ยิ่งใกล้เข้าสู่ฤดูหนาว ความหวาดวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากทั่วโลกอาจต้องเผชิญความเสี่ยงทั้งปัญหาขาดแคลนพลังงานและราคาเชื้อเพลิงที่เตรียมพุ่งทะยานอีกครั้ง ทำให้หลายประเทศต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานและเตรียมแผนรับมือต่าง ๆ เพื่อป้องกันการขาดแคลนพลังงานในช่วงฤดูหนาว และต้องดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานควบคู่กันอย่างเข้มข้น โดยเสียงสะท้อนวิกฤตพลังงานจากคนไทยในต่างแดนที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงานเสวนาออนไลน์ “ถอดบทเรียนวิกฤตพลังงานโลก” ซึ่งจัดโดยกระทรวงพลังงาน ล้วนยืนยันว่าวิกฤตพลังงานครั้งนี้เป็นของจริง ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้หลายประเทศต้องประกาศใช้มาตรการต่าง ๆ ทั้งการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง ลดภาษี ลดราคาขนส่งสาธารณะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
เยอรมนีลดค่าขนส่งสาธารณะ จำกัดอุณหภูมิภายในอาคาร
คุณหย่ง หรือสุภาพร ควร์ตซ เจ้าของเพจเรื่องเล่าจากหย่งศรี เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์พลังงานของประเทศเยอรมนีว่า สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนทำให้ราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าในเยอรมนีปรับสูงขึ้นมาก เนื่องจากเยอรมนีต้องนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นหลัก ซึ่งไม่เพียงคนไทยเท่านั้นที่กังวลใจกับราคาพลังงานแต่รวมถึงคนเยอรมันเองด้วย เพราะฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงจำเป็นต้องใช้ก๊าซธรรมชาติปริมาณมากในการทำความร้อนและสร้างความอบอุ่น ทั้งนี้ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนีได้ออกตั๋วราคาประหยัดที่สามารถใช้กับระบบขนส่งสาธารณะหลักทุกพื้นที่ทั่วเยอรมนีในราคาเพียง 9 ยูโร จากราคาปกติประมาณ 107 ยูโร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรับมือวิกฤตพลังงานและลดการใช้เชื้อเพลิงของประเทศ โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน
นอกจากนี้รัฐบาลยังได้อนุมัติมาตรการประหยัดพลังงานสำหรับฤดูหนาว โดยอาคารสาธารณะที่นอกเหนือจากโรงพยาบาลต้องจำกัดอุณหภูมิที่ 19 องศาเซลเซียส หันมาใช้ถ่านหินสำหรับรถไฟแทนการใช้น้ำมัน รวมถึงห้ามใช้น้ำอุ่นในสระว่ายน้ำ โรงยิม ตลอดจนปิดไฟตามสถานที่สำคัญในเวลากลางคืน เช่น ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงเบอร์ลิน อนุสาวรีย์
ญี่ปุ่นเล็งเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่ม ชวนลดใช้ไฟฟ้า 3 เดือน
ด้านคุณปนิธ อดุลศิริสวัสดิ์ นักวิจัยหลังปริญญาเอก ซึ่งปัจจุบันพำนักอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาราคาพลังงานเช่นกันเพราะพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงในปริมาณสูงและค่าเงินเยนอ่อนค่า ในระยะสั้นรัฐบาลญี่ปุ่นแก้ปัญหาด้วยการอุดหนุนราคาน้ำมันและแก๊สโซลีน รวมถึงออกมาตรการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตสำหรับผู้ประกอบการต่าง ๆ เช่น ธุรกิจประมง เกษตรกรรม และธุรกิจขนส่ง ส่วนมาตรการระยะยาวรัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมกลับมาเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ปิดไปนานกว่า 10 ปี เพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้นเพื่อบรรเทาวิกฤตราคาพลังงาน
นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้ขอความร่วมมือจากภาคประชาชนและภาคธุรกิจร่วมกันลดการใช้ไฟฟ้าที่ไม่กระทบต่อชีวิตประจำวันและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย. 65 เช่น เปิดเครื่องปรับอากาศเท่าที่จำเป็น ปิดไฟเวลาที่ไม่ใช้งาน โดยเฉพาะในช่วงเวลา 17.00-20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลดลง
ศรีลังกายังขาดแคลนก๊าซหุงต้ม
ส่วนคุณกิตติพงศ์ พรหมอินแก้ว ผู้ช่วยรองประธานกรรมการบริษัท Lotus Aquaculture Lanka (PVT) ซึ่งประกอบธุรกิจด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศศรีลังกา เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานในประเทศศรีลังกาขณะนี้ว่า ประเทศศรีลังกาได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอินเดียทำให้สามารถกลับมาจ่ายไฟฟ้าได้ตามปกติ แต่ยังคงขาดแคลนก๊าซหุงต้มทำให้ต้องใช้อย่างประหยัด ในขณะที่ประชาชนบางส่วนหันกลับมาใช้ฟืนแทนก๊าซหุงต้ม โดยปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 50-60% ทำให้ค่าครองชีพของคนศรีลังกาปรับสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ โดยราคาน้ำมันดีเซลจากลิตรละ 121 รูปีลังกา หรือประมาณ 26 บาท ปรับเพิ่มขึ้นเป็นลิตรละ 430 รูปีลังกา ประมาณ 43 บาท ก๊าซหุงต้มขนาด 25 กิโลกรัม ปรับเพิ่มจากราคา 240 บาท เป็น 480 บาท ส่วนค่าไฟฟ้าแม้ปัจจุบันจะยังคงราคาอยู่ที่ยูนิตละ 23 รูปีลังกา แต่มีประกาศต่อเนื่องว่าจะปรับขึ้นค่าไฟฟ้าถึงประมาณ 75%
สิงคโปร์-กัมพูชา เร่งเดินหน้าประหยัดไฟ
ประเทศในภูมิภาคอาเซียนต่างก็ขานรับมาตรการประหยัดพลังงานเช่นเดียวกัน โดยประเทศสิงคโปร์ผลักดันการบังคับใช้ฉลากประหยัดพลังงาน (Mandatory Energy Labelling Schemes : MELS) เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน ส่งเสริมการติดตั้งระบบทำความเย็นแบบรวมศูนย์ (CCS)
ส่วนที่ประเทศกัมพูชาทางรัฐบาลได้อนุมัติเงินอุดหนุนให้การไฟฟ้าแห่งกัมพูชา (EDC) เป็นเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรักษาอัตราค่าไฟฟ้าให้คงที่ และขอให้ประชาชนร่วมกันประหยัดไฟฟ้า
ไทยเร่งจัดหาก๊าซฯ เพิ่ม ตั้งเป้าลดใช้พลังงาน 20%
สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้เห็นชอบให้จัดหาก๊าซฯ เพิ่มเติมจากทั้งแหล่งก๊าซฯ ในอ่าวไทยและพื้นที่พัฒนาร่วมไทยมาเลเซีย เลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 กำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 และให้โรงไฟฟ้าบางปะกงและโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตกเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทนก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงปรับหลักเกณฑ์คำนวณอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับผู้รับใบอนุญาตขนส่งก๊าซธรรมชาติฯ ในส่วนของต้นทุนคงที่ (Td) สำหรับรอบการกำกับ 5 ปี (2565-2569) และส่วนของต้นทุนผันแปร (Tc) สำหรับปี 2565 ของ ปตท. ทำให้สามารถลดต้นทุนค่าผ่านท่อในการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 5,900 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ลดค่าไฟฟ้าลงได้กว่า 3 สตางค์ต่อหน่วย
นอกจากนี้ไทยยังดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานอย่างเข้มข้น โดยตั้งเป้าให้หน่วยงานภาครัฐลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันลง 20% ซึ่งหน่วยงานภาครัฐต่างขานรับมาตรการลดใช้พลังงานอย่างเต็มที่ อาทิ ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26-27 องศาเซลเซียส และกำหนดเวลาปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงพักกลางวันและก่อนเวลาเลิกงานอย่างน้อย 30-60 นาที ปิดลิฟต์บางตัวในช่วงที่มีการใช้งานน้อยและรณรงค์ขึ้น-ลงชั้นเดียวไม่ใช้ลิฟต์ รณรงค์ให้พนักงานสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีและงดใส่สูท สนับสนุนการประชุมออนไลน์เพื่อลดการเดินทางและการใช้น้ำมัน รวมถึงชวนคนไทยร่วมลดใช้พลังงานผ่านโครงการล้างแอร์ช่วยชาติซึ่งสามารถดำเนินการล้างแอร์ไปแล้วกว่า 15,000 เครื่อง ประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 2.26 ล้านหน่วย หรือเปรียบเทียบเป็นค่าไฟฟ้าที่ลดลง 17.93 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 1,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ชวนคนไทยปรับนิสัยลดใช้พลังงาน
สำหรับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าก็สามารถช่วยประเทศได้ด้วยการประหยัดพลังงานแบบง่าย ๆ เพียงปรับนิสัยการใช้ไฟฟ้าและเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและประหยัดไฟฟ้ายิ่งกว่าเดิมเมื่อเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีฉลากเบอร์ 5 ดังนี้
⦁ เครื่องปรับอากาศ ควรเลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว มีขนาดเหมาะสมกับขนาดห้อง ตั้งอุณหภูมิที่ 25-26 องศาเซลเซียส เพราะอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะช่วยลดค่าไฟฟ้าประมาณ 10% ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท และล้างแอร์อย่างน้อยทุก 6 เดือน
⦁ ตู้เย็น ควรเลือกใช้ตู้เย็นที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว ลดการเปิด-ปิดประตูตู้เย็นทิ้งไว้นานเกินความจำเป็น ไม่ใส่ของที่มีอุณหภูมิสูง ไม่ใส่ของแน่นเกินไป และควรวางตู้เย็นห่างจากผนังอย่างน้อย 15 เซนติเมตร
⦁ หลอดไฟ เลือกใช้หลอดไฟแอลอีดี (E27) ขนาด 7 วัตต์ แทนหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (CFL) ขนาด 13 วัตต์ และปิดสวิตช์ทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน
⦁ พัดลม เลือกใช้พัดลมที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว มีขนาดเหมาะสมกับการใช้งาน เปิดความแรงเบอร์ 1 ปิดและถอดปลั๊กทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน และหมั่นทำความสะอาดใบพัดอยู่เสมอ
⦁ เตารีด เลือกใช้เตารีดที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว รีดผ้าครั้งละมาก ๆ ไม่พรมน้ำมากเกินไป และถอดปลั๊กก่อนเสร็จสิ้นการรีดประมาณ 2 นาที เพราะความร้อนที่เหลืออยู่ในเตารีดไฟฟ้ายังสามารถรีดผ้าชนิดที่ไม่ต้องการความร้อนมาก
⦁ โทรทัศน์ เลือกใช้โทรทัศน์ที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว และถอดปลั๊กทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน
เมื่อวิกฤตพลังงานยังไม่คลี่คลายในเวลาอันใกล้ ทั่วโลกต่างเดินหน้าเปิดโหมดประหยัดพลังงานอย่างเต็มที่ โดยหวังพึ่งพลังประชาชนในการลดใช้พลังงานในภาพรวม ลดความเสี่ยงการขาดแคลนพลังงาน ตลอดจนลดการนำเข้าพลังงานราคาสูง ถึงเวลาของประเทศไทยแล้วเช่นกันที่ต้องช่วยกันลดใช้พลังงานอย่างจริงจังเพื่อให้ประเทศอยู่รอดในวิกฤตพลังงานครั้งนี้