นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม กล่าวชี้แจงประเด็น ข้อวิจารณ์โครงการทางหลวงพิเศษบางปะอิน-นครราชสีมา ว่า จากการวิจารณ์โครงการทางหลวงพิเศษบางปะอิน-นครราชสีมา ที่รัฐบาลอนุมัติให้ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2565 แต่ผ่านมาแล้ว 7 ปี ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเสร็จเมื่อใด อีกทั้งยังมีการของบประมาณเพิ่มอีก 6,000 ล้านบาท โดยอ้างเหตุผลต้องแก้ไขแบบ ซึ่งมีการแก้ไขแบบก่อสร้างจำนวนมากถึง 17 ตอน เพราะเพิ่งจะทราบว่าเส้นทางการก่อสร้างเดิม ที่ระบุว่าผ่านพื้นที่นา กลายเป็นต้องผ่านหุบเขา จึงสงสัยว่าก่อนการก่อสร้างมีการสำรวจเส้นทางแล้ว แต่เหตุใดไม่ทราบว่าพื้นที่ใดเป็นท้องนา ที่ใดเป็นหุบเขา พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า โครงการดังกล่าวมีการดำเนินการที่โปร่งใสหรือไม่นั้น กรมทางหลวง ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (หรือมอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา พร้อมทั้งการออกแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2547 ต่อมากรมทางหลวงได้ว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2551 หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 อนุมัติให้กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง) ดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร ในกรอบวงเงิน 84,600 ล้านบาท
การก่อสร้างงานโยธาแบ่งเป็น 40 ตอน ซึ่งได้เริ่มต้นสัญญาก่อสร้างในช่วงปี 2559 - 2560 ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 24 ตอน ส่วนที่เหลือ 16 ตอน ยังก่อสร้างไม่เสร็จ มีปัญหาอุปสรรคจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงแบบก่อสร้างตามสัญญาให้เหมาะสม ทำให้มีค่างานเพิ่มขึ้นประมาณ 6,755 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อปี 2558 โดยสรุปประเด็นปัญหาหลักในภาพรวมของโครงการ ได้เป็น 4 กรณี ดังนี้
1.) สภาพพื้นที่จริงที่เริ่มทำการก่อสร้างในปี 2560 ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยสำรวจออกแบบไว้ตั้งแต่ปี 2551
2.) ได้ปรับปรุงรูปแบบทางวิศวกรรมให้สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพ และสภาพชั้นดินทางธรณีวิทยา ของพื้นที่ก่อสร้างในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความแข็งแรงของตัวโครงสร้างของมอเตอร์เวย์ และประชาชนเดินทางใช้งานได้อย่างปลอดภัย
3.) ปรับรูปแบบให้เหมาะสมสอดคล้องกับโครงสร้างงานสาธารณูปโภค ต่างๆ ข้อจำกัด เงื่อนไข หรือความจำเป็นของหน่วยงานอื่น ