ประกาศๆข่าวล่าข่าวด่วน “กระทรวงแรงงาน” ได้รับการประสานจากฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ว่ามี...“บริษัทเอกชน” มีพฤติการณ์โฆษณาชวนเชื่อ หลอกคนหางานว่าสามารถพาไป “ทำงานเกาหลี” ได้

โดยอ้างว่าได้ทำบันทึกความเข้าใจ MOU กับหน่วยงานภาคเอกชนของสาธารณรัฐเกาหลีทำให้สามารถจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และยังแอบอ้างถึงฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ในการรับรองเอกสารสัญญาจ้างเพื่อนำมาใช้ประกอบในการขออนุญาต

เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ...ทำให้มีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก

ขอย้ำเตือนว่า...การจัดส่งคนหางานไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลีเป็นการดำเนินงานภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง “รัฐบาลไทย” โดยกระทรวงแรงงานกับกระทรวงแรงงานและการจ้างงานสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งมอบหมายให้กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดหาและจัดส่งคนหางานไปทำงานเท่านั้น

หากภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งจะต้องได้ใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางาน เพื่อไปทำงานในต่างประเทศเสียก่อน...ขอให้ “คนหางาน” ตรวจสอบให้ดีๆก่อนหลงเชื่อ

...

กรมการจัดหางานฝากประชาสัมพันธ์ในวงกว้างวิธีการหลอกลวงข้างต้นนั้นมีให้เห็นในทุกช่องทาง โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ระวังจะตกเป็นเหยื่อ...เมื่อมีการโพสต์ข้อความชักชวนคนหางานไปทำงานในต่างประเทศที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528

โดยปีงบประมาณ 2565 มีการดำเนินคดี “สาย”...“นายหน้าเถื่อน” แล้ว 113 ราย พบการหลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 164 คน ข้อมูล ณ วันที่ 1 กันยายน 2565 มีความเสียหายแล้ว 13,029,610 บาท

ขอเตือนว่าผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3–10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000–200,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

และการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ...ผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงานให้ดีๆเพื่อป้องกันการหลอกลวง

ฝากย้ำว่า...ไม่ว่าจะเป็นการชักชวนทำงานผิดกฎหมาย การลักลอบเข้า ประเทศ หรือไปทำงานต่างประเทศโดยไม่แจ้งการทำงาน ให้สันนิษฐานเป็นลำดับแรกว่าท่านกำลังถูกหลอกลวง...โปรดอย่าหลงเชื่อ

ไพโรจน์ โชติกเสถียร
ไพโรจน์ โชติกเสถียร

ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน บอกว่า การไปทำงานต่างประเทศจะต้องไปอย่างถูกต้อง ซึ่งมีด้วยกัน 5 วิธี คือ 1.กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 2.บริษัทจัดหางานจัดส่ง

3.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานต่างประเทศ 4.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานในต่างประเทศ 5.คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตัวเอง

“โดยต้องแจ้งการเดินทางกับกรมการจัดหางานก่อนเดินทางทุกครั้งและต้องเดินทางออกไปโดยผ่านด่านตรวจคนหางานที่ประจำอยู่ ณ ท่าอากาศยาน การไปทำงานอย่างถูกกฎหมายจะลดความเสี่ยงจากการตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ ทำให้ทำงานในต่างประเทศได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ต้องหลบซ่อน”

ขอเพิ่มเติมประเด็นการแก้ปัญหาพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในประเทศ ไพโรจน์ บอกว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ได้เห็นชอบให้เปิดศูนย์พิจารณาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อนุญาตให้ทำงานและออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม-27 กรกฎาคม 2565

ซึ่งมีแรงงานเมียนมาใช้บริการ ณ ศูนย์ CI ทั้ง 5 ศูนย์...จังหวัดเชียงใหม่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง ชลบุรี อยู่ที่ 408,155 คน

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่อง การออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) ของทางการเมียนมา ให้แก่ แรงงานเมียนมาที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565

“ทางการเมียนมาจะดำเนินการเปลี่ยนเอกสารรับรองบุคคล (CI) ให้แก่แรงงานเมียนมาที่มีเอกสารรับรองบุคคล (CI) ฉบับเดิม รวมถึงเพิ่มการตรวจสอบข้อมูลของแรงงานเมียนมาที่ไม่มีเอกสารประจำตัว โดยให้ดำเนินการได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566”

...

เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดให้บริการศูนย์ CI อีกครั้ง ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และ ชลบุรี

สำหรับการพิจารณาครั้งนี้เป็นไปตามที่ทางการเมียนมาได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการถึงทางการไทย ร้องขอให้กรมการจัดหางานพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์ CI ถึง 2 ครั้ง เนื่องจากคาดการณ์ว่ายังคงเหลือแรงงานที่จะต้องเปลี่ยนเอกสาร CI ราว 250,000-300,000 คน

การจัดทำเอกสารประจำตัวฉบับใหม่ของแรงงานเมียนมา ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดและนายจ้างในประเทศไทยมีความต้องการมากที่สุดในกลุ่มแรงงานสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม

ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่จำเป็นต้องวางแนวทางให้แรงงานเมียนมามีเอกสารรับรองบุคคล (CI) ฉบับใหม่ เพื่อขอตรวจลงตราอยู่ต่อในราชอาณาจักรกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองภายในกำหนดเวลา และสามารถทำงานในประเทศไทยต่อไปได้ถึง 13 ก.พ.68

ซึ่งก่อนที่จะเสนอ ครม.ในวาระนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 แล้ว

...

“การขยายเวลาให้บริการศูนย์ CI ในครั้งนี้ จะเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนให้นายจ้าง สถานประกอบการที่ยังคงมีความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวสามารถจ้างแรงงานต่อไปได้อย่างถูกต้อง”

ตลอดจนบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การกำกับของภาครัฐ ซึ่งจะลดความเสี่ยง ที่แรงงานบางส่วนจะกลายเป็นแรงงานที่ไม่ถูกต้องหากเอกสารประจำตัวสิ้นอายุ ซึ่งแน่นอนว่าภาระการติดตาม ตรวจสอบ และงบประมาณที่ใช้จะตกอยู่ที่ประเทศไทย

การฟื้นฟูประเทศภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในการขับเคลื่อนทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต...ส่งออก รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวและบริการ

ตอกย้ำแนวทางการบริหารจัดการ...1.ให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ.2566 ที่ประสงค์จะทำงานต่อไป โดยต้องดำเนินการตามแนวทางที่กำหนด สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ.2568 2.ให้คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่ประสงค์จะทำงานและมีนายจ้าง สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ.2566

...

และหากประสงค์จะทำงานต่อไป สามารถอยู่และทำงานได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 โดยต้องดำเนินการตามแนวทางที่กำหนด ทั้งนี้ “คนต่างด้าว”...ทั้งสองกลุ่มต้องดำเนินการให้ได้มาซึ่งหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566

“แรงงานต่างด้าว”...เป็นอีกหนึ่งมิติสำคัญที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ นับรวมไปถึงความผูกพันหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่และความมั่นคงของชาติ.