“ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นำมาซึ่งปัญหาภาวะโลกร้อน ภัยพิบัติ ส่งผลกระทบด้านสังคมและชุมชน และเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก สิงห์ เอสเตท ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจในอนาคต เราจึงได้มีการเก็บข้อมูลคาร์บอนองค์กรในระยะเวลาที่ผ่านมา และตั้งเป้าสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่ดูดซับคาร์บอน หรือการปลูกป่าให้ได้มากที่สุด ไปจนถึงการสร้างความตระหนักรู้ ส่งต่อความรู้ในการช่วยกันลดคาร์บอนให้กับคนในเมืองผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม”

ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภารกิจขององค์กร ซึ่งนำมาสู่โครงการ One for One อันเป็นโครงการสืบเนื่องจากแผนเดินหน้าสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ ของสิงห์ เอสเตท ภายในปี 2030 กับภารกิจการสร้างพื้นที่สีเขียวให้ได้เท่ากับพื้นที่ก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่ใช้พื้นที่เท่าไร จะปลูกต้นไม้เท่าพื้นที่นั้น โดยตั้งเป้าไว้ที่ 1 ล้านตารางเมตร หรือกว่า 625 ไร่ ภายใน 10 ปี เป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ และเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความยั่งยืนด้านการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และเจตนารมณ์ดังกล่าวก็ได้นำมาสู่การ kick off โครงการ ‘ปลูกป่าด้วยปลายนิ้ว’ โครงการต้นแบบ หรือ ‘Pilot Project’ บริเวณเขตพื้นที่เชิงเขาและป่ารอยต่อของสิงห์ปาร์ค จังหวัดเชียงราย ซึ่งเชื่อมติดกับพื้นที่ของกรมป่าไม้ ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว ที่จะทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนขนาดใหญ่ของป่าต้นน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกรวน ตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDG13 Climate Change ขององค์การสหประชาชาติ

และมุ่งมั่นนำพาสิงห์ เอสเตท สู่การเป็นองค์กร Carbon Neutrality หรือ ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์ ด้วยการเพิ่มพื้นที่ดูดซับคาร์บอน อันเป็นพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน

วันนี้ ไม้ทั้ง 5 ชนิดซึ่งเป็นไม้พื้นถิ่นดั้งเดิม ทั้งไม้แดง ประดู่ พะยูง แคนา และตะเคียนทอง ซึ่งเป็นไม้ที่มีประโยชน์ต่อชุมชน ทั้งในแง่การเป็นไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย และไม้ที่บริโภคได้ กำลังหยั่งรากลงในผืนดินแปลงแรกของการเริ่มต้นโครงการ โดยสิงห์ เอสเตท และความร่วมใจของพันธมิตรอย่าง ‘สยามคูโบต้า’ ในการนำนวัตกรรมทางการเกษตรเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพและประสิทธิภาพในการปลูกและดูแล

รวมถึงการตรวจวัดผลชี้วัดผ่านเทคโนโลยีของ ‘ไทยคม’ ในการสำรวจติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ และปริมาณการดูดซับคาร์บอน ตลอดระยะเวลาของโครงการ ตั้งแต่ระยะสามปีแรกที่กำลังเจริญเติบโต ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นไม้จะดูดซับคาร์บอนได้ดีที่สุด เพื่อขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต ไปจนกลายเป็นต้นไม้ใหญ่เนื้อแข็ง ที่จะกักเก็บคาร์บอนไว้ได้อย่างยั่งยืน

เบื้องต้นนั้นมีการประเมินเอาไว้ว่า ป่าผืนนี้จะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ราว 4,000 ตัน ในเวลา 10 ปี โดยหลังจากนี้จะมีการนำไม้มาปลูกแซม เพื่อเติมความหลากหลายให้กับป่า จนป่าสามารถสร้างตัวเองให้กลายเป็นป่าธรรมชาติในที่สุด ซึ่งการมีตัวเลขที่ชี้วัดได้จริง จะเป็นแรงจูงใจให้คนหรือองค์กรนำโมเดลการปลูกป่าเช่นนี้ไปขยายผลต่อ

