เฟซบุ๊กศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการเฝ้าติดตามโควิด-19 “เจเนอเรชัน 3” โอมิครอน “BA.2.75.2” ว่า สถาบันจีโนมประเทศอินเดียแถลงเตือนว่าโอมิครอน BA.2.75 ที่เริ่มพบระบาดในอินเดียตั้งแต่เดือน พ.ค. คิดเป็นร้อยละ 82.9 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ BA.2.75 มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการคือ เซนทอรัสหรือมนุษย์ครึ่งคนครึ่งม้าในเทพนิยายกรีก มีนัยถึงการกลายพันธุ์ไปมากที่สุดเมื่อเทียบกับไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์อื่นที่เคยมีการระบาดมาก่อนหน้า ขณะนี้พบว่าโอมิครอน BA.2.75 กลายพันธุ์ต่อเนื่องไปอย่างไม่หยุดยั้ง หนึ่งในสายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์ไปคือ “BA.2.75.2” มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “เซนทอรัส 2.0” เนื่องจากเป็นลูกคนที่สองของ BA.2.75 ลูกคนแรกคือ BA.2.75.1 ผู้เชี่ยวชาญภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ระบุว่าโอมิครอน BA.2.75.2 เป็นสายพันธุ์ที่หลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดในปัจจุบัน อาจก่อให้เกิดการแพร่เชื่อได้มากขึ้นไปอีกในอนาคต
ศูนย์จีโนมฯระบุต่อว่า โอมิครอน BA.2.75 กลายพันธุ์จาก BA.2 ถือเป็นเจเนอเรชัน 2 โดยกลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม หรืออู่ฮั่น 95-100 ตำแหน่ง ส่วนโอมิครอน BA.2.75.2 กลายพันธุ์จาก BA.2.75 ถือเป็นเจเนอเรชัน 3 กลายพันธุ์ต่างจากไวรัสอู่ฮั่น 95-100 ตำแหน่งเช่นกัน เมื่อเทียบกับ BA.2.75 ที่ระบาดในอินเดียที่พบการระบาดครั้งแรกในอินเดียและแพร่ไปยังประเทศชิลี อังกฤษ สิงคโปร์ สเปน เยอรมนีและไทย ส่วนโอมิครอน BA.2.75.2 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดถึง 90% เมื่อเทียบกับ BA.5 และ 148% เมื่อเทียบกับ BA.4 ที่ระบาดทั่วโลก จากการสืบค้นฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก หรือ GISAID พบโอมิครอน BA.2.75.2 จากไทยที่โหลดขึ้นมาบน GISAID รายเดียว ยังไม่สามารถคำนวณความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด เปรียบเทียบกับโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ที่ระบาดในไทยได้ เพราะจำนวนตัวอย่าง BA.2.75.2 ในประเทศไม่มากพอ
...
ด้าน ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมฯ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์สายพันธุ์โควิด-19 บนฐานข้อมูลโลก พบโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2.75.2 จำนวน 1 คน เมื่อวันที่ 5 ก.ย.65 เป็นผู้ป่วยชายไทย ที่ รพ.บำรุงราษฎร์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นผู้ถอดรหัสพันธุกรรมและรายงานเข้ามาในระบบฐานข้อมูลโลก ข้อมูลเบื้องต้นของสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.75.2 เป็นลูกคนที่ 2 ของ BA.2.75 ที่มีตำแหน่งกลายพันธุ์ประมาณ 100 ตำแหน่ง มีความได้เปรียบในการเติบโต-ระบาด มากกว่า BA.2.75 ถึง 248% แต่ตัวเลขยังไม่สามารถบอกถึงความรุนแรงของโรคได้
ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การกลายพันธุ์เป็นโอมิครอน BA.2.75.2 เป็นเรื่องปกติ ไวรัสมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีปัญหาอะไร สำหรับสายพันธุ์ที่ระบาดในไทยขณะนี้ยังเป็นสายพันธุ์ BA.5 ยังไม่มีสายพันธุ์ใดเข้ามาทดแทน กรมวิทย์ได้ติดตามสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกว่า BA.2.75.2 จะระบาดขึ้นมาอย่างรวดเร็วหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่พบการระบาดที่มีนัยสำคัญ ขณะนี้ระบาดอยู่ที่อินเดียประเทศอื่นยังไม่มี กรมวิทย์ถอดรหัสพันธุกรรมตลอดเวลาเพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่างๆ
วันเดียวกัน ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในไทย พบผู้ติดเชื้อใหม่ 619 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 10 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,668,863 ราย หายป่วยสะสม 4,626,034 ราย เสียชีวิตสะสม 32,564 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 614,225,824 ราย เสียชีวิตสะสม 6,517,886 ราย