ประเด็นสำคัญหนึ่งที่น่าจับตามองอย่างมากในวันนี้คือ วิกฤติพลังงานกำลังส่งผลกระทบอย่างชัดเจนขึ้นทั่วโลก สืบเนื่องจากหลายสถานการณ์ต่อเนื่อง ตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 เรื่อยมาถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน กับอีกหลายเหตุการณ์ความขัดแย้งจากหลายมุมทั่วโลกที่มีผลต่อต้นทุนค่าพลังงาน จนกระทบต่อชีวิตของประชาชน รัฐบาลแต่ละประเทศจึงมีนโยบายทั้งเร่งด่วน และระยะยาวเพื่อช่วยเหลือภาคประชาชน ขณะเดียวกันก็หาทางออกร่วมกัน เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนโหมดประหยัดพลังงานทั่วโลก ปูทางสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง

สิ่งที่ทั่วโลกกำลังทำอย่างเป็นรูปธรรมกับวิกฤติพลังงานวันนี้

ความเดือดร้อนจากการใช้ชีวิตของประชาชน ทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศต้องดำเนินนโยบายเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือ อย่างเยอรมนีที่ประสบความสำเร็จจากการออกตั๋วค่าโดยสาร 9 ยูโร เพื่อให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวในการสัญจรลง นอกเหนือไปจากการสนับสนุนด้วยเม็ดเงินในรูปแบบต่างๆ ทั้งวิกฤติน้ำมันและก๊าซ ที่ผลกระทบส่วนหนึ่งมาจากการที่เยอรมนีต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศค่อนข้างมากนั่นเอง โดยเฉพาะการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย โดยหลังจากรัสเซียประกาศลดการขนส่งก๊าซแก่เยอรมนีเหลือเพียง 20% ผลกระทบจึงเกิดขึ้นชัดเจน จนเยอรมนีต้องหันกลับมาทบทวนนโยบายเรื่องพลังงานในประเทศหลายด้านเช่นกัน

การรับมือกับวิกฤติพลังงานต้องดำเนินไปควบคู่กับนโยบายของภาครัฐ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปยังอนาคต ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา จึงเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ดำเนินนโยบายเรื่องการประหยัดพลังงานที่เป็นรูปธรรมขึ้น อย่างการประกาศมาตรฐานการประหยัดพลังงานขั้นต่ำของเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือการออกประมวลกฎหมายเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ และ/หรือที่อยู่อาศัย อย่าง Building Code เพื่อบังคับใช้ข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพพลังงาน ตั้งแต่การออกแบบ การใช้วัสดุ ไปจนถึงการก่อสร้าง เป็นต้น โดยหวังจะสร้างมาตรฐานให้เกิดขึ้น

แนวทางในลักษณะเดียวกันนี้ยังได้เกิดขึ้นที่แคนาดาด้วยเช่นกัน โดยรัฐบาลได้จัดทำข้อตกลงระหว่างรัฐต่างๆ ด้วยการออกมาตรการประหยัดพลังงานของอาคาร รวมถึงอุปกรณ์พลังงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานของประเทศ ในขณะเดียวกัน ภาคขนส่งของแคนาดายังได้ออกกฎหมาย (Green Levy) เพื่อจัดเก็บภาษีสำหรับรถยนต์ที่ไม่ประหยัดพลังงานขึ้น โดยการคำนวณภาษีจะขึ้นอยู่กับอัตราสิ้นเปลืองพลังงานของรถยนต์ดังกล่าว หวังจะกระตุ้นให้ผู้คนเดินหน้าสู่การใช้รถยนต์ที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น

ทั้งนี้การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อการประหยัดพลังงานก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่หลายประเทศทั่วโลกหวังอยากให้เกิดขึ้นด้วย หรืออย่างออสเตรเลียที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ ผ่านการจับมือร่วมกันอย่างแน่วแน่ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของออสเตรเลียได้ขอความร่วมมือจากประชาชนในรัฐนิวเซาท์เวลส์กว่า 8 ล้านคน ให้ร่วมกันงดใช้ไฟฟ้าเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ตั้งแต่ 18.00-20.00 น. ของทุกวัน เพื่อการประหยัดพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

