้ำท่วมขังสูง ชาวบ้านใช้ชีวิตอย่างลำบาก ขณะที่น้ำที่หลากจาก จ.สุโขทัย เข้าทุ่งบางระกำโมเดล เจ้าหน้าที่ชลประทานเตรียมพื้นที่รองรับน้ำเหนือไว้จำนวน 265,000 ไร่ รับน้ำได้ 400 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีน้ำเหนือเข้าทุ่งบางระกำจำนวนมาก ทำให้ทุ่งบางระกำมีน้ำแล้ว 448.75 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 112 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 197,919 ไร่ นายชำนาญ ชูเที่ยง ผอ.โครงการชลประทาน จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า แม่น้ำยมระดับน้ำยังคง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคิดเป็นชั่วโมงละ 1 ซม.และยังไม่มีท่าทีจะลดลงแต่อย่างใด ทำให้พื้นที่รับน้ำทุ่งบางระกำโมเดลอาจต้องรับน้ำไว้ถึง 500 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 130 เปอร์เซ็นต์ของการกักเก็บ อาจกระทบให้น้ำล้นไปในพื้นที่นอกโครงการบางระกำโมเดล

“บิ๊กตู่” ลุยแก้น้ำท่วมเพชรบูรณ์

ต่อมาเวลา 12.30 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กทม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม พร้อมด้วยพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เดินทางลงพื้นที่ตรวจติดตามแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัย อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ทันทีที่ไปถึงท่าอากาศยานเพชรบูรณ์ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและอุทกภัยในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ตรวจเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือไปแล้ว ปัจจุบันยังพบว่าสถานการณ์ขณะนี้ชาวบ้านยังเดือดร้อนในหลายอำเภอเพิ่มเติมมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา

...

แม่น้ำปิงท่วมมิดหลังคา

จ.นครสวรรค์ แม่น้ำปิงล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนบ้านเกาะยม ต.ปากน้ำโพ อ.เมือง บ้านเรือน ร้านค้า ร้านอาหาร รวมหลายสิบหลังคาเรือนถูกน้ำท่วมสูงมิดหลังคา ชาวบ้านใช้เรือพายเป็นพาหนะ บางรายย้ายครอบครัวขึ้นมาอยู่เต็นท์ของเทศบาลนครนครสวรรค์ ที่จัดเตรียมไว้ให้เป็นการชั่วคราว ด้าน พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ พร้อมเจ้าหน้าที่นำรถแบ็กโฮ ขุดลอกผักตบชวาและวัชพืชที่ประตูน้ำบ้านท่าแรต หมู่ 1 ต.อ่างทอง อ.บรรพตพิสัย เพื่อเร่งการระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมขัง ทำให้พืชผลการเกษตรเสียหาย

เร่งระบายน้ำ 2,765 ลบ.ม./วินาที

สถานการณ์น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท กุญแจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำลงสู่ภาคกลาง พบว่าน้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาผ่านจุดวัดน้ำค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณน้ำฝนจากทางตอนบนประเทศวัดได้อัตรา 3,298 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาล่าสุดวัดได้ +17.59 เมตรระดับ น้ำทะเลปานกลาง ปรับอัตราการระบายน้ำขึ้นไปที่ 2,765 ลบ.ม./วินาที เพื่อรักษาสมดุลของน้ำเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน และเพื่อเร่งสร้างพื้นที่ว่างในลำน้ำเหนือเขื่อนรองรับมวลน้ำเหนือจะมีมากขึ้นทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อน ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นรายชั่วโมง

ป่วยน้ำกัดเท้าร่วม 100 คน

ส่วนชาวบ้านในชุมชนวัดมะปราง หมู่ 5 ต.โพนางดำออก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ต้องเผชิญน้ำท่วมสูงมิดหัวกว่า 1 สัปดาห์ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตบนชั้น 2 ของตัวบ้าน และใช้เรือสัญจรเข้าออก เฉพาะออกมาหาของกินของใช้ ทำให้เริ่มมีผู้ป่วยน้ำกัดเท้าร่วม 100 ราย มีตั้งแต่อาการหนักไปจนถึงเริ่มต้น ชาวบ้านมาขอยาที่ รพ.สต.วังสาคร เพื่อไปทาให้โรคน้ำกัดเท้าทุเลา ด้านนายชุมพล ฝูงใหญ่ รอง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปราจีนบุรี เขต 1 กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงเรียน 5 แห่ง พื้นที่ริมแม่น้ำปราจีนบุรี ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมชั้นล่างอาคารเรียนและสนามโรงเรียน ระดับน้ำสูงถึงเอว เจ้าหน้าที่เขตพื้นที่แจ้งให้โรงเรียนดูแลอุปกรณ์การเรียนการสอน และกำชับให้ดูแลเรื่องนักเรียนในช่วงน้ำท่วม อาจจะมีเด็กไปเที่ยวเล่นน้ำหรือสุ่มเสี่ยงอุบัติเหตุทางน้ำ

