นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการผลักดันหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยที่เกิดจากฝีมือของช่างท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้านให้ก้าวไปสู่เวทีสากล ถึงเวลาแล้วที่เราจะเปิดตลาดการค้าแบบไร้พรมแดน

“วันนี้ผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพจะไม่เป็นที่รู้จักแค่ภายในประเทศ แต่จะต้องก้าวไปสู่ตลาดโลกด้วย” คือภารกิจสำคัญที่ นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผอ.สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ตั้งเป้าผลักดันให้ได้ในปีนี้

นายพรพลเผยว่า ช่วงการระบาดของโควิด-19 กระแสความนิยมผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยเกิดแพร่หลายในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสร้างสรรค์และผลิตผลงานใหม่ๆ สอดรับไปกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน

อีกทั้งผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยยังเป็นที่รู้จักและนิยมในหมู่ต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ตลาดตะวันออกกลาง และยุโรป

เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการเตรียมก้าวสู่การแข่งขันในเวทีสากล sacit จะเป็นพี่เลี้ยงพัฒนาสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่งานศิลปหัตถกรรมไทย ตลอดจนให้องค์ความรู้ในช่องทางจัดจำหน่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์

โดยปีนี้มีเป้าหมายจะนำร่องพาผู้ประกอบการเปิดตลาดการค้าต่างประเทศในรูปแบบของการจับคู่ธุรกิจ หรือ Business Matching เพื่อผลักดันให้หัตถกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

sacit กำหนดจัดงาน “อัตลักษณ์แห่งสยามครั้งที่ 13” และ “Crafts Bangkok 2022” ระหว่างวันที่ 8-11 ก.ย.65 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายใต้แนวคิด “The power of Traditional and Modern Cultural Blend : ผสานภูมิปัญญาอย่างร่วมสมัย ส่งต่อฝีมือคนไทยสู่สากล”

...

เป็นการรวม 2 งานใหญ่ไว้ในงานเดียว ภายในงานจะมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และโครงการเซรามิก สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็นต้น

มีสมาชิกผู้ผลิตงานหัตถกรรมร่วมสมัยนับหมื่นรายการรวมกว่า 650 ร้านค้ามาให้เลือกช็อปกันอย่างจุใจ.

ทีมข่าวภูมิภาค