ทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อน บวกกับปัจจัยด้านราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ผันผวนอย่างหนัก ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าหันมาผลิตไฟฟ้าใช้เองด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือ Solar Rooftop เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นอีกหนึ่งสถาบันการศึกษาที่ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โดยได้ติดตั้ง Solar Rooftop บนอาคารต่าง ๆ ภายใน มธ. ศูนย์รังสิต มากถึง 44 อาคาร รวมกำลังผลิตติดตั้ง 6.28 เมกะวัตต์ ทำให้ในบางช่วงเวลาพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จาก Solar Rooftop จึงมีมากเกินความต้องการ

มธ. จึงได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำระบบไมโครกริดและระบบบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวภายใต้โครงการ TU EGAT Energy ซึ่งเป็นโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ที่ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยมีเป้าหมายทดสอบการให้บริการด้านพลังงานทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ 1) ศึกษาโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ Peer to Peer 2) โครงสร้างอัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ Net Metering Net Billing 3) นวัตกรรมระบบบริหารจัดการพลังงานในไมโครกริด (Micro Grid) และ 4) ระบบกักเก็บพลังงาน

Solar Rooftop ที่ติดตั้งบนอาคารภายใน มธ. ศูนย์รังสิต
Solar Rooftop ที่ติดตั้งบนอาคารภายใน มธ. ศูนย์รังสิต

แก้ปัญหาไฟส่วนเกินด้วยระบบบริหารจัดการพลังงาน

กฟผ. นำระบบบริหารจัดการพลังงานการผลิตไฟฟ้าจาก Solar Rooftop ของอาคารในกลุ่มการเรียนรู้ทางสังคมศาสตร์ จำนวน 8 อาคาร ได้แก่ อาคารเรียนรวมกลุ่มสังคมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์ อาคารปฏิบัติการคณะวารสารศาสตร์ ศูนย์อาหาร และศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในมหาวิทยาลัย โดยเชื่อมต่อกับแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานที่ กฟผ. ติดตั้งไว้

แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานขนาด 500 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ที่ กฟผ. นำมาติดตั้ง
แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานขนาด 500 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ที่ กฟผ. นำมาติดตั้ง


นายหฤษฎ์ เขาหลวง หัวหน้ากองศึกษาการลงทุน ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. อธิบายว่า ระบบบริหารจัดการพลังงานเป็นนวัตกรรมที่ กฟผ. พัฒนาขึ้นในรูปแบบ Web Application เพื่อติดตามการผลิตและใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้แบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ก่อนมีโครงการนี้แม้มหาวิทยาลัยจะมีการติดตั้ง Solar Rooftop กระจายทั่วมหาวิทยาลัยและจ่ายไฟฟ้ามายังอาคาร แต่จะไม่ทราบว่าในหนึ่งวันพลังงานที่ผลิตมีลักษณะการใช้งานอย่างไร แต่เมื่อ กฟผ. ติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงานจะทราบทันทีว่าการใช้พลังงานในปัจจุบันมีรูปแบบใดบ้างทั้งแบบรายห้อง รายอาคาร และรายกลุ่ม มีการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร และสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากน้อยเพียงใด”

เมื่อโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้ามากเกินความต้องการใช้ไฟฟ้า ระบบจะสั่งการให้นำพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินเหล่านั้นไปกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ รวมถึงในช่วงที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำ (Off Peak) เวลา 22.00-03.00 น. ซึ่งมีราคาค่าไฟอยู่ที่ 2.61 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ระบบจะสั่งการให้ชาร์จไฟฟ้ากักเก็บไว้ในแบตเตอรี่แบบอัตโนมัติ เพื่อนำพลังงานไฟฟ้าที่เก็บไว้ไปจ่ายไฟฟ้าให้กับอาคารเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง หรือช่วงที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูง (On Peak) เวลา 14.00-18.00 น. มีราคาค่าไฟอยู่ที่ 4.23 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง จึงสามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าและเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าเมื่อกำลังผลิตจากโซลาร์เซลล์หายไป

การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจาก Solar Rooftop
การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจาก Solar Rooftop

นำร่องซื้อขายไฟฟ้าระหว่างอาคาร

นอกจากนี้ กฟผ. ยังนำแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Energy Trading ซึ่งเป็นระบบการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระหว่างอาคารเข้ามาทดสอบในโครงการนี้ด้วย เมื่อบางอาคารผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้เกินความต้องการแทนที่จะเก็บไว้ในแบตเตอรี่ก็สามารถขายให้กับอาคารที่ผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้า รวมถึงสามารถออกใบเสร็จเมื่อซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแล้วเสร็จ เพื่อรองรับโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ในอนาคตที่จะมีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยกันเองมากขึ้น

ระบบการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระหว่างอาคารของ กฟผ.
ระบบการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระหว่างอาคารของ กฟผ.

ช่วยลดค่าไฟปีละ 4 แสนบาท

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล แสงอรุณ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านคุณภาพชีวิต มธ. เปิดเผยว่า โครงการ TU EGAT Energy ทำให้ระบบจัดการพลังงานของมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้กว่า 4 แสนบาทต่อปี โดยเฉพาะการกักเก็บพลังงานส่วนเกินที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์เพื่อนำมาใช้ในเวลาที่ต้องการ สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนสู่การเป็น TU Smart City

“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พร้อมเป็นต้นแบบให้กับสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความสนใจในด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเตรียมพัฒนาจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมด้านการจัดการพลังงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถตอบโจทย์เชิงนโยบายได้ทั้งระดับองค์กร ระดับชาติ และระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายประหยัดพลังงานของสหประชาชาติ การลดภาวะก๊าซเรือนกระจก ที่สำคัญทุกอย่างที่เราทำ คือการมีส่วนให้สังคมใช้พลังงานสะอาดได้อย่างยั่งยืน”

โครงการ TU EGAT Energy จึงถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาบริการด้านพลังงานอย่างครบวงจร (Smart Energy Solution) ของ กฟผ. เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าที่หลากหลาย ลดการใช้พลังงาน ตอบโจทย์เทรนด์การใช้ไฟฟ้ายุคใหม่ที่มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น