เดินลอยคอลุยไปทำงาน

ที่สะพานข้ามคลองบ้านสาย ถนนเส้น 309 อ่างทอง-อยุธยา เขตรอยต่อ ต.บางปลากด ต.บางเสด็จ ต.โรงช้าง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง น้ำเจ้าพระยาไหลทะลักคันดินเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในเขตรอยต่อ 3 ตำบลหลายร้อยหลังคาเรือน อย่างรวดเร็วและขยายวงกว้าง ด้านนายภานุวัตร ความตั้งใจ ชาวบ้าน เปิดเผยว่า น้ำพังข้ามคันดินเข้ามาท่วมหมู่บ้านในช่วงกลางคืนที่ผ่านมาและขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในช่วงเช้าตนไม่มีเรือต้องออกไปทำงาน นำเสื้อผ้าใส่กะละมังลอยคอออกมายังถนนแล้วเปลี่ยนชุดไปทำงาน ช่วงนี้อยากได้เรือใช้เดินทางเข้าออกบ้าน

มูลนิธิร่วมฯช่วยชาวบ้าน

นางรัตนา สมสกุลรุ่งเรือง ประธานมูลนิธิร่วมกตัญญู พร้อมด้วยหน่อย-อุษณียาภรณ์ ผลเจริญ รหัสดารา 29 และคณะ นำเครื่องอุปโภคบริโภคแจกชาวบ้าน 580 ครัวเรือนที่ชุมชนหมู่ 6 ต.บางปลากด อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง พร้อมมอบเงินให้ครอบครัวละ 500 บาท ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สมาคมกู้ภัยจังหวัดอ่างทอง พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง นำเรือท้องแบนไปรับนายสมบุญ พิมพิ์สุวรรณ อายุ 95 ปี ชาวบ้านใน ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก ออกจากบ้านพักไปพักชั่วคราวที่บริเวณที่ว่าการอำเภอป่าโมก

อุทัยฯท่วมถึงหน้าอก

จ.อุทัยธานี เกิดฝนตกหนักตั้งแต่ช่วงเช้า น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าท่วมพื้นที่ ต.เกาะเทโพ ต.หาดทะนง ต.ท่าซุง และต.สะแกกรัง อ.เมือง ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 300 หลังคาเรือน ถนนสายหลักน้ำท่วมสูง รถยนต์ขนาดเล็กวิ่งไม่ได้ ระดับน้ำสูงถึงหน้าอก ขณะที่เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเทโพร่วมกับกรมทหารราบที่ 4 กองพลทหารราบที่ 4 จัดกำลังพลชุดปฏิบัติการเข้าช่วยเหลือชาวบ้านขนย้ายสิ่งของ และอพยพออกจากพื้นที่ ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำสะแกกรังทะลักตลิ่งเข้าท่วมชุมชนสะพานยาว ชาวบ้านนำกระสอบทรายมากั้นน้ำเข้าบ้าน

ท้ายเขื่อนป่าสักระทึก

ที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.สระบุรี เจ้าหน้าที่เปิดระบายน้ำสูงถึง 800 ลบ.ม./วินาที เพื่อรองรับน้ำเหนือลงมาในอ่าง ส่งผลให้บ้านเรือนที่อยู่ด้านท้ายเขื่อน และริมตลิ่งแม่น้ำป่าสักน้ำท่วมสูง ชาวบ้านเร่งขนของขึ้นที่สูงที่สะพานคลองเพรียว (สะพานดำ) บ้านตะกรุด อ.เมือง ประชาชนใช้สัญจรข้ามไปมาระหว่างบ้านตะกรุด-ตลาดเทศบาลเมืองสระบุรี น้ำท่วมช่วงทางขึ้นสะพาน ประชาชนใช้รถด้วยความระมัดระวัง

“ลุงป้อม” โชว์ข้าวผัดน้ำพริกลงเรือ

ที่ อบต.กระแชง จ. ปทุมธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายก รัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ที่ท่วมบ้านเรือนประชาชน พร้อมให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน พล.อ.ประวิตรเดินเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและช่วงหนึ่งสวมผ้ากันเปื้อนโชว์ปรุงอาหารเมนูข้าวผัดน้ำพริกลงเรือ เพื่อนำไปแจกจ่ายเจ้าหน้าที่และผู้ประสบภัย จากนั้นเดินทางต่อมาที่ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ มีฝนตกโปรยปรายและนั่งรถกอล์ฟไปฟังรายงานสถานการณ์เปิดปิดประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จุดนี้ พล.อ.ประวิตร พูดคุยกับพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ว่า “ไม่มีอะไรนะครับ” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ตอบกลับว่า ไม่มีอะไรครับ ร่วมกันทำงาน

