เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ True ICON Hall ศูนย์การค้าไอคอนสยาม นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสตรีของเขตเศรษฐกิจเอเปก ภายใต้แนวคิด “การเสริมพลังสตรีในทางเศรษฐกิจผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy” ซึ่ง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยนายจุติกล่าวตอนหนึ่งว่า การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นให้เห็นถึงความท้าทาย ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนให้เป็นโอกาสได้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศควรเป็นนโยบายหลักและนำไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ ที่สำคัญคือ ความแตกต่างของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงควรได้รับการแก้ไขให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเหล่านี้สามารถมีโอกาสที่เท่าเทียมและการเข้าถึงแหล่งทุนต่างๆ รวมถึงตลาด อีกทั้งสามารถมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน สามารถเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำ เข้าสู่การศึกษา และทักษะการพัฒนาในเรื่องดิจิทัลเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกได้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาหัวข้อ การเสริมพลังสตรีในทางเศรษฐกิจผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ตอนหนึ่งว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นความท้าทายจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การเจริญเติบโตต่างๆลดลง ทำให้เกิดความไม่สมดุล โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางและสตรี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคแรงงานนอกระบบ ทำงานบ้าน ซึ่งไม่ได้รับค่าจ้าง เกิดภาวะยากลำบาก ยิ่งช่วงล็อกดาวน์ ผู้หญิงจำนวนมากทั่วโลกต้องเผชิญกับความรุนแรงและการล่วงละเมิดที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนต้องผลักดัน ให้ฟื้นตัวจากโรคระบาดอย่างรวดเร็ว และต้องแน่ใจว่าการฟื้นตัวเป็นไปอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
...
นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า การเสริมพลังสตรีในระบบเศรษฐกิจ มี 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.ความสงบสุข การมีส่วนร่วมที่สร้างสรรค์และการสร้างความไว้วางใจ 2.กระบวนการทางการเมือง ที่จะต้องเน้นเรื่องสิทธิและการมีส่วนร่วม การทำให้ผู้หญิงและเด็กเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการดูแลสุขภาพและการศึกษา การเปิดกว้างให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในพลวัตทางเศรษฐกิจ มีโอกาสในการทำงานที่สูง ลดช่องว่างค่าตอบแทนและการเลือกปฏิบัติทางเพศสภาพ และ 3.การส่งเสริมสนับสนุนให้สตรีและเด็กเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลต่างๆและการกำหนดตัวชี้วัดที่คำนึงเพศสภาพ.