เมื่อป่าไม่ไหว คนต้องช่วย

“ป่าที่ดีไม่ต้องปลูก ถ้าป่านั้นมีกลไกหมุนเวียนตามธรรมชาติ แต่เหตุผลที่สิงห์ เอสเตท ทำเรื่องนี้เพราะองค์กรเราเป็นหนึ่งในคนที่ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอน เราจึงต้องช่วยป่า เพราะถ้าหากเราปล่อยให้เขาดูแลตัวเอง โดยที่เรามุ่งทำแต่ธุรกิจ ป่าก็ไม่ไหว และการที่เราเลือกพื้นที่รอยต่อของป่า ก็เพื่อเป็นการขยายป่าต้นน้ำให้กว้างออกไปได้เร็วที่สุด แล้วปล่อยให้ป่าได้ทำงานตามกลไกธรรมชาติ”

ศิริธร ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์องค์กร และการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เล่าถึงเหตุผลที่สิงห์ เอสเตท ทำงานขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่ดูดซับคาร์บอนในพื้นที่ทั้งสามป่า คือป่าต้นน้ำเช่นที่เชียงราย ป่ากลางน้ำหรือป่าในเมือง และป่าปลายน้ำหรือป่าโกงกาง ที่เกาะพีพี ซึ่งล้วนมีความสำคัญเชื่อมโยงกัน ด้วยการปลูกป่าบนมาตรฐาน AGI (Asian Green Initiative) มาตรฐานระดับสากล ที่จะมีการประเมินวัดผลการเติบโต การขยายตัวของผืนป่า รวมถึงการเป็นพื้นที่ป่าที่ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมและใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

พันธมิตรผู้ร่วมใจและร่วมแรงกันในโครงการนี้ จึงไม่ได้มีเพียงสยามคูโบต้า และไทยคมเท่านั้น หากยังรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้ นักวิชาการที่มีองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และชุมชนผู้จะทำหน้าที่ในการดูแลรักษาป่าผืนนี้ต่อผ่านการจ้างงาน ป่าที่เกิดจากแรงประสานนี้จึงสอดแทรกเอาไว้ด้วยมิติของการเกื้อกูลกันระหว่างชุมชน องค์กร สิ่งแวดล้อม และสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นว่า นอกจากคุณค่าของการใช้ประโยชน์ ต้นไม้ยังมีอีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญมากในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนเพื่อรักษาสมดุลให้กับโลก

นอกจากพื้นที่ป่าแปลงแรกที่เริ่มต้น การปลูกต้นไม้จะทยอยเพิ่มขึ้นในพื้นที่รอบหนองน้ำของสิงห์ปาร์คซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายจุดในระยะต่อไป และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในการเป็นที่อิงอาศัยของสัตว์ นก แมลง ที่จะทำหน้าที่ขยายผืนป่าโดยธรรมชาติผ่านวิถีการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ

และในฐานะที่สิงห์ปาร์ค คือกิจการเพื่อสังคมของสิงห์ คอร์เปอเรชั่น และบริษัทในเครือ การจัดพื้นที่ 625 ไร่ จากกว่า 8,000 ไร่ สำหรับเป็นพื้นที่ปลูกป่าของสิงห์ เอสเตท ก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ โดยพงษ์รัตน์ เหลืองธำรงเจริญ กรรมการผู้จัดการ สิงห์ปาร์ค เชียงราย ได้กล่าวว่า “โครงการปลูกป่าด้วยปลายนิ้ว เปรียบเสมือนการต่อยอดการดูแลป่าของสิงห์ปาร์ค ซึ่งจากมาตรฐานการดูแล และตรวจวัดการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะบริเวณรอบๆ สิงห์ปาร์คมีทั้งชุมชน และกลุ่มชาติพันธุ์อยู่หลากหลาย ถือเป็นโครงการที่ดี ที่จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ดูดซับคาร์บอน ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกอีกด้วย”

