พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า จำนวนผู้ป่วยจิตเวชมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อาทิ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นจาก 30,247 คน ในปี 2562 เป็น 33,891 คน ในปี 2564 เป็นไปตามแนวโน้มเดียวกับสถานการณ์ทั่วโลก ส่วนหนึ่งเกิดจากวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ในส่วนของประเทศไทยนั้น สธ. ได้ทำงานเชิงรุกสร้างเครือข่ายคัดกรองค้นหากลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยทางจิตเวชเพิ่มขึ้น เพื่อเข้าถึงบริการ แต่ยังคงมีข้อห่วงใยจากหลายภาคส่วนถึงความพร้อมการตรวจรักษา ที่ต้องเร่งขยายศักยภาพและเพิ่มพูนคุณภาพมากขึ้น ไม่เพียงเฉพาะการเปิดบริการหอผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มเติมใน โรงพยาบาล 30 แห่งทั่วประเทศเพื่อรองรับการรักษาและส่งต่อร่วมกับโรงพยาบาลทางจิตเวชที่มีอยู่ 20 แห่ง ยังได้ประสานงานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อผลักดันยาจิตเวชที่จำเป็นเข้าสู่บัญชียาหลักเพิ่มเติม รวมทั้งพิจารณาหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมถึงการรักษาที่ทันสมัย ทั้งที่หน่วยรักษาพยาบาลและในชุมชนด้วย

พญ.อัมพรกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีจิตแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัด สธ. 325 คน ส่วนบุคลากรด้านสุขภาพจิตสาขาอื่นๆ เช่น พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา ในโรงพยาบาลสังกัด สธ.มีถึง 2,838 คน ถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียด้วยกัน มีการเร่งฝึกอบรมเพิ่มขึ้นในแต่ละปีสำหรับแพทย์ทั่วไปบุคลากรสาธารณสุขเหล่านี้ให้การดูแลผู้ป่วย ทั้งในโรงพยาบาล และทำงานเชิงรุกเพื่อส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตร่วมกับเครือข่ายอื่นๆนอกระบบสุขภาพ ช่วยค้นหาผู้ป่วยพบระยะแรกเริ่ม นอกจากนี้ครอบครัวและคนใกล้ชิดเป็นกลุ่มคนสำคัญที่จะช่วยสังเกตอาการและช่วยเหลือเบื้องต้นได้ โดยใช้หลักการ 3 ส. สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อมโยง.

...