• พบโอมิครอน 3 สายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ ในไทย ย้ำ BA.5 ยังเป็นสายพันธุ์หลัก ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก ชี้ทั่วโลกจับตา-เฝ้าระวังการแพร่ระบาด

สถานการณ์โควิดฯ ไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบยังคงสูงอยู่ ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวที่น่าจับตา และน่ากังวลอยู่เช่นกันสำหรับโควิดฯ คือ การพบผู้ติดเชื้อ "โอมิครอน เจเนอเรชัน 3" หรือสายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ในไทย "BA.2.75.2" ซึ่งสถาบันจีโนมประเทศอินเดียแถลงเตือนว่าโอมิครอน BA.2.75 ที่เริ่มพบระบาดในอินเดียตั้งแต่ พ.ค.ที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 82.9 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีนัยถึงการกลายพันธุ์ไปมากที่สุด เมื่อเทียบกับไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยมีการระบาดมาก่อนหน้านี้ ขณะนี้พบว่าโอมิครอน BA.2.75 กลายพันธุ์ต่อเนื่องไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์ไป คือ "BA.2.75.2" มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "เซนทอรัส 2.0" เนื่องจากเป็นลูกคนที่สองของ BA.2.75 ส่วนลูกคนแรก คือ BA.2.75.1 ผู้เชี่ยวชาญภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ระบุว่า โอมิครอน BA.2.75.2 เป็นสายพันธุ์ที่ "หลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกัน" ได้ดีที่สุดในปัจจุบัน และอาจก่อให้เกิดการแพร่เชื้อได้มากขึ้นในอนาคต !!!

...

ไทยเจอแล้ว ผู้ป่วยโอมิครอน "BA.2.75.2" เผยแพร่เร็ว 248%

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี เปิดเผยว่า โอมิครอน BA.2.75 กลายพันธุ์จาก BA.2 ถือเป็นเจเนอเรชัน 2 โดยกลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม หรืออู่ฮั่น 95-100 ตำแหน่ง ส่วนโอมิครอน BA.2.75.2 กลายพันธุ์จาก BA.2.75 ถือเป็นเจเนอเรชัน 3 กลายพันธุ์ต่างจากไวรัสอู่ฮั่น 95-100 ตำแหน่งเช่นกัน เมื่อเทียบกับ BA.2.75 ที่ระบาดในอินเดียที่พบการระบาดครั้งแรกในอินเดีย และแพร่ไปยังประเทศชิลี อังกฤษ สิงคโปร์ สเปน เยอรมนี และไทย ส่วนโอมิครอน BA.2.75.2 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดถึง 90% เมื่อเทียบกับ BA.5 เมื่อเทียบกับ BA.4 ที่ระบาดทั่วโลก จากการสืบค้นฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก หรือ GISAID พบโอมิครอน BA.2.75.2 จากไทยที่โหลดขึ้นมาบน GISAID รายเดียว ยังไม่สามารถคำนวณความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เปรียบเทียบกับโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ที่ระบาดในไทยได้ เพราะจำนวนตัวอย่าง BA.2.75.2 ในประเทศยังไม่มากพอ

ด้าน ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมฯ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์สายพันธุ์โควิด-19 บนฐานข้อมูลโลก พบโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2.75.2 แล้วในไทย ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นผู้ถอดรหัสพันธุกรรมและรายงานเข้ามาในระบบฐานข้อมูลโลก ข้อมูลเบื้องต้นของสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.75.2 เป็นลูกคนที่ 2 ของ BA.2.75 ที่มีตำแหน่งกลายพันธุ์ประมาณ 100 ตำแหน่ง มีความได้เปรียบในการเติบโต-ระบาด มากกว่า BA.2.75 ถึง 248% แต่ตัวเลขยังไม่สามารถบอกถึงความรุนแรงของโรคได้

กลายพันธุ์มาอย่างไร-น่ากังวลมาก-น้อยแค่ไหน?

ขณะที่ นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" ระบุหลังไทยพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน BA.2.75.2 ว่า ยังไม่ทราบความรุนแรงในการก่อโรค ซึ่งถ้านับตั้งแต่ประเทศไทยพบไวรัสสายพันธุ์หลักโอมิครอนเป็นรายแรก เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 64 ไวรัสโอมิครอนซึ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วกว่าไวรัสสายพันธุ์เดลตา จึงใช้เวลาเพียง 3 สัปดาห์ ก็ขึ้นมาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศแซงเดลตาสำเร็จ ที่ 66.5% และใช้เวลาประมาณ 2 เดือน คือ กลางเดือน ก.พ. 65 ก็พบไวรัสโอมิครอนในผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดคือ 97.85% เราพบลักษณะของไวรัสโอมิครอนว่า มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย (Sub-variant) ได้รวดเร็วและหลากหลายมาก ซึ่งชนิดสายพันธุ์ย่อยสำคัญที่พบในประเทศไทยในช่วงแรก จะเป็น BA.1 แล้วเปลี่ยนเป็น BA.2 ในขณะนี้เป็น BA.5 ตามลำดับ

ดังนั้นต้องถือว่า ณ ปัจจุบันในกลางเดือน ก.ย. 2565 BA.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยที่พบมากถึง 85% และ BA.4 พบรองลงมาที่ 13% เนื่องด้วยโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลานี่เอง จึงทำให้ข้อมูลที่ทันสมัยหรืออัปเดตของชนิดไวรัสที่เกิดขึ้นในโลกและในประเทศไทย จึงมีความสำคัญมากสำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประเทศไทยเราเองก็สมควรติดตามเรื่องไวรัสสายพันธุ์ย่อยต่างๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบของไทยก็ได้ทำเรื่องนี้อยู่ในระดับที่ดีทีเดียว

