ปัญหา “พระสงฆ์ในพื้นที่ป่าไม้” และ “สำนักสงฆ์” ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ ในที่สุดก็ได้รับการสะสางอย่างจริงจังแล้ว หลังจากที่มีปัญหา “การอยู่ร่วมกัน” มายาวนาน เพราะการอยู่ร่วมกันมีทั้งสำนักสงฆ์ที่ช่วยดูแลป่าไม้และสำนักสงฆ์ที่บุกรุกพื้นที่ป่า โดยเฉพาะบางแห่งส่งผลกระทบทั้งต่อระบบนิเวศสัตว์ป่าและป่าไม้ ซึ่งมีทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ

เมื่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติ เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2565 เห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอการแก้ไขปัญหาสำนักสงฆ์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ ว่าในกรณีการดำเนินโครงการใดๆของหน่วยงานรัฐมีความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าและจะต้องมีการปลูกป่าทดแทนเพื่อการอนุรักษ์หรือรักษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ด้วยให้สำนักงบ ประมาณพิจารณาจัดสรร/อนุมัติงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าทดแทนให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการปลูกป่าตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดโดยถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งของโครงการนั้นๆด้วย โดย “ยกเว้นหน่วยงานรัฐหรือโครงการบางประเภทที่ไม่ต้องจัดสรรงบประมาณค่าปลูกป่าทดแทน” ดังนี้ (1) โครงการเพื่อสร้างศาสนสถานและสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา (2) โครงการที่มีวัตถุ ประสงค์เป็นไปเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (3) โครงการเพื่อการจัดที่ดินที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.และ (4) โครงการที่เข้าใช้พื้นที่ป่าก่อนได้รับอนุญาตตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2563 เรื่องการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้และขอผ่อนผันตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2523 ในกรณีที่ปรากฏว่ายังมีส่วนราชการใดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตและมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2564 เรื่องขอขยายเวลาในการยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ตาม มติ ครม.เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2563

...

วราวุธ ศิลปอาชา
วราวุธ ศิลปอาชา

นั่นหมายความว่า พระสงฆ์ที่มีการดำเนินการโครงการเพื่อสร้างศาสนสถานและสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือค่าเช่าปลูกป่าทดแทน! “ทส.พยายามแก้ปัญหาเพื่อให้อยู่ร่วมกัน โดยได้สั่งการให้กรมป่าไม้ดำเนินการตามมติ ครม.เร่งด่วน โดยเบื้องต้นนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ แจ้งว่ากรมป่าไม้อนุญาตให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ใช้พื้นที่ป่าไม้แล้ว จำนวน 1,039 คำขอรวมเนื้อที่ 39,628-1-21 ไร่ หากต้องชำระค่าปลูกป่าทดแทนในปัจจุบันอัตราไร่ละ 11,360 บาท จะรวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 450,174,000 บาท ขณะที่มีวัดอยู่ระหว่างพิจารณา จำนวน 115 คำขอและวัดที่ยื่นตาม มติ ครม.วันที่ 23 มิ.ย.2563 และ 11 พ.ค.2564 ทั้งหมดจำนวน 10,730 คำขอ รวมเนื้อที่ประมาณ 162,675 ไร่ หากต้องชำระค่าปลูกป่าทดแทน จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,847,988,000 บาท ดังนั้นกรมป่าไม้ จึงได้ทำโครงการรางวัลธรรมจักรสีเขียวเพื่อแก้ปัญหาพระสงฆ์ในพื้นที่ป่าไม้และเพื่อเป็นการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับพระพุทธศาสนา” นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ในฐานะเจ้าของมติ ครม.เพื่อแก้ปัญหาพระอยู่ป่า กล่าว

สุรชัย อจลบุญ
สุรชัย อจลบุญ

ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กล่าวว่า รางวัลธรรมจักรสีเขียวจะเป็นตัวอย่างให้แก่วัด ชุมชน ราษฎรในท้องถิ่นในการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับงานด้านป่าไม้ การปลูกป่า การป้องกันการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ปัจจุบันแต่ละจังหวัดทั่วประเทศได้พิจารณาคัดเลือก วัดที่ได้รับอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้จากกรมป่าไม้และได้ส่งรายชื่อให้กรมป่าไม้ พิจารณาตามหลักเกณฑ์แล้ว รวม 45 วัด อาทิ วัดป่าดานวิเวก จ.บึงกาฬ วัดบุญ ญาวาส จ.ชลบุรี วัดที่พักสงฆ์เทพนิมิตรสถิตย์ธรรม จ.นครพนม วัดถ้ำแก้วสวรรค์บันดาล จ.กาญจนบุรี วัดป่าน้ำโจน จ.พิษณุโลก วัดราชพฤกษ์ จ.เพชรบูรณ์ วัดป่าชมภูพาน จ.สกลนคร วัดป่าหนองขาม จ.สระแก้ว เป็นต้น

ขณะที่ความคืบหน้าในการแก้ปัญหาสำนักสงฆ์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ ระบุว่า กรมป่าไม้ได้มีการประชุมร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ประชุมมีมติให้ยึดแนวทางตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2538 และให้คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาพระสงฆ์ในพื้นที่ป่าไม้ระดับจังหวัดตามคำสั่งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาพระสงฆ์ในพื้นที่ป่าไม้ที่ 1/2552 พิจารณาจำแนกที่พักสงฆ์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ตามหลักการในการจำแนกที่พักสงฆ์ในเขตพื้นที่ป่าไม้และแนวทางแก้ไขปัญหาตามมติคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาพระสงฆ์ในพื้นที่ป่าไม้ ครั้งที่ 2/2540 เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2540 เพื่อประกอบในการพิจารณาอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อการสร้างวัดและเห็นควรหารือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก่อนแจ้งจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ท้องที่ 1-13 และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้สาขาทุกสาขาต่อไป

...

จตุพร บุรุษพัฒน์
จตุพร บุรุษพัฒน์

“เป็นการแก้ปัญหาโดยให้มีการสำรวจและจำแนกที่พักสงฆ์ที่ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตอุทยานแห่งชาติ เขตพื้นที่ต้นน้ำลำธารในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงหรือตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่หรือเสี่ยงต่อการเข้าไปทำลายหรือกระทบ กระเทือนต่อการรักษาป่าและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องมีการจำแนกแยกแยะให้ชัดเจนเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด” อธิบดีกรมป่าไม้กล่าว

และนี่คือรูปธรรมในการแก้ปัญหา “พระสงฆ์ในพื้นที่ป่าไม้” และสำนักสงฆ์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ปัจจุบัน

...

“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า “พระกับป่า” บทบาทของพระสงฆ์ เป็นทั้งผู้นำในการอนุรักษ์ป่าไม้และส่งเสริมให้ชุมชนอนุรักษ์ป่า บ่อยครั้งที่เราได้เห็นพระสงฆ์เอาผ้าจีวรโอบพันโคนต้นไม้ ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าตัด ถือเป็นการรักษาป่าไว้ให้มนุษย์

เมื่อ ทส.โดยกรมป่าไม้ เข้ามาสะสางปัญหาพระกับป่าตามมติ ครม. จึงถือเป็นการปลดล็อกการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งส่งผลดีต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและถ้อยทีถ้อยอาศัย

แต่สิ่งที่เราอยากจะฝากทุกหน่วยงานรวมถึงพระสงฆ์และชาวบ้านคือการรักษากฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน

อย่าให้ความตั้งใจที่ดีต้องล่มสลายเพียงเพราะความโลภของคนบางกลุ่มอีกเลย.

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม