“น้ำตาคนอยุธยา...” นาข้าวของคุณสุภาวดี ภาคธรรม หรือผู้ใหญ่กุ้ง ต.บ้านกรด อ.บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตายยกแปลง 20 กว่าไร่ เนื่องจากการปล่อยน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดจากหมู่บ้านใกล้เคียง ทั้งที่ช่วงสองเดือนที่ผ่านมายังเจริญเติบโตดี

สำนักงานเกษตรจังหวัดมาตรวจดินมีค่าความเป็นกรดอย่างแรง pH เท่ากับ 4 พบมีท่อน้ำเสียปล่อยลงนาข้าว อาศัยช่วงที่ฝนตกหนักจึงปล่อยน้ำเสียมาพร้อมกับน้ำฝน ตรวจสอบหมู่บ้านใกล้เคียงมีบ่อบำบัดน้ำเสียแต่ไม่ได้เดินระบบกลายเป็นบ่อพักน้ำเสียของหมู่บ้าน

เมื่อร้องเรียนไปเทศบาลและศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกลับเงียบเฉย ประชาชนจึงส่งเรื่องให้ช่อง 7 สีลงไปตรวจสอบก็พบท่อน้ำเสียและนาข้าวตายยกแปลง...ชาวบ้านอยุธยาน่าสงสารน้ำท่วมบ้านแล้วยังนาล่มจากความมักง่ายของนายทุนอีก นี่คือหนึ่งในภาพสะท้อนเล็กๆช่วงน้ำท่วม

ตัดอารมณ์ต่อเนื่องด้วยภาพสะท้อนคุณภาพชีวิตกับความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน...เมื่อน้ำท่วม “คุณบุญเรือง” เจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธาที่ทุ่มเทเสียสละมุดท่อระบายน้ำในซอยรามอินทรา 21 เพื่อเก็บขยะอุดตันและคราบไขมันที่เป็นก้อนเพื่อแก้ไขการอุดตันอันเป็นต้นเหตุทำให้เครื่องสูบน้ำทำงานไม่เต็มที่

...

และ...ยังลงภาพด้วยว่า “พี่บุญเรืองมุดท่ออีกแล้ว” แสดงว่าทำมาหลายครั้งเป็นภาพที่มีแต่คนชื่นชมรวมทั้งผู้บริหาร กทม.ด้วย

“น้ำ” ใน “ท่อระบายน้ำ” เป็นน้ำที่ปนเปื้อนด้วยขยะและสิ่งปฏิกูล ดังนั้น จึงมีทั้งเชื้อโรค เชื้อโคริฟอร์มแบคทีเรีย เชื้อรา E.coli ฉี่หนูหรือเชื้อเลปโตสไปโรซิสและสารพิษต่างๆที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ เช่น เชื้อราขึ้นสมอง เชื้อในกระแสโลหิต

ดังนั้น...การมุดท่อระบายน้ำครำโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลจึงมีความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพ ถึงแม้จะทำเพื่อส่วนรวมก็ตาม ผู้บริหารหรือหัวหน้างานต้องดูแล เตรียมอุปกรณ์ความปลอดภัยให้พร้อมในการทำงานและต้องสั่งห้ามทำงานที่เสี่ยงอันตรายหากไม่สวมอุปกรณ์ความปลอดภัยก่อน โดยใช้หลัก “Safety first”

ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้วการที่จะมุดท่อ Manhole ที่มีน้ำขังอยู่เพื่อลงไปทำความสะอาดหรือเก็บขยะถือเป็นการทำงานในที่อับอากาศหรือ confined space หรือเป็นที่ที่มีก๊าซออกซิเจนต่ำกว่าร้อยละ 19.5 ต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตทั้งเส้นเชือก อุปกรณ์ช่วยหายใจ ชุดความปลอดภัยที่กันน้ำ...สิ่งสกปรกเข้าสู่ร่างกาย

นับรวมไปถึงอุปกรณ์ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ โดยต้องปฏิบัติให้ครบ หากไม่มีหรือไม่ปฏิบัติตามและยังทำงาน ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ต้องสั่งพักหรือให้ออกจากงานทันที...ถือเป็นมาตรฐานสากล

แต่ที่นี่ “ประเทศไทย” เป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว...ถ้าทำงานในหน่วยงานราชการถือเป็นอาชีพที่เสียสละทำเพื่อประชาชนไม่มีใครเอาผิดตามกฎหมายหรอก...แต่หากเป็นบริษัทเอกชนทำแบบนี้ถูกกระทรวงแรงงานตามมาเล่นงานแล้ว โดยใช้กฎหมาย พ.ร.บ.อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน

เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยวิชาชีพ หรือ จป. ทั้ง จป.หัวหน้างาน และจป.วิชาชีพอาจต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตและถูกให้ออกจากการทำงานด้วย

สนธิ คชวัฒน์
สนธิ คชวัฒน์

...

