เครื่องใช้ไฟฟ้า คือ สิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน แต่อันตรายที่เกิดจากเครื่องใช้ไฟฟ้าสามารถทำให้ถึงแก่ชีวิต PEA แนะนำให้ติดตั้ง RCD เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
เครื่องตัดไฟรั่ว RCD (Residual Current Device) คือ เครื่องตัดไฟฟ้าอัตโนมัติที่จะตัดวงจรเมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านสายเฟสและสายนิวทรัลมีค่าไม่เท่ากัน
ประโยชน์ของเครื่องตัดไฟรั่ว
1. ใช้เพื่อป้องกันอันตรายต่อบุคคลจากการถูกไฟฟ้าดูด
2. ใช้เพื่อป้องกันอัคคีภัยที่อาจเกิดจากไฟฟ้ารั่วในวงจรไฟฟ้าหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า
3. ใช้เพื่อตรวจสอบว่ามีจุดใดกระแสไฟฟ้ารั่วลงดิน จะได้แก้ไขต่อไป
เครื่องตัดไฟรั่วมีทั้งหมด 2 ชนิด
1. RCBO (Residual current circuit breaker with overcurrent protection) : สามารถใช้ตัดวงจรได้ทั้งกรณีเกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว, กระแสไฟฟ้าเกิน และกระแสไฟฟ้าลัดวงจร
2. RCCB (Residual current circuit breaker) : สามารถใช้ตัดวงจรได้เฉพาะกรณีเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วอย่างเดียว จึงมักต้องติดตั้งร่วมกับฟิวส์ หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์เสมอ
ตำแหน่งในการติดตั้งใช้งาน
1. ติดตั้งที่แผงเมนสวิตช์ เช่น ติดตั้ง RCBO แทนเซอร์กิตเบรกเกอร์เมน กรณีนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอัคคีภัยเป็นหลัก
2. ติดตั้งที่วงจรย่อย เช่น ติดตั้ง RCCB กรณีนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอันตรายต่อบุคคลจากการถูกไฟฟ้าดูดเป็นหลัก
เครื่องตัดไฟรั่วต้องเป็นไปตามข้อกำหนดดังนี้
1. ต้องผลิตและผ่านการทดสอบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เครื่องตัดไฟรั่วชนิด RCBO มอก. 909-2548 หรือ เครื่องตัดไฟรั่วชนิด RCCB มอก. 2425-2552
2. ต้องมีพิกัดกระแสไฟฟ้ารั่วไม่เกิน 30 มิลลิแอมแปร์ เพื่อป้องกันอันตรายต่อบุคคลจากการถูกไฟฟ้าดูด
3. ต้องติดตั้งร่วมกับสายดิน เพราะสายดินจะช่วยนำไฟฟ้าที่รั่ว ไหลลงดินโดยไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อคนที่สัมผัส และช่วยให้อุปกรณ์ป้องกันกระแสเกิน (เซอร์กิตเบรกเกอร์) รวมทั้ง RCD สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ติดตั้งในวงจรย่อยที่มีความเสี่ยง เช่น บริเวณที่เปียกชื้น ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ห้องครัว ห้องใต้ดิน วงจรไฟฟ้าภายนอกอาคาร รวมถึงวงจรย่อยสำหรับ เครื่องทำน้ำอุ่น/อ่างอาบน้ำ
5. RCD ต้องมีพิกัดกระแสไม่น้อยกว่า พิกัดกระแสของเครื่องป้องกันกระแสเกิน
6. ต้องเป็นชนิดที่ปลดสายไฟทุกเส้นออกจากวงจร รวมทั้งสายนิวทรัล ยกเว้นสายนิวทรัลนั้นมีการต่อลงดินโดยตรงแล้ว
7. กรณีต้องการป้องกันอัคคีภัย อาจติดตั้ง RCD ที่ตำแหน่งหลังจากเซอร์กิต เบรกเกอร์เมน โดยเลือก RCD ขนาดพิกัดกระแสรั่วมากกว่า 30 mA (เช่น 100 mA หรือ 300 mA) และควรเป็นชนิดหน่วงเวลา (type S)
8. ควรตรวจสอบการทำงานของ RCD อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุก 6 เดือน โดยกดที่ปุ่มทดสอบการทำงาน (Test Button) ที่ RCD
ข่าว : กองสื่อสารองค์กร ฝ่ายประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค