พลาสติกทำจากโพลิเมอร์ที่ออกแบบมาให้แตกหักยากและมีสารเติมแต่งที่เพิ่มความทนทาน นั่นหมายความว่า พลาสติกประเภทนี้จะคงสภาพเดิมได้นานหลายปี หลายสิบปี หรือหลายร้อยปี กลายเป็นตัวสร้างปัญหาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของศตวรรษนี้ เพราะหากพลาสติกอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน ในที่สุดก็จะแตกตัวเป็นอนุภาคเล็กจิ๋วหรือเป็นไมโครพลาสติก ปัจจุบันพบอนุภาคเหล่านี้ทุกที่ในโลกตั้งแต่ทวีปแอนตาร์กติกา ในน้ำฝน ฯลฯ ก่อทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาด้านสุขภาพของมนุษย์
นักวิจัยมากมายก็พยายามพัฒนาวิธีจัดการกับขยะพลาสติก ซึ่งทุกวันนี้ก็มีอยู่หลายรูปแบบ แต่เมื่อเร็วๆนี้ นักชีววิทยาระดับโมเลกุลจากสภาวิจัยแห่งชาติสเปน รายงานว่า ค้นพบการย่อยสลายพลาสติกโดยอาศัยตัวอ่อนหรือหนอนผีเสื้อกลางคืน Galleria mellonella ที่จะกินไขหรือขี้ผึ้ง กินเกสรดอกไม้และน้ำผึ้ง หนอนชนิดนี้ถือเป็นศัตรูของคนเลี้ยงผึ้งเช่นกัน เพราะบางครั้งหนอนพวกนี้ก็กินตัวอ่อนของผึ้งด้วย นักวิจัยอธิบายว่ามีเอ็นไซม์ 2 ชนิดในน้ำลายของ Galleria mellonella ที่กระตุ้นปฏิกิริยาทางชีวเคมีและสามารถทำลายพลาสติก
และจากการทดสอบเอ็นไซม์ 2 ชนิดของหนอนผีเสื้อกลางคืน Galleria mellonella กับพลาสติกโพลีเอทิลีน (polyethylene) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดในโลก และเป็นพลาสติกที่ก่อปัญหา ก็พบว่าโพลีเอทิลีนถูกย่อยสลายได้อย่างรวดเร็วและที่อุณหภูมิห้อง.