ชาวบางบาลรวมตัวประท้วง

นายศักราช อัมวงษ์ นายก อบต.เกาะเรียน ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมสมาชิกกลุ่มฟ้าใหม่ สมาชิก อบต.เกาะเรียน กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่ ต.เกาะเรียน เยี่ยมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง พร้อมหามาตรการป้องกันพื้นที่เกาะเรียนขั้นใน และพื้นที่ ต.คลองสวนพลูชั้นใน และป้องกันโซนเศรษฐกิจของพื้นที่ ใช้แท่งแบริเออร์กับเสริมคันดินกั้นน้ำไม่ให้ข้ามถนน ส่วนชาว อ.บางบาล อาศัยริมน้ำเจ้าพระยารวม 200 คน ประท้วงเรียกร้องให้กรม ชลประทานเปิดประตูระบายน้ำคลองบางกุ้ง อ.บางปะหัน หลังทนทุกข์น้ำท่วมบ้านมากว่า 3 เดือน ส่วนที่ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม มีนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผวจ.ปทุมธานี ให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปภาพรวมสถานการณ์ทั่วไปของ จ.ปทุมธานี พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบูรณาการทำงาน
แก้ปัญหาน้ำท่วมกันอย่างจริงจัง

เตรียมแผนรองรับยาว 1 ปี

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงาน ว่า ในที่ประชุมได้มีการรายงานการถอดบทเรียนสถานการณ์น้ำท่วมและการเตรียมการสำหรับปีต่อไป พื้นที่หลักไม่กังวล แต่จะมีปัญหาในชุมชนย่อย ให้ ผอ.เขตลงพื้นที่สำรวจและนำข้อมูลขึ้น GPS จัดทำแผนระยะยาว 1 ปี ให้เริ่มดำเนินการทันที รวมถึงตรวจสอบข้อมูลผ่านระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ เนื่องจากหลายสิ่งเปลี่ยนแปลงได้เพราะประชาชนไว้วางใจ จะเห็นว่าช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ประชาชนแจ้งเรื่องร้องเรียน 1.6 แสนราย ถ้าไม่ไว้วางใจคงไม่มีคนแจ้งเข้ามา ปัจจุบันสามารถแก้ไขแล้ว 9.6 หมื่นราย ต่อมาเวลา 14.00 น. นายชัชชาติเดินทางไปร่วมประชุมกับนายสุธี ทองแย้ม ผวจ.นนทบุรี เพื่อวางแผนการระบายน้ำร่วมกัน

ผู้เสียชีวิตสะสม 26 ศพ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. จนถึงปัจจุบัน พบผู้เสียชีวิตที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์น้ำท่วมสะสม 26 ราย สาเหตุจากถูกกระแสน้ำพัดขณะเดินเท้าหรือใช้รถ/เรือ และการจมน้ำถึง 23 ราย ขอให้ประชาชนยึดหลัก “4 ห้าม 4 ให้” 4 ห้ามได้แก่ 1.ห้ามหาปลาในช่วงน้ำไหลหลาก 2.ห้ามดื่มสุราแล้วลงเล่นน้ำ 3.ห้ามเดินผ่านหรือขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม 4.ห้ามเด็กลงเล่นน้ำ สำหรับ 4 ให้ ได้แก่ 1.ให้อพยพไปพื้นที่สูงและรีบออกจากพื้นที่เกิดน้ำท่วม 2.ให้สวมเสื้อชูชีพหรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำติดตัวไปด้วย 3.เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันเวลาฉุกเฉิน และ 4.ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

ป้องปรามโจรซ้ำเติมชาวบ้าน

พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ตำรวจทุกหน่วยทั่วประเทศหมั่นจัดกำลังออกตรวจช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่และกำชับให้จัดทีมเฝ้าระวังเพื่อดูแลความปลอดภัยในช่วงน้ำท่วม รวมถึงดูแลบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนที่ถูกทิ้งไว้ อย่าให้ใครมาซ้ำเติมปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มมิจฉาชีพที่มักจะฉวยโอกาสน้ำท่วมโจรกรรมทรัพย์สินและของมีค่าในบ้านเรือนประชาชน

หลังฝนตกอากาศจะเย็นลง

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ช่วงวันที่ 9-12 ต.ค.65 ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนอีกระลอก แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งเกิดขึ้นได้ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียสกับมีลมแรง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ข้อควรระวังในช่วงวันที่ 6-10 ต.ค.65 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย