ทั่วโลกต่างมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปในแนวทางที่เรียกว่า BCG Economy Model ที่ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy), เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลก ซึ่งประเทศไทยก็ขานรับเรื่องนี้ และมีหลายองค์กรเดินตามแนวทางนี้อย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้น คือ Café Amazon ที่เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรที่ลงมือทำอย่างตั้งใจจริง

เศรษฐกิจและสังคมเพื่อโลกสีเขียว

BCG Economy Model นับเป็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ไปพร้อมกับคืนความสมดุลให้กับโลกได้มากที่สุด โดยยึดหลัก “เศรษฐกิจชีวภาพ” (Bio Economy) ที่เน้นการนำความรู้ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และต้นทุนความหลากหลายทางชีวภาพมาเป็นตัวขับเคลื่อน “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ที่เน้นใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบต่างๆ อย่างรู้คุณค่าตลอดวัฏจักรชีวิต รวมถึงนำวัสดุเหลือทิ้งมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ จนถึง “เศรษฐกิจกิจสีเขียว” (Green Economy) ที่เน้นการสร้างผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน

วันนี้ Café Amazon ซึ่งดำเนินธุรกิจโดย โออาร์ เป็นตัวอย่างหนึ่งขององค์กรที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยแนวทางของ BCG Economy Model ได้เป็นรูปธรรมอย่างมาก รวมถึงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นแบบอย่างของร้านกาแฟที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Coffee Shop) ในวันคุ้มครองโลก ปี 2565 โดยไม่เพียงชูความเป็นร้านกาแฟรักษ์โลก ตอบโจทย์ BCG Economy ยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการบริโภควิถีใหม่ ผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยแนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”

บอกรักโลกในแบบ Café Amazon

ไม่เพียงสร้างความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นร้านกาแฟที่มีสาขามากเป็นอันดับที่ 6 ของโลกเท่านั้น ในด้านการขับเคลื่อนธุรกิจ Café Amazon ยังได้ชื่อว่าเป็นร้านกาแฟที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ก่อนที่กาแฟหรือเครื่องดื่มแก้วโปรดสักแก้วจะถูกส่งตรงถึงมือผู้บริโภค 

จากเรื่องเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ที่เราสัมผัสได้ทุกครั้งที่เดินเข้าไปในร้านกาแฟ Café Amazon อย่างการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แก้ว และวัสดุต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไล่เรียงย้อนกลับไปถึงกระบวนการทำงานต่างๆ ที่ต้นทาง ทั้งหมดล้วนดำเนินและขับเคลื่อนผ่าน BCG Economy ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น

เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) 

ไม่เพียงการเพาะปลูกที่ยึดหลัก Bio Economy ไม่ใช้สารเคมี เน้นใช้ความรู้เพื่อเพิ่มมูลค่าที่ต้นน้ำเท่านั้น แต่ปัจจุบันที่ปลายน้ำ แก้วสำหรับเครื่องดื่มร้อนในร้านกาแฟ Café Amazon ล้วนทำจากกระดาษเคลือบไบโอพลาสติก PBS ที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยการฝังกลบประมาณ 180 วัน ที่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างมีประโยชน์และคุณค่าตามแนวทางของเศรษฐกิจชีวภาพเช่นกัน นอกจากนี้หลอดที่ใช้ในร้าน รวมถึงแก้วสำหรับเครื่องดื่มเย็นบางส่วน ก็ทำจากพลาสติก PLA ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) 

การใช้วัตถุดิบอย่างรู้คุณค่าเป็นส่วนหนึ่งของการเดินไปข้างหน้าเพื่อสร้างความยั่งยืนที่แท้จริง เรื่องน่าสนใจคือ Café Amazon ได้นำเอาวัสดุเหลือใช้มาผลิตเป็นสินค้า (Upcycling) ได้อย่างน่าทึ่ง อย่างเครื่องแบบพนักงานที่ใช้อยู่ก็เป็นส่วนหนึ่งจากการนำพลาสติก PET จากขวดน้ำ มาย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วผ่านการให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 180-220 องศาเซลเซียสเพื่อหลอมละลายและขึ้นรูปเป็นเส้นใยรีไซเคิลส่งไปโรงทอ ตัดเย็บเป็นเสื้อพนักงาน ผ้ากันเปื้อน และนำมาผลิตเป็นชุดโซฟา อีกทั้งยังถูกมาขึ้นรูปเป็นเส้นใย Non-woven เพื่อตัดเย็บเป็นกระเป๋าและที่รองแก้วอีกด้วย 

นอกจากนี้ ถุงฟอยล์บรรจุเมล็ดกาแฟ ที่เหมือนจะสูญเปล่า ก็ยังถูกนำมาตัดและบดอัดขึ้นรูปเป็นแผ่น Eco-Board เพื่อใช้สำหรับเป็นผนังตกแต่งภายในร้าน หรือแม้แต่เยื่อหุ้มเมล็ดกาแฟ เมล็ดกาแฟ ที่มีถึงปีละประมาณ 50 ตัน ยังกลายมาเป็นโต๊ะ เก้าและชั้นวางของ ภายในร้าน โดยนำมาอบไล่ความชื้น แล้วนำมาผสมกับเม็ดพลาสติก ขึ้นรูปเป็นแผ่น แล้วประกอบอุปกรณ์ที่แข็งแรงทนทาน เป็นต้น

เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) 

การเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง ไม่เพียงการจัดการขยะอย่างเปลือกกาแฟให้เกิดประโยชน์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงจัดการของเสียจากกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ และบำบัดน้ำเสียจากการแปรรูปกาแฟอีกด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของ โออาร์ ที่มุ่งเน้นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) 

สิ่งที่ Café Amazon ทำอยู่ในวันนี้ น่าสนใจอย่างมาก และนับเป็นตัวอย่างที่ดีที่ช่วยยืนยันว่า หากลงมือทำอย่างจริงจัง ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้นได้ และในฐานะที่ ร้านกาแฟ Café Amazon ดำเนินธุรกิจโดย โออาร์ ซึ่งให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการของธุรกิจ ทั้งเน้นการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ก็ยังจะมีส่วนอย่างมากในการช่วยให้การเดินหน้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030 เกิดขึ้นได้จริงด้วย

แต่เหนืออื่นใด การลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง ยังนับเป็นส่วนสำคัญของการผลักดันให้เกิดการผลิตและการบริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมให้ผู้บริโภคร่วมตระหนักถึงเรื่องนี้ และผลดีที่สุดก็จะตกไปถึงโลกที่เรารักอย่างยั่งยืน