ผมก็เพิ่งทราบจากการดูข่าวช่วงเย็นๆของทีวีช่องหนึ่งว่ากรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่จะถึง
ทันทีที่ดูข่าวจบผมรีบไปเข้ากูเกิลค้นประวัติกรมพัฒนาชุมชนปรากฏว่าจริงแฮะ เพราะมีกฎหมายยกฐานะส่วนการพัฒนาท้องถิ่นในสังกัดกรมมหาดไทย ให้ขึ้นมาเป็นกรมพัฒนาชุมชนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2505 เป็นต้นไป...ครบ 60 ปีพอดีเดือนตุลาคมปีนี้
ปี พ.ศ.2505 ผมกำลังเรียนอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นปีที่ 3 อีกปีเดียวจะจบการศึกษา จำได้ว่า พวกเราหลายๆ คนที่เรียนเศรษฐศาสตร์ให้ความสนใจที่จะไปทำงานที่กรมนี้ ถึงขนาดไปขอรายละเอียดต่างๆมาแจกกันอ่าน และต่อมาเมื่อจบแล้วก็มีเพื่อนๆไปสมัครทำงานที่กรมนี้ถึง 4 หรือ 5 คน ถ้าจำไม่ผิด
ในช่วงแรกของการตั้งกรมมีแต่เสียงบ่นอย่างน้อยใจของข้าราชการกรมนี้ว่าเป็นลูกเมียน้อยของมหาดไทย ไม่ค่อยได้รับการเหลียวแล
แต่ท่านอธิบดีคนแรก ท่านสาย หุตะเจริญ ก็มิได้ย่อท้อเดินหน้าพัฒนาและปรับปรุงวิธีการดำเนินการของกรมอย่างไม่หยุดยั้ง จนเป็นที่ยอมรับของประชาชนโดยเฉพาะในต่างจังหวัดมากขึ้น
ต่อมาในแผนพัฒนาฉบับที่ 5 พ.ศ.2525-2529 แม้ประเทศไทยจะมีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมทันสมัย เพื่อเดินหน้าไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้น และได้มี “แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก” เป็นหัวหอกสำหรับการเดินไปสู่ความโชติช่วงชัชวาลในยุคนี้
แต่นายกรัฐมนตรีในช่วงดังกล่าว อันได้แก่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้สั่งการให้สภาพัฒน์จัดทำ “แผนพัฒนาชนบทยากจน” ควบคู่ไปด้วย... เพื่อให้พี่น้องในชนบทสามารถที่จะลืมตาอ้าปากได้ด้วย มิใช่จะสร้างแต่ความเจริญให้แก่ประชาชนในส่วนที่เจริญแล้วเท่านั้น
...
สภาพัฒน์จึงได้จัดทำแผนพัฒนาชนบทยากจนซ้อนอยู่ในแผนพัฒนาฉบับที่ 5 และมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ ที่เรียกว่า กชช. ซึ่งโดยมีป๋าเปรมเป็นประธานด้วยตนเอง
ทำให้ กรมพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็น 1 ในกรมหลักของกระทรวงมหาดไทย ได้รับโอกาสเข้ามามีส่วนในแผนพัฒนาชนบทแห่งชาติเต็มตัว
นอกเหนือจากโครงการพัฒนาชุมชนดั้งเดิมที่ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว คณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ ยังมอบหมายให้กรมพัฒนา ชุมชนทำหน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูลในระดับหมู่บ้านถึง 2 ชุดด้วยกัน
ชุดแรกเมื่อปี 2525 ขอให้กรมพัฒนาชุมชนเก็บข้อมูลระดับหมู่บ้าน ที่เรียกว่า กชช. 2 ค. เพื่อให้ทราบว่าสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละหมู่บ้านเป็นอย่างไร และดีขึ้นมากน้อยเพียงไร เมื่อมีการพัฒนาแล้ว
ชุดที่ 2 ตามมาในปี 2532 อันได้แก่ ข้อมูล จปฐ. เกี่ยวกับความจำเป็นพื้นฐานของประชาชนในหมู่บ้านในด้านต่างๆ เช่น สาธารณสุข, การศึกษา, การมีงานทำ, รายได้ และสิ่งแวดล้อม พร้อมกับมอบหมายให้กรมพัฒนาชุมชนรับไปดำเนินการ
กรมนี้ก็รับไปและดำเนินการสำรวจอย่างดียิ่งมาโดยตลอด 30 กว่าปี ไม่มีทอดทิ้งจนปัจจุบันข้อมูล จปฐ. ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของ TPMAP ที่รัฐบาลปัจจุบันใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการความยากจนแบบชี้เป้า
สามารถบ่งบอกได้ว่าตัวคนจนคนนั้นอยู่ที่ไหน ว่างั้นเถอะ
นอกจากงานฝากที่กลายเป็นงานเด่นชิ้นนี้แล้ว กรมพัฒนาชุมชนยังทุ่มเททำงานที่รัฐบาลมอบหมายจนประสบความสำเร็จอีกหลายเรื่อง
รัฐบาล “ป๋าเปรม” ขอให้ริเริ่มโครงการ “1 อำเภอ 1 ผลิตภัณฑ์” ขึ้นมาก่อนและได้พัฒนาเรื่อยมาจนเป็น “1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์” หรือ OTOP ในภายหลัง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จใหญ่หลวงที่เห็นอยู่ขณะนี้
เนื่องในโอกาสวัน “แซยิด” หรือ 60 ปีกรมพัฒนาชุมชนจะเวียนมาถึงในวันที่ 1 ตุลาคมนี้...ขอให้ข้าราชการกรมพัฒนาชุมชนทุกท่านทั้งอดีตและปัจจุบัน จงภูมิใจในผลงานที่ท่านได้ดำเนินการมาและมีประโยชน์ทั้งโดยตรงโดยอ้อมแก่พี่น้องชาวชนบทอย่างใหญ่หลวง
ขอให้เดินหน้าสู่ปีที่ 61–62–63 และเรื่อยๆไปตราบร้อยๆปีในอนาคตข้างหน้านะครับ...และขอให้เชื่อเถอะทุกวันนี้ท่านขึ้นมาเป็น “ลูกเมียหลวง” ของกระทรวงมหาดไทยเต็มตัวแล้ว มิใช่ “ลูกเมียน้อย” ดังเช่นในอดีตอีกต่อไป...ในสายตาประชาชน!
“ซูม”
(ภาพประกอบ Credit : https://www.cdd.go.th/)