“บ้านเรามีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งเพาะปลูก ผลิตอาหารหลายชนิด จึงมีความมั่นคงทางอาหารอยู่ในเกณฑ์สูง ต่างจากหลายประเทศที่ต้องเผชิญการขาดแคลนอาหาร อันส่งผลกระทบกับทุกด้าน แต่การต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ทุกประเทศล้วนตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ยิ่งรวมกับปัญหาการเพิ่มจำนวนประชากรโลก ภาวะโลกร้อน แรงงานด้านเกษตรลดลง สิ่งเหลือทิ้งจากการบริโภค ยิ่งจำเป็นต้องยกระดับความมั่นคงทางอาหารให้ไปสู่ทิศทางที่ดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีอาหารหรือฟู้ดเทคผ่านการสร้างสตาร์ตอัพ ตอกย้ำความเป็นครัวโลก ที่ไม่ได้มีดีแค่อาหารอร่อยหรือผลิตปริมาณอาหารได้ตามความต้องการได้เพียงอย่างเดียว”

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA บอกถึงความสำคัญของฟู้ดเทค ที่จะมาตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารของไทยในอนาคต...ที่ผ่านมาแม้ไทยมีวัตถุดิบเพียงพอต่อความต้องการ มีระบบโลจิสติกส์ที่เข้มแข็ง ทำให้อุตสาหกรรมอาหารโดดเด่นทั้งระดับประเทศและระดับโลก แต่มิติของการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ยังไม่มีความหลากหลาย ตลาดส่วนใหญ่จึงอยู่แค่ในระดับเอสเอ็มอีที่เน้นบริโภคในประเทศ และขาดการวิจัยและพัฒนา

...

NIA จึงตั้งเป้าหมายที่จะบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของธุรกิจด้านเทคโนโลยีอาหาร หรือ ฟู้ดเทค เพื่อตอบโจทย์ความ ต้องการของตลาด และสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก พร้อมแก้ปัญหา 9 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ อาหารเพื่อสุขภาพ โปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิตอัจฉริยะ บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต ส่วนผสมและอาหารใหม่ วัสดุชีวภาพและสารเคมี เทคโนโลยีการ บริหารจัดการร้านอาหาร การตรวจสอบควบคุม คุณภาพความปลอดภัยของอาหาร และการบริการอัจฉริยะด้านอาหาร ซึ่งในทุกการเกิดขึ้นของสตาร์ตอัพและนวัตกรรม มักจะทำให้ทุกคนได้เห็นสิ่งใหม่ที่มีมูลค่าหรือโซลูชันที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงเป้า

นอกจากการปั้นสตาร์ตอัพ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารแล้ว NIA ยังมีเป้าหมายที่จะผลักดันกรุงเทพฯให้เป็น “ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์” หรือ “ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมอาหารของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และระดับโลก” เป็นจุดพบปะของสตาร์ตอัพและนักลงทุนในพื้นที่แห่งเทคโนโลยีอาหารขั้นสูง (ดีพเทค) และเป็นแลนด์มาร์กแห่งการพัฒนาวัตถุดิบที่มีในประเทศให้เกิดมูลค่าสูงขึ้น

...

ทั้งนี้ หากมองภาพรวมด้านการลงทุนของสตาร์ตอัพทั่วโลก จะพบว่าธุรกิจที่เป็นดีพเทคด้านอาหารและเกษตรยังเติบโตต่อเนื่อง ไม่แพ้ธุรกิจกลุ่มอีคอมเมิร์ซและฟินเทค ซึ่งไทยเรามีบริษัทและกลุ่มธุรกิจด้านอาหารที่มีห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 ตลาดฟู้ดเทคจะมีมูลค่าสูงถึง 7.76 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากเป้าหมายในการผลักดันกรุงเทพมหานครให้เป็นฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์ผ่านโครงการ สเปซเอฟ (Space-F) ที่ดำเนินมากว่า 3 ปี เกิดฟู้ดเทคสตาร์ตอัพแล้วกว่า 50 ราย ซึ่งอยู่ในช่วงการเจริญเติบโต และได้รับการลงทุนจากธุรกิจเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มโปรตีนทดแทน/โปรตีนทางเลือก.

กรวัฒน์ วีนิล