- ศาสนาเต๋ากับความเชื่อ "เทศกาลกินเจ" ของชาวจีนโพ้นทะเลในอาเซียน
- อั้งยี่ กับ ต้นกำเนิดเทศกาลกินเจ ที่ภูเก็ต ภายหลังแพร่หลายไปยัง มาเลเซีย สิงคโปร์
- วัฒนธรรมการกินเจในประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ มีความคล้ายคลึง แทบไม่แตกต่างกัน
เป็นที่ทราบกันดีว่าในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยจะมีเทศกาลของชาวจีนโพ้นทะเลที่สำคัญอยู่เทศกาลหนึ่ง นั่นก็คือ "เทศกาลกินเจ" หากเราย้อนประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่บันทึกไว้จะพบว่า ประเทศไทยเป็นต้นกำเนิดของเทศกาลนี้ และต่อมาได้แพร่หลายไปในชุนชนของชาวจีนโพ้นทะเลต่างๆ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น
โดยพบว่า กิจกรรม และพิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลนี้มีทั้งความคล้ายคลึง และแตกต่างกันในบางส่วน แต่โดยมากมักจะยึดหลักและปฏิบัติตามความเชื่อของศาสนาเต๋า หรืออาจจะมีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของศาสนาพุทธแบบมหายานเข้าไปด้วย
ประเทศไทยมีศาสนสถาน หรือ โรงเจ ที่จัดกิจกรรมกินเจอยู่มากมาย ในทุกๆ ปี เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ตามจันทรคติจีน จะมีการถือศีลกินเจขึ้น โดยความสำคัญของเทศกาลนี้คือ ความเมตตา งดเว้นการเบียดเบียนชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ถือเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่งของสังคมในปัจจุบัน
...
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง วิทยาลัยจีนศึกษา มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จึงได้ร่วมกับสมาคมวัฒนธรรมศาสนาเต๋าแห่งฮ่องกง ศาลเจ้านำเหยามาโจ้วประเทศไทย และศาลเจ้าฮั่วกวงกรุงเทพฯ จัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง ศาสนาเต๋ากับความเชื่อเทศกาลกินเจของชาวจีนโพ้นทะเลในอาเซียน
ความเชื่อในศาสนาเต๋า
หัวใจของศาสนาเต๋าคือ "คำสอน" ความเชื่อในศาสนาเต๋าจะต้องรู้ที่มาที่ไป ไม่เชื่ออะไรที่ไม่มีที่มา ไม่เช่นนั้นแล้วจะเป็นการหลงงมงาย และคนส่วนมากเมื่อไปศาลเจ้ามักจะขอพรเพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข
จริงๆ แล้วในศาสนาเต๋า มีอักษรประกอบกัน 2 ตัว คือ เต้าเจี้ยว โดย "เต้า" คือ วิถีทาง ส่วน "เจี้ยว" คือ การสั่งสอน ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าศาสนาใดก็ตามจะต้องการสั่งสอน มีแนวทางในการปฏิบัติ เช่นเดียวกับ วัฒนธรรมการกินเจ ก็มีที่มาที่ไป
ในศาสนาเต๋าจะมีองค์เทพสำคัญ 3 พระองค์ หรือที่เรียกว่า "สามบริสุทธิ์" ถือเป็นปรมาจารย์สูงสุดของศาสนาเต๋า ได้แก่ หยวนสื่อเทียนจุน, หลิงเป่าเทียนจิน และ ไท่เสียงเหล่ากุง
โดยเทศกาลกินเจนั้น จะเกี่ยวข้องกับองค์เทพหลักๆ คือ เต๋าบ้อหง่วงกุง หรือพระมารดาแห่งดวงดาว เป็นเทพสตรีองศ์สำคัญในทางลัทธิเต๋า, เทพเจ้าดาวเหนือ 9 องค์ ควบคุมการตาย และ เทพเจ้าดาวใต้ 6 พระองค์ ควบคุมบัญชีการเกิด อาจเรียกได้ว่า เทศกาลกินเจ เป็นการบูชาดวงดาว เพราะเชื่อว่า กลุ่มดาวมีอิทธิพลต่อความเป็นไปของมนุษย์
ตามความเชื่อศาสนาเต๋าของจีน มองว่า "ดาวปักเต้า" หรือที่คนไทยเรียกว่ากลุ่มดาวจระเข้ มีดวงดาวสุกสว่าง 7 ดวง และมีอีก 2 ดวงซ่อนอยู่ คือ นพราชา เป็นตัวแทนของเทพเจ้าที่จะลงมาจุติบนโลกมนุษย์เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ในแต่ละยุคสมัยของจีน เมื่อนำไปโยงกับกลุ่มดาวทั้ง 9 ที่เรียงตัวกันในเทศกาลกินเจ จึงทำให้ในช่วงเทศกาลนี้มีการถือศีล และบูชาเทพเจ้า
ทั้งนี้ ตามวัฒนธรรมจีนจะแบ่งช่วงเวลาตามสภาพอากาศ ซึ่งในทุกช่วงเวลาจะมีการขอพรกับเทพเจ้า เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าธรรมชาติเป็นอย่างไร ในศาสนาเต๋าจึงมีการบูชา เต๋าบ้อ เพื่อให้ท่านมาช่วยขจัดเภทภัยต่างๆ หรือ แก้ดวงชะตา
ดังนั้น การทำพิธีสักการะเทพเจ้าต่างๆ มีหลักคือ 1. ต้องรู้จักที่มาที่ไปของเทพเจ้า 2. วิธีการสอนสั่ง เราต้องนำสั่งที่ท่านสอนไปปฏิบัติ ไม่ใช่แค่ขอพรเท่านั้น นี่คือหัวใจของการไหว้เจ้าตามหลักศาสนาเต๋า
...
อั้งยี่ กับ เทศกาลกินเจในประเทศไทย
สำหรับภาพรวมความเชื่อเรื่องเทศกาลกินเจในแถบอาเซียนนั้น ความเชื่อในเรื่องของศาสนา ประเพณี ระหว่างชาวจีนและชาวไทยค่อนข้างแตกต่างกัน เช่นเดียวกับความเชื่อในเรื่องถือศีลกินเจก็มีความแตกต่างกันหลายประการ โดยทางจีนจะประกอบไปด้วย จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และมาเก๊า
ส่วนความเชื่อเรื่องการถือศีลกินเจ ในฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มีประวัติศาสตร์ยาวนานประมาณเกือบ 200 กว่าปีแล้ว โดยมีต้นกำเนิดจากประเทศไทย ใน จ.ภูเก็ต มีการก่อสร้างศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยขึ้นมา ซึ่งจากหลักฐานมีอายุประมาณ 100 กว่าปี
แต่หากถามว่า ในเมื่อศาลเจ้าเจ้าจุ้ยตุ่ยมีอายุ 100 กว่า แต่ทำไมประวัติศาสตร์กินเจเข้ามาภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ 200 กว่าปี
เริ่มแรกชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมานั้น ได้มาทำเกี่ยวกับแร่ดีบุกมีอุดมการณ์ "โค่นล้มราชวงศ์ชิง กอบกู้ราชวงศ์หมิง" ที่เรียกว่า "อั้งยี่" ได้ก่อสร้างศาลเจ้าขึ้นเพื่อใช้ในการติดต่อส่งข่าวการ "โค่นชิงฟื้นหมิง" ซึ่งเป็นเรื่องลับไม่สามารถเปิดเผยได้ รวมทั้งเพื่อสืบงานต่างๆ
เมื่อถึงเทศกาลกินเจ จะสังเกตได้ว่าที่ด้านหน้าของศาลเจ้าจะมีป้ายกลอนคู่ เขียนเป็นภาษาจีนที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะวิธีการอ่านนั้นซับซ้อน ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นรหัสลับที่ใช้กันภายในเกี่ยวกับการกอบกู้ราชวงศ์หมิง
...
ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมการถือศีลกินเจจึงแพร่เข้ามาด้วย ต่อมาจึงมีการก่อสร้างศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยขึ้นมาใน จ.ภูเก็ต จากนั้นวัฒนธรรม การถือศีลกินเจจึงแพร่ไปยังปีนัง มาเลเซีย แพร่ต่อไปยัง สิงคโปร์ และ อินโดนีเซีย แล้วจึงค่อยๆ แพร่หลายไปตามภูมิภาคแถบนี้ ทำให้วัฒนธรรมการถือศีลกินเจของไทยและมาเลเซียค่อนข้างเหมือน ไม่ค่อยแตกต่างกันมาก
แม้ว่าเทศกาลถือศีลกินเจในปัจจุบันจะไม่มีเรื่องกอบกู้หมิงแล้ว แต่วัฒนธรรม ประเพณีการถือศีลกินเจยังคงอยู่ ซึ่งหลายคนก็ได้เข้าร่วมการกินเจด้วยจุดประสงค์ที่หลากหลาย บางคนงดเนื้อสัตว์และถือศีลเพื่อสร้างบุญกุศล ขณะที่บางคนงดเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพ แต่ใดๆ การเลือกรับประทานอาหารเจ จะต้องถูกต้องถามหลักโภชนาการ ควรจะบริโภคโปรตีนทดแทนจากเต้าหู้ ถั่วเมล็ดแห้งอย่างเพียงพอ ไม่มากหรือน้อยเกินไปนั่นเอง.
ผู้เขียน : J. Mashare
กราฟิก : Varanya Phae-araya