เพื่อนฝูงนักเศรษฐศาสตร์ของผมคนหนึ่งเคยเขียนสูตรความสำเร็จในการพัฒนาประเทศส่งมาให้ผมเมื่อหลายๆปีก่อนโน้น แต่ช่วงนั้นจะด้วยอะไรไม่ทราบผมไม่ได้นำลง

แต่ผมก็ยังพอจำได้แม่นยำว่า สูตรการพัฒนาประเทศเพื่อไปสู่ความสำเร็จของเพื่อนมีลักษณะคล้ายๆกับสูตร “ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP)” ที่เรารู้จักกันดีนั่นแหละครับ

ได้แก่ ผลิตภัณฑ์รวมฯ = การบริโภคประชาชน + การลงทุนภาคเอกชน + การใช้จ่ายรัฐบาล + (รายได้ส่งออก - รายจ่ายนำเข้า) หรือ Y = C + I + G + (X-M) นั่นเอง

ซึ่งในสูตรเกี่ยวกับความสำเร็จของการพัฒนาที่เพื่อนผมส่งมาให้ก็ล้อๆสูตรนี้นั่นแหละ สรุปออกมาได้ว่า

ความสำเร็จการพัฒนา = ภาคการเมือง + ภาคราชการประจำ + ภาคเอกชน และ + ภาคประชาชน

อันหมายความว่า ถ้าประเทศชาติมี ภาคการเมือง ที่แข็งแกร่ง ไม่วุ่นวาย, มี ภาคราชการประจำ ที่มีความรู้ความสามารถ ปฏิบัติหน้าที่โดยความซื่อสัตย์และขยันขันแข็ง, มี ภาคเอกชน ที่เข้มแข็งมีความรู้ทันสมัย ทำมาหากินด้วยหลักธรรมาภิบาล และมี ประชาชน ที่มี ระเบียบวินัย ขยันขันแข็ง ใฝ่เรียนใฝ่รู้...รับรองการพัฒนาของประเทศนั้นไปโลดแน่ๆ

จากนั้นเพื่อนผมก็ยกตัวอย่าง 2 ประเทศ ที่เริ่มต้นการพัฒนาพร้อมกัน จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามคำแนะนำของธนาคารโลกพร้อมๆกัน คือประมาณ ค.ศ.1961 หรือ 2504 แต่ประสบความสำเร็จต่างกันมาก เพราะปัจจัยทั้ง 4 ข้อดังกล่าว

ได้แก่ เกาหลีใต้ กับ ไทยแลนด์ ของเรานี่แหละครับ โดยเกาหลีใต้ ก้าวพรวดไปเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศมีรายได้สูงตั้งแต่ ค.ศ.1988 หลังจากที่พัฒนาประเทศมาเกือบ 30 ปี

เมื่อเอาสูตรการพัฒนาประเทศที่ว่าความสำเร็จในการพัฒนาจะมาจาก 1.การเมือง 2.ข้าราชการประจำ 3.ภาคเอกชน และ 4.ประชาชน มาวิเคราะห์ในรายละเอียดก็จะพบว่าเกาหลีใต้เข้มแข็งในทุกๆด้าน

...

การเมืองของเขาเคยวุ่นวายมากช่วงแรกๆ แต่ก็กลับเข้าสู่ความเข้มแข็งในช่วงหลังๆ ถือเป็นความสำเร็จที่ยอดเยี่ยมเพราะการเมืองเป็นตัวกำหนดรัฐบาล ทำให้ได้รัฐบาลดีๆเข้ามาบริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง

สำหรับไทยเรา...การเมืองวุ่นวายมาตลอด...เวลาเป็นประชาธิปไตยจะวุ่นวายมาก และช่วงที่พัฒนาได้ดีกลับเป็นช่วงเผด็จการ ซึ่งขัดต่อปรัชญาการปกครองของโลกยุคใหม่...จนถึงบัดนี้เรายังหาจุดลงตัวไม่เจอ

ภาคราชการอยู่ในระดับกลางๆในช่วงก่อนการพัฒนา แต่พอเริ่มวางแผนฉบับ 1 เราได้คนเก่งคนดีเข้ามารับราชการมากขึ้น ทำให้เป็นกำลังหลักในช่วง 20 ปีแรก

ต่อมาภาคเอกชนซึ่งเริ่มอย่างเตาะแตะในระบอบเจ้าสัว เริ่มเข้าสู่ “เจน 2” ส่งลูกไปเรียนนอกกลับมาช่วยเตี่ยบริหารกิจการ สามารถนำความรู้สมัยใหม่มาพัฒนาภาคเอกชนจนแข็งแกร่งมากในปัจจุบัน

ส่วน ภาคประชาชน ยังคงสับสนวุ่นวายและแสวงหา และยังมีการขัดแย้งบ่อยๆครั้ง ถือเป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้พลังการพัฒนาด้อยลงไป

60 ปีของเส้นทางพัฒนาประเทศไทยอุตส่าห์เดินมาถึงจุดนี้ได้โดยไม่ “สอบตก” ก็นับว่าบุญนักหนาแล้ว

มาถึงวันนี้วันที่โลกตกอยู่ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ สืบเนื่องมาจากโรคระบาดโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ฯลฯ ทำให้ผมต้องกลับไปนึกถึงทฤษฎี 4 เครื่องยนต์ของเพื่อนอีกครั้ง

พบว่าการเมืองยังวุ่นวายยังสับสน ยังไม่รู้ออกหัวออกก้อย แทบจะพึ่งพาอะไรไม่ได้ เมื่อวานนี้หมาดๆฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเองยังขัดแย้งกันอย่างรุนแรงถึงขั้นไม่ผ่านกฎหมายบางฉบับ

โชคดีที่ภาคราชการยังเข้มแข็งอยู่โดยเฉพาะข้าราชการส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ (ผมขอรวม แบงก์ชาติ ให้อยู่ในภาครัฐด้วย)

ภาคเอกชน ก็เข้มแข็งมาก โดยเฉพาะภาคธนาคารต่างๆน่าจะยังเป็นหลักที่สำคัญ

จึงอยากจะสรุปบทวิเคราะห์บทนี้ว่าในสถานการณ์อันคับขันของประเทศ แต่ภาคการเมืองอยู่ในสภาพที่สับสนวุ่นวายจนแทบพึ่งพาไม่ได้เช่นนี้...ภาคราชการ และ ภาคเอกชน ต้องเข้มแข็งไว้นะครับ

หันหน้าเข้าหากัน จับมือกันเป็นหนึ่งเดียว ฟันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้จงได้...สู้ๆนะครับ ข้าราชการ + เอกชนและประชาชน.

“ซูม”