ผนึกกำลัง สร้างสังคมแห่งความยั่งยืน

ระหว่างการปลูกป่า เราได้เห็นนวัตกรรมเครื่องจักรกลเกษตรของสยามคูโบต้าทำหน้าที่ควบคู่กับอีกหลายมือที่ระดมแรงร่วมกันปลูก รถขุดคูโบต้าพร้อมเครื่องเจาะหลุม เพื่อเตรียมหลุมให้เหมาะสมต่อการลงกล้า และหลังจากนี้จะมีโดรนการเกษตรสำหรับพ่นปุ๋ยบำรุงรักษาป่า ซึ่งพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้กล่าวถึงการเข้าร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมีวิสัยทัศน์สอดคล้องกันของทั้งสององค์กรว่า

“เรามีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาด้านความมั่นคงทางอาหาร การศึกษาของเยาวชน ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม และรักษาสิ่งแวดล้อม ในฐานะธุรกิจที่อยู่ในภาคการเกษตร ก็ได้มีการผลักดันให้เกิดการทำเกษตรปลอดการเผา ด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้และนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ช่วยลดการเผาในพื้นที่การเกษตร ตลอดจนสร้างรายได้จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ และยังมีแผนขยายผลสู่โครงการเกษตรลดโลกร้อน รองรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรให้เป็นศูนย์ Net Zero Emission ภายในปี 2050 ด้วย”

ขณะที่ ปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการธุรกิจดาวเทียม ก็ได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ในการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีอวกาศ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์และต่อยอดบริการ พร้อมสร้างโซลูชั่นที่สนับสนุนการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจอวกาศใหม่ หรือ New Space Economy เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศในทุกมิติ โดยเฉพาะในด้านของสิ่งแวดล้อมและภาคเกษตรที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

“เราได้มีส่วนช่วยสนับสนุนการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและสิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบนิเวศต่างๆ ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยีของดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก หรือ Earth Observation ที่มาบูรณาการร่วมกับความเชี่ยวชาญทางด้านแบบจำลอง AI/ML ของทางไทยคมเอง ดังเช่นความร่วมมือกับสิงห์ เอสเตท สิงห์ปาร์ค และสยามคูโบต้าในครั้งนี้ ที่ไทยคมได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว มาใช้เป็นนวัตกรรมสำหรับการติดตามและตรวจสอบการเติบโต รวมถึงสุขภาพของต้นไม้ โดยเฉพาะในพื้นที่แปลงปลูกป่าขนาดใหญ่ที่ยากต่อการเข้าไปดูแลรักษา เพื่อสนับสนุนการรักษาสมดุลระหว่างการดูดซับก๊าซคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศ มุ่งสู่ความเป็นกลางของคาร์บอนในอนาคต”

ชวนสร้างสังคม Low Carbon ด้วยปลายนิ้ว

‘ปลูกป่าด้วยปลายนิ้ว’ ตั้งเป้าโครงการระยะยาว 10 ปี โดยจะมีการติดตาม ตรวจวัด และประเมินผล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด รวมถึงการจัดแคมเปญต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และปลูกจิตสำนึกควบคู่กันไป ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญในการเชื่อมเรื่องเหล่านี้กับคนเมือง ที่อาจยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ดังนั้นแล้ว นอกจากการเพิ่มพื้นที่ป่าซึ่งเป็นภารกิจหลัก ปลูกป่าด้วยปลายนิ้วยังมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับกลุ่มคนเมืองที่ไม่มีโอกาสด้านเวลา หรือไม่มีพื้นที่ในการไปปลูกป่า ว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยลดคาร์บอนได้ในชีวิตประจำวัน ด้วยวิธีปฏิบัติที่สะดวกและง่าย เช่น การลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว การนำมาใช้ซ้ำ การขับรถด้วยอัตราเร็วที่เหมาะสมเพื่อไม่เกิดการเปลืองเชื้อเพลิง การลดใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น ฯลฯ เพราะกิจกรรมในกิจวัตรเหล่านี้ ล้วนมีส่วนสร้างคาร์บอนด้วยกันทั้งสิ้น

หากเพียงเราใช้ปลายนิ้วควบคุมพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อลดการสร้างคาร์บอนให้น้อยลง เราก็เป็นหนึ่งในพลังของการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างอากาศที่ดีในทุกวันได้