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย สะท้อนมุมมองต่อเนื่องไปถึงประเด็น “โลกร้อน” ฝนตกหนักและนานมากขึ้นทุกปี กทม.เสี่ยงจมน้ำ

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้สรุปแล้วว่าฝนจะตกเพิ่มขึ้น 7% เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจจะสังเกตได้ในช่วงฤดูฝนตั้งแต่กลางเดือน พ.ค.–ต.ค.ของทุกปี จะมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดมาจากมหาสมุทรอินเดียผ่านประเทศไทยไปทะเลจีนใต้มีกำลังแรงมากขึ้น

โดยจะหอบเอาความชื้นมหาศาลจากการที่น้ำในมหาสมุทรอินเดียระเหยสู่อากาศกลายเป็นเมฆบนท้องฟ้ามากขึ้น ความชื้นนี้มาพร้อมกับลมมรสุมดังกล่าว...เนื่องจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆทุกปี ทำให้น้ำระเหยมากขึ้น ซึ่งในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.จะเริ่มมีมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาจากประเทศมองโกเลียและประเทศจีน

...เข้าสู่ประเทศไทยมาปะทะกับลมมรสุมที่หอบเอาความชื้นมหาศาลจากมหาสมุทรอินเดีย... “อากาศร้อน” เจอ “อากาศเย็น” จึงทำให้ฝนตกหนักมากขึ้นทุกปี...บวกปรากฏการณ์ลานินญาหรือกระแสน้ำอุ่นจากมหาสมุทรแปซิฟิกในอเมริกาใต้พัดมายังมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนใต้ของประเทศอินโดนีเซีย

...

...ปีนี้มีกำลังแรงปานกลางหอบเอาอากาศร้อนที่อุ้มไอน้ำปริมาณมากเข้าสู่ประเทศไทยทางทิศใต้มารวมกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดจากมหาสมุทรอินเดียไปยังประเทศเวียดนามพัดผ่านประเทศไทยยิ่งทำให้ความชื้นในอากาศมารวมกันมากขึ้นกลายมาเป็นฝนที่ตกหนักและนาน

...เกิดปรากฏการณ์น้ำท่วมอย่างรวดเร็ว (Fast Flood) และในเดือนพฤศจิกายนภาคใต้จะเริ่มเจอฝนตกหนักต่อจากภาคกลาง นอกจากนี้หากโชคไม่ดีมีลมพายุพัดจากทะเลจีนใต้ผ่านประเทศไทยอีกจะยิ่งซ้ำเติมทำให้เกิดฝนตกน้ำท่วมหนักมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

น่าสนใจว่า “ประเทศไทย” และ “กทม.” จะเจอปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นประจำตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาจนถึงปี 2564 และรวมทั้งปี 2565 ด้วย ปรากฏการณ์เช่นนี้บางปีจะเบาลงถ้าปีนั้นไม่เกิดภาวะลานินญาหรือเกิดแบบอ่อนๆ แต่ในปี 2565 ประเทศไทยและ กทม.เจอภาวะแบบนี้เต็มๆจึงหนีไม่พ้นสภาวะน้ำไหลระบายไม่ทัน...

ภาวะโลกรวนกำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลกส่งผลให้ฤดูฝนจะยิ่งมีฝนตกหนักมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนฤดูแล้งยิ่งแห้งแล้งหนาวเย็นมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยและใน กทม.ต้องกลับมาทบทวนใหม่แล้ว โดยต้องคิดในภาวะ “worst case scenario...กรณีที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้น” เท่านั้น

...

เช่น กรณีน้ำจะท่วม กทม.อาจต้องคิดถึงสภาวะการเกิดมรสุมหรือพายุพัดผ่าน...บวกภาวะลานินญามีกำลังแรง...บวกน้ำทะเลหนุน...บวกน้ำเหนือไหลหลากลงมาจะทำอย่างไร...ท้ายสุดอาจต้องใช้วิธีย้ายเมืองหลวงออกไปที่ใหม่เหมือนประเทศอินโดนีเซียหรือสร้างเขื่อนล้อมแบบประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศเนเธอร์แลนด์

หรือ...อาจจะต้องขุดแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ขึ้นมาอีกสาย เพื่อช่วยทดน้ำให้น้ำไหลผ่าน กทม.น้อยลงหรือไม่?

ภัยธรรมชาติมนุษย์ควบคุมไม่ได้ แต่สำหรับภัยจากน้ำมือมนุษย์เป็นสิ่งที่ควบคุมป้องกันได้ พุ่งเป้าไปที่วงจรอุบาทว์และช่องโหว่ของการลักลอบทิ้ง “กากอุตสาหกรรม”...ในประเทศไทย

ช่วงนี้...มีการลักลอบทิ้งกากของเสียในพื้นที่หมู่ 11 บ้านหนองสาธิต ตำบลหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยกากอุตสาหกรรมถูกถมในบ่อดินในพื้นที่ประมาณ 12 ไร่ โดยถูกถมสูงจากพื้นดินโดยอยู่ในรั้วที่มีประตูรั้วปิดมิดชิดมองจากข้างนอกไม่เห็นถ้าไม่สังเกต รอบๆรั้วเป็นไร่มันสำปะหลัง

จากสถิติการลักลอบทิ้งกากของเสียที่เป็นอันตรายในรอบ 10 ปี (2555-2564) ของกรมควบคุมมลพิษพบถึง 79 ครั้ง สูงสุดอยู่ที่ภาคตะวันออก 45 ครั้ง ภาคกลาง 21 ครั้ง ภาคตะวันตก 8 ครั้ง ปัจจุบันแม้กรมโรงงานจะเข้มงวดเรื่องการส่งกากอุตสาหกรรมไปกำจัดแต่ก็ยังมีช่องโหว่อีกมากมาย

เรารู้แล้วว่าธรรมชาติจะสู้กลับถ้าถูกทำลาย ดั้งนั้น ทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและจริงใจ อย่าแก้ปัญหากันแบบลูบหน้าปะจมูกมาตรฐานแบบไทยๆ.