ทั้งนี้ทางวิชาการมีการเปรียบเทียบว่ามีความสามารถในการแพร่ (RGA : Relative Growth Advantage) เร็วกว่า BA.5 ราว 90% และ BA.4 ราว 148% โดยตำแหน่งหลักที่สำคัญที่เปลี่ยนแปลงคือ 346, 486 และ 1199 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าไวรัสสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวนี้ จะก่อให้เกิดความรุนแรง ทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตมากน้อยเพียงใด ดังนั้นจึงยังไม่จำเป็นจะต้องวิตกกังวลเรื่องนี้มากนัก แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะเมื่อยังไม่ทราบว่ารุนแรงมากหรือน้อย นั่นก็แปลว่าอาจจะรุนแรงน้อยที่ทำให้สบายใจได้ หรือรุนแรงมากที่ทำให้ต้องเตรียมตัวรับมือด้วยเช่นกัน

...

คนป่วยในไทย อาการไม่หนัก ส่วนใหญ่หาย-ออกจาก รพ.แล้ว

ขณะที่ภาพรวมการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดฯ ในไทย เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สายพันธุ์ที่พบมากสุดยังเป็น BA.4 และ BA.5 โดยภาพรวม 93% เป็น BA.4 /BA.5 ส่วน 5.6% เป็น BA.2 และ 1.4 % เป็น BA.2.75 โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า 92% เป็น BA.4 /BA.5 ส่วนภูมิภาคพบประมาณ 94% จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว จำนวน 803 ราย พบว่า BA.5 จำนวน 688 ราย หรือประมาณ 85% ของจำนวนทั้งหมด BA.4 จำนวน 106 ราย และ BA.2.75 มีจำนวน 9 ราย ซึ่งข้อมูลสอดคล้องกับโลกที่ BA.5 พบมากขึ้น

สำหรับข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานที่เป็นสายพันธุ์ย่อย เนื่องจากไวรัสกลายพันธุ์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอด แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจับตา คือ ตำแหน่งต่างๆ ที่กลายพันธุ์ จะส่งผลต่อการแพร่ระบาด ความรุนแรง การหลบวัคซีนมากขึ้นหรือไม่ ในส่วนของ BA.2.75.2 ที่มีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่ง R346T และ F486S โดยข้อมูลใน GISAID ที่ระบุว่าพบ BA.2.75 จำนวน 9 รายในประเทศไทยนั้น ก็เป็นข้อมูลที่กรมรายงานเข้าไป โดยมีจำนวน 9 ราย เป็น BA.2.75 จำนวน 6 ราย BA.2.75.1 จำนวน 1 ราย BA.2.75.2 จำนวน 1 ราย และ BA.2.75.3 จำนวน 1 ราย ทั้งหมดไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่มีอาการอะไรมาก ส่วนใหญ่หายและออกจากโรงพยาบาลแล้ว

...

จับตา-เฝ้าระวังสัญญาณแพร่ระบาด! ยันตรวจจับได้เร็ว-ไม่ต้องกังวล

จากการที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) เฝ้าจับตาสายพันธุ์โควิด-19 ทั่วโลกล่าสุด พบดังนี้

ส่วนที่มีคนนำข้อมูลบางส่วน เช่น อำนาจการเพิ่มจำนวนของ BA.2.75 เทียบกับ BA.5 ถึง 114% เพิ่มขึ้นเท่าเศษๆ คนจึงกังวลว่า เร็วขึ้นอีกหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริง เป็นข้อมูลจากโมเดลลิ่งจากการสันนิษฐาน แต่ของจริงต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ ก็ต้องดูสัดส่วนในสถานการณ์จริง ซึ่งต้องมีการจับตาและเฝ้าระวัง ดังนั้นจึงอยากขอให้เชื่อมั่น โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับเครือข่ายการตรวจสายพันธุ์ทั่วโลก ทำการเฝ้าระวังและส่งรายงานในระบบ GISAID อย่างสม่ำเสมอ หากอันไหนมีสัญญาณจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกว่า ต้องดูตรงไหนเป็นพิเศษก็จับตาดู และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจจับได้ ไม่ได้ช้า ไม่ได้มีปัญหา และไม่ต้องกังวล

...

ขอคนไทยอย่าตื่นตระหนก ชี้ BA.5 ยังเป็นสายพันธุ์หลัก

ขณะนี้ในประเทศไทยสายพันธุ์หลักยังเป็น BA.5 พบสัดส่วน 85% ส่วน BA.4 พบ 13% ส่วน BA.2.75 รวมถึงสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ พบเพียง 1% ซึ่งบางคนอาจจะโพสต์ข้อมูลหวือหวา ทำให้ตื่นตระหนก ก็ขอให้ผู้อ่านตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก และบางทีนำข้อมูลบางส่วนมาบอกไม่ใช่ข้อมูลทั้งหมด มาตรการของประเทศไทย ใครยังไม่ฉีดวัคซีนกระตุ้นให้มาฉีด มาตรการป้องกันที่ปฏิบัติอยู่ยังใช้ในการป้องกันได้ ส่วนกรมวิทย์จะทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังเต็มที่ และถ้าจำเป็นต้องแจ้งประชาชน ก็จะแจ้งทันที ไม่มีปกปิด

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่พูดกันถึง BJ.1 ก็คือ สายพันธุ์ BA.2.10.1 ซึ่งไม่ใช่พันธุ์ใหม่ แต่ยังเป็น BA.2 แต่เป็นลูกหลานที่งอกออกมา เพียงแต่มีการรวบชื่อเรียกให้สั้นลงเท่านั้น และยังมีตัวอื่นๆ อีก ซึ่งบางอันไม่มีปัญหาก็จบ สงบหายไป แต่เราก็มีระบบเฝ้าดู

ผู้เขียน : หงเหมิน