วันนี้ผู้คนทั่วโลกต่างตระหนักมากขึ้นแล้วว่า ผลจากภาวะโลกร้อนด้วยน้ำมือของมนุษย์ ส่งผลร้ายได้มากแค่ไหน การจับมือกันอย่างจริงจังจึงเกิดขึ้นเพื่อคืนความสมดุลให้กับโลกมากที่สุด โดยเป้าหมายที่กำลังจะเดินไปร่วมกันคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) และการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกพูดถึงอย่างมาก แต่ไม่ว่าจะอย่างไร โลกใบนี้ก็ยังต้องการคำตอบที่เป็นรูปธรรม

คำตอบเพื่อคืนความสมดุลให้กับโลก

ที่ผ่านมา มนุษย์ใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนา และตอบสนองการบริโภคในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง นำมาสู่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อสังคมโลก จึงถึงเวลาแล้วที่จะคืนความสมดุลกลับไปเพื่อให้เราในวันนี้ และลูกหลานในวันหน้า โดย 2 ทางออกหลักที่เป็นความร่วมมือกันทั่วโลกคือเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero Emission

Net Zero Emission หมายถึง ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโลก มีความสมดุลเท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งหากสร้างภาวะสมดุลได้ก็เท่ากับว่าเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกินที่เป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนได้

เช่นเดียวกับความพยายามในการสร้าง Carbon Neutrality ที่หมายถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศให้เท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่า รวมถึงวิธีการอื่นๆ ที่มีผลลัพธ์ร่วมกัน

โดยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญา สหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP 26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ที่ผ่านมา ผู้แทนจากกว่า 200 ประเทศทั่วโลกได้ร่วมสร้างพันธสัญญา ทั้งการร่วมกันทำให้การปล่อยมลพิษสุทธิทั่วโลกให้เป็นศูนย์ ภายในกลางศตวรรษ เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ในรายละเอียดยังจะได้ร่วมผลักดันให้แต่ละประเทศเสนอแผนยกเลิกการใช้ถ่านหิน การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า การใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงการควบคุมการตัดไม้ทำลายป่าให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังจะร่วมกันผลักดันให้เกิดการร่วมมือกันของทั้งภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม อย่างจริงจัง พร้อมกับร่วมกันฟื้นฟูระบบนิเวศที่ได้รับความเสียหาย ปกป้องชุมชนและสภาพแวดล้อมที่เกิดจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ จะเกิดการระดมทุน โดยประเทศที่พัฒนาแล้วได้ให้คำมั่นในการมอบเงินจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน

โดยประเทศไทยเองได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะบรรลุเป้าหมาย ด้วยการยกระดับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และ บรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ภายในปี ค.ศ. 2065 ขณะเดียวกัน ก็สร้างความร่วมมือกันในประเทศมากขึ้น และด้วยกลไกกรอบอนุสัญญาฯ ประเทศไทยยังพร้อมจะยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ขึ้นเป็นร้อยละ 40 ซึ่งจะทำให้ Net Zero Emission ของไทย เป็นไปได้ภายในปี 2050 อีกด้วย

การเดินของประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

การร่วมมือกันของทั้งภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม อย่างจริงจัง เป็นสิ่งที่ทั่วโลกหวังจะได้เห็นสิ่งนี้อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับประเทศไทยแล้ว หลายภาคส่วนขานรับเรื่องนี้อย่างมุ่งมั่น และหลายองค์กรระดับประเทศก็ขับเคลื่อนนโยบายอย่างชัดเจน เช่น กลุ่ม ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ก็พยายามอย่างเต็มความสามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายที่สำคัญดังกล่าว

ความน่าสนใจคือ กลุ่ม ปตท. มีความตั้งใจที่จะเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถบรรลุผลให้เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ ตั้งเป้าหมายพร้อมมุ่งสู่ Carbon Neutrality ในปี 2040 และ Net Zero Emissionในปี 2050 โดยกำหนดทิศทางกลยุทธ์ การลงทุนระยะยาว ตลอดจนแผนวิสาหกิจเพื่อเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยได้กำหนด “กลยุทธ์การดําเนินงานมุ่งสู่ Net Zero 3P” (3P Decarbonization Pathways) ได้แก่

  • Pursuit of lower emissions คือ เป้าหมายที่จะดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด ซึ่งประกอบด้วยการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CSU) การใช้พลังงานทดแทน การใช้พลังงานไฮโดรเจน การดำเนินโครงการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ จนถึงการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยคาร์บอนเครดิต

  • Portfolio transformation ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน โดยเชื่อมโยงกับเป้าหมายการสร้างการเติบโตจากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต และเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทน

  • Partnership with Nature and Society ว่าด้วย “Reforestation” การเพิ่มปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ รวมถึงกักเก็บก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีธรรมชาติ ผ่านการปลูกป่าและบำรุงรักษาป่าไม้ รวมถึงพื้นที่สีเขียวทั่วประเทศ ร่วมกับชุมชนและภาครัฐ ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. วางเป้าหมายที่จะปลูกป่าทดแทนเพื่อช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น จากเดิมปลูกไปแล้ว 1 ล้านไร่ ก็จะปลูกเพิ่มอีก 2 ล้านไร่ และคาดว่าจะดูดซับ Carbon ได้ถึง 4 ล้านตันต่อปี

การเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังของ ปตท. นับเป็นตัวอย่างของการขยับตัวอย่างจริงจังจากภาคธุรกิจ ที่หวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการพาประเทศไทยเดินหน้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้จริง ลองหลับตาแล้วจินตนาการว่า หากทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกประเทศทั่วโลก จับมือกันทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะยิ่งใหญ่เพียงใด