“การวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจของการนำวัสดุเหลือใช้มาก่อให้เกิดประโยชน์ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG การเก็บข้อมูลจากเกษตรกร โรงคัดบรรจุ ผู้รวบรวมเปลือกมะพร้าวอ่อน โรงไฟฟ้าชีวมวล กลุ่มทำปุ๋ย และกลุ่มทำถ่าน พบว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรมีวัสดุเหลือใช้จากมะพร้าวอ่อนแทบจะทุกส่วน สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และพลังงานทางเลือกได้หลากหลายแนวทาง กลายเป็นหนึ่งในการเพิ่มรายได้ และลดต้นทุน”

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) บอกถึงนโยบายการขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมขับเคลื่อนการศึกษาพบว่า เกษตรกรนำสิ่งเหลือใช้ในสวนมะพร้าว เช่น ทางมะพร้าว ไปคลุมโคนต้นมะพร้าวอ่อนเพื่อเป็นปุ๋ย หรือนำไปหมักในท้องร่องเพื่อใส่ต้นมะพร้าวในสวน สามารถช่วยลดค่าปุ๋ยได้

ขณะที่บริษัท/โรงคัดบรรจุมะพร้าว จะมีสิ่งเหลือใช้ เช่น เปลือก จั่น และทะลายมะพร้าว ที่เหลือทิ้งแล้วไปถมที่ บางส่วนมีผู้รวบรวมเปลือกมะพร้าว เพื่อนำไปแปรรูปเป็นใยมะพร้าวก่อนนำไปเป็นชีวมวลของโรงไฟฟ้า หรือนำไปผลิตเพื่อได้ขุยมะพร้าวสำหรับผสมดินขาย และบางกลุ่มนำไปเผาเพื่อทำถ่านอัดแท่งขาย และได้น้ำส้มควันไม้ที่เป็นผลพลอยได้จากการเผาถ่าน

...

สำหรับผลการศึกษาของสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ปุ๋ยจากเปลือกมะพร้าว เกษตรกรหรือโรงคัดบรรจุที่นำเปลือกมะพร้าว/ทางมะพร้าวมาเข้าเครื่องโม่ และนำไปหมักโดยผสมมูลไก่/มูลสุกร/มูลโค หรือผสมจุลินทรีย์ พ.ด. และกากน้ำตาล จนได้ปุ๋ยคอกจากเปลือกมะพร้าวเพื่อนำไปใส่ในสวนหรือขายต่อ จะมีต้นทุนการทำปุ๋ยทั่วไปตันละ 800 บาท ราคาขายตันละ 2,000 บาท ได้กำไรตันละ 1,200 บาท ปุ๋ยอินทรีย์ตันละ 2,842 บาท ขายตันละ 3,500 บาท ได้กำไรตันละ 658 บาท

ขุย/ใยมะพร้าว ผู้รวบรวมเปลือกมะพร้าวจะนำเปลือกมะพร้าวจากจุดที่โรงคัดบรรจุนำมาทิ้งมายังโรงงาน เพื่อมาพักและตากเปลือกมะพร้าว ลดความชื้นก่อนเข้าเครื่องจักรโม่เปลือกออกมาเป็นขุย เพื่อส่งขายไปผสมดินและวัสดุปลูกและใยมะพร้าวส่งขายโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยมีต้นทุนการแปรรูปขุยมะพร้าวตันละ 700 และใยมะพร้าวตันละ 350 บาท ราคาขายขุยมะพร้าวไปผสมดินตันละ 1,000 บาท ราคาขายใยมะพร้าวไปโรงไฟฟ้าชีวมวลตันละ 500 บาท คิดเป็นกำไรขายใยมะพร้าวส่งโรงไฟฟ้าตันละ 150 และขุยมะพร้าวไปผสมดิน 300 บาท

การเผาถ่าน/น้ำส้มควันไม้ กลุ่มเกษตรกรจะนำจั่นมะพร้าวสดไปผึ่งลมประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วนำไปเผาประมาณ 4-5 ชั่วโมง ได้เป็นถ่านสวยงาม และถ่านที่นำไปอัดแท่งขาย โดยจะมีผลพลอยได้จากการเผาถ่าน คือน้ำส้มควันไม้ที่ได้จากการสกัด พบว่า ต้นทุนการผลิต กก.ละ 31.66 บาท ราคาขายถ่านสวยงาม กก.ละ 100 บาท ถ่านอัดแท่ง กก.ละ 30 บาท และน้ำส้มควันไม้ขวด 500 ซีซี 60 บาท ได้กำไร กก.ละ 20 บาท

สำหรับการเลี้ยงสุกรหลุม เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรหลุมรับซื้อเปลือกมะพร้าวอ่อนจากบริษัท/โรงคัดบรรจุเพื่อนำมาผสมกับแกลบในการรองพื้นในการเลี้ยงสุกรหลุม ระยะเวลาเลี้ยงสุกร 5 เดือน ทำให้ประหยัดค่าวัสดุรองหลุมในการเลี้ยงสุกรหลุมเฉลี่ยตัวละ 170.63 บาท และมีผลพลอยได้จากการขายมูลสุกรหลุมตัวละ 1,250 บาท

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาด้านการนำเปลือกมะพร้าวมาผลิตไฟฟ้าเป็นพลังงานชีวมวล พบว่า เป็นการกำจัดเปลือกมะพร้าวจำนวนมากในพื้นที่ได้ แต่ยังไม่สามารถจัดการกับความชื้นในการผลิตเป็นชีวมวลที่มีคุณภาพได้

...

ดังนั้น ทางเลือกที่เหมาะสมในระยะสั้น คือ การทำปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกมะพร้าว สามารถนำเปลือกมะพร้าวที่มีจำนวนมากในพื้นที่จัดการได้โดยทันที แม้จะมีต้นทุนและค่าใช้จ่าย แต่สามารถนำไปใส่ในสวนมะพร้าวและได้ผลลัพธ์เป็นอย่างดี และในระยะยาวขอให้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อเพิ่มมูลค่าของสิ่งเหลือใช้จากมะพร้าวอ่อน เช่น งานวิจัยการลดความชื้นในเปลือกมะพร้าว เพื่อพัฒนาให้เป็นชีวมวลต้นทุนต่ำในการผลิตไฟฟ้า เป็นพลังงานชีวมวล งานวิจัยการเพิ่มมูลค่าจากสารแทนนินในเปลือกมะพร้าว เครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตวัตถุดิบจากเศษวัสดุมะพร้าวอ่อนโดยเฉพาะ.

กรวัฒน์ วีนิล