การจับมือของไทยฝ่าวิกฤติพลังงานร่วมกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องยืนยันว่า ประเทศต่างๆ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และสำหรับประเทศไทยแล้ว วิกฤติพลังงานก็ไม่ใช่เรื่องเล็กเช่นกัน นอกจากการสนับสนุนและช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว สิ่งหนึ่งที่ไทยเราทำมาอย่างต่อเนื่องก็คือ การรณรงค์เรื่องการเห็นคุณค่าของพลังงาน โดยปีนี้หน่วยงานภาครัฐขานรับและตั้งเป้าหมายที่จะลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันลง 20% เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของรับมือกับวิกฤติพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม

สิ่งหนึ่งที่หน่วยงานภาครัฐต่างร่วมมือการอย่างเต็มที่สำหรับมาตรการลดใช้พลังงาน คือการเริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว อย่างการปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26-27 องศาเซลเซียส พร้อมกำหนดเวลาปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงพักกลางวัน รวมถึงการปิดเครื่องปรับอากาศก่อนเวลาเลิกงานอย่างน้อย 30 - 60 นาที ที่แม้จะเหมือนเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้ามองในภาพใหญ่ หากรวมหลายห้องทำงาน หลายอาคาร หลายหน่วยงาน หลายจังหวัดทั่วประเทศ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นเรื่องดีในวงกว้าง

ภาคประชาชนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการฝ่าวิกฤติพลังงานได้เช่นกัน ขณะเดียวกันการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าก็เป็นส่วนหนึ่งของการปลูกจิตสำนึกในวันนี้ที่จะต่อเนื่องไปถึงคนรุ่นต่อๆ ไปเพื่อโลกใบนี้ด้วย แนวทางเรื่อง ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 หรือฉลากเบอร์ 5 ติดดาว เป็นแนวทางหนึ่งที่ประสบความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอย่างมาก และได้กลายเป็นมาตรฐานสำคัญของการเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานเรื่องการประหยัดพลังงานแล้วสำหรับคนไทย

แต่กับอีกส่วนหนึ่งก็คือแนวคิดซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่คนไทยเองก็ต้องจับมือเดินไปด้วยกัน เช่น การใช้เครื่องปรับอากาศ ที่นอกจากจะต้องเลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่มีฉลากเบอร์ 5 แล้ว ก็ต้องเลือกขนาดให้เหมาะสมกับขนาดห้อง ใช้อุณหภูมิที่ 25-26 องศาเซลเซียส รวมถึงพึงระลึกว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะช่วยลดค่าไฟฟ้าประมาณ 10% ทีเดียว

นอกจากนี้สิ่งที่ทุกบ้านมีอย่างหลอดไฟ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญ ควรเลือกใช้หลอดไฟแอลอีดี (E27) ขนาด 7 วัตต์ แทนหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (CFL) ขนาด 13 วัตต์ ที่จะช่วยประหยัดไฟได้มากขึ้น และสิ่งสำคัญคือระลึกเสมอว่า ต้องปิดสวิตช์ทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน ลองจินตนาการว่า หากรวมกันหลายๆ ห้อง หลายๆ บ้าน ภาพรวมประดับประเทศจะเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ขนาดไหน

และที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องน้ำมันที่เราเติมกันอยู่แทบจะทุกวันนั่นเอง สิ่งที่เราร่วมกันทำได้ตั้งแต่วันนี้ก็คือ หมั่นตรวจเช็กสภาพรถก่อนเดินทางอยู่เสมอ ขับรถที่ความเร็วคงที่ รวมถึงตรวจสอบเส้นทางก่อนเดินทางทุกครั้ง และสุดท้ายคือการใช้บริการรถสาธารณะเมื่อจำเป็น หรือเมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น เพื่อลดการสิ้นเปลืองพลังงานน้ำมัน

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็คงพอจะเห็นภาพว่า เมื่อวิกฤติเกิดขึ้น สิ่งที่เราทำได้ก็คือการร่วมกันฝ่าฟัน ในขณะที่ภาครัฐกำหนดนโยบายช่วยเหลือและสนับสนุน ภาคประชาชนเองก็ควรมีส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน ไม่ใช่เพียงเพื่อตัวเราในวันนี้ แต่หมายถึงอนาคตระยะยาวของโลกใบนี้ด้วยเช่นกัน

ทั่วโลกทำแล้ว คนไทยล่ะพร้อมทำไปด้วยกันแล้วหรือยัง..