“มหาสารคาม” คือหนึ่งในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่เต็มเปี่ยมด้วยมนตร์เสน่ห์แห่งวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่สืบทอดมาอย่างยาวนานในฐานะเมืองตักศิลาแห่งอีสาน โดยหนึ่งในเครื่องยืนยันได้อย่างเป็นรูปธรรมคือ “วัดมหาชัย พระอารามหลวง” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมายาวนานกว่า 155 ปี และยังเป็นที่ตั้งของ “หอสารคามมุนี” อันเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ท่านอดีตเจ้าอาวาส “พระอริยานุวัตร เขมจารี” สร้างไว้เพื่อเป็นอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิท่านเจ้าคุณสารคามมุนี และยังเป็นอาคารรวบรวมวัตถุโบราณจากท้องถิ่นภาคอีสานกว่าพันชิ้น ที่หอแห่งนี้จึงเป็นดั่งคลังวัฒนธรรมอันล้ำค่า ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานในยุคปัจจุบัน
“หอสารคามมุนี” หรือ “พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัดมหาชัย” ยืนหยัดเป็นแหล่งเก็บรักษาภูมิปัญญาอีสานให้แก่ชาวมหาสารคามมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ก่อตั้งในปี พ.ศ.2509 จนเมื่อวันเวลาล่วงผ่านก็มีสภาพชำรุดทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา กระทั่งในปี 2563 ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อ “ธนาคารกรุงเทพ” ได้อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน มอบแก่วัดมหาชัย พระอารามหลวง พร้อมกันนั้นก็ยังได้ประสานความร่วมมือกับทางวัด และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อดำเนินการบูรณะและพัฒนาหอสารคามมุนีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแห่งใหม่ของจังหวัด โดยปัจจุบันการปรับปรุงก็เสร็จสิ้นเรียบร้อย พร้อมเปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดย ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงการบูรณะในครั้งนี้ว่า “เราเข้าใจเป็นอย่างดีถึงความภาคภูมิใจและความผูกพันของผู้คนในท้องถิ่นที่สะท้อนอยู่ในงานศิลปะ วัด โบราณสถาน ธนาคารจึงให้ความสำคัญกับการช่วยเสริมสร้างและรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าว และพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็เป็นหนึ่งตัวอย่างของการส่งเสริมหรือสร้างความสัมพันธ์หรือความผูกพันระหว่างคนกับท้องถิ่น เป็นการเล็งเห็นว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับชุมชน ซึ่งธนาคารก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในชุมชน”
หลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการ “พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัดมหาชัย” ได้กลายเป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การมาเยือนให้ได้สักครั้ง การบูรณะที่เกิดจากการทำงานหนักของหลายฝ่ายได้เปลี่ยนหอเก็บรักษาโบราณวัตถุเดิมให้กลายเป็นอาคารหลังงามที่มีส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความเป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่และกลิ่นอายของภูมิปัญญาจากอดีต ซึ่งสามารถเดินชมได้อย่างสะดวกและเพลิดเพลิน
ในส่วนของโบราณวัตถุ อ.ทม เกตุวงศา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เข้ามารับหน้าที่จัดทำทะเบียนให้วัตถุแต่ละชิ้นอย่างถูกต้องตามกระบวนการ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการเก็บรวบรวม และสามารถนำมาจัดแสดงได้อย่างเป็นหมวดหมู่ โดยมีการบอกเล่าเรื่องราวผ่านการจัดแสดงตามหัวข้อที่จะหมุนเวียนกันไปตามระยะเวลา และใช้ระบบ QR Code เข้ามาผสมผสานเพื่อให้ผู้เยี่ยมชมค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้อย่างสะดวก เอื้อให้การเรียนรู้น่าสนใจ สามารถสัมผัสถึงความเลอค่าทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และความงดงามในเชิงพุทธศิลป์ได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยมีพระพุทธรูปที่กล่าวได้ว่าเป็นไฮไลต์สำคัญที่ควรเข้าชมเพื่อเป็นสิริมงคลสักครั้งในชีวิต ได้แก่ “พระฝนแสนห่า” และ “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต”
ทางด้าน “พระฝนแสนห่า” คือพระพุทธรูปองค์สำคัญของเมืองมหาสารคาม มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปไม้ปางห้ามญาติ ลงรักปิดทอง ประดับปีกแมลงทับ มีห่วงโลหะสำหรับสอดคานหาม ความสูงฐานพระองค์ 60 ซม. เมื่อรวมกับความสูงองค์พระ 170 ซม. จะเท่ากับ 230 ซม. และมีความกว้าง 45 ซม. จากคำบอกเล่าระบุว่า พระฝนแสนห่าถูกสร้างในปี พ.ศ.2410 เพื่อเป็นพุทธบูชา และเพื่ออัญเชิญแห่รอบเมืองในพิธีขอฝน จึงเป็นที่มาของพระนามพระฝนแสนห่า แม้ปัจจุบันจะไม่ได้มีการอัญเชิญแห่รอบเมืองแล้ว แต่ก็ยังคงได้รับความเคารพนับถือจากชาวมหาสารคามในฐานะพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญองค์หนึ่ง
สำหรับ “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต” นับเป็นอีกหนึ่งร่องรอยประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญจากสมัยลพบุรี เป็นหลักฐานถึงการมาเยือนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยตำนานกล่าวว่าพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต คือพระพุทธเจ้าที่เป็นบรมครูแห่งการรักษาโรค เป็นผู้มีความเมตตา ประทานธรรมโอสถแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง ตามความเชื่อของนิกายมหายาน ดังนั้นจึงมักพบประติมากรรมรูปเคารพของพระองค์ ซึ่งมีพุทธลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิ ประนมมือ ถือหม้อโอสถ ณ บริเวณที่เคยเป็นอโรคยศาลา หรือสถานรักษาพยาบาลของพระพุทธเจ้าในอดีตกาล
เรื่องราวของโบราณวัตถุสำคัญทั้ง 2 ชิ้นนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยของความเลอค่าเหนือกาลเวลาที่ถูกเก็บรวบรวมไว้โดย พระอริยานุวัตร เขมจารี ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่าทำไมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงเป็นปลายทางที่ไม่ควรพลาดหากได้แวะมาเยี่ยมเยียนจังหวัดมหาสารคาม โดย ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ ยังได้เชิญชวนทุกคนให้มาลองสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อซึมซับอดีตกาลอันน่าทึ่งที่ถูกคืนชีวิตกลับมาอีกครั้งในปัจจุบันไปด้วยกัน
“ผมคิดว่าในท้องที่ที่เราไปมันมีเรื่องราวต่างๆ ที่ควรนำมาบอกเล่า ถ้าเรามาช่วยกันขยายความ มาช่วยกันเล่าเรื่องราว ก็จะเป็นประสบการณ์ที่มีเสน่ห์ ผมก็ขอเชิญชวนแล้วก็ท้าชวนคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาช่วยกันคิดช่วยกันแชร์เรื่องต่างๆ พวกนี้ไปด้วยกันครับ” ดร.ทวีลาภ กล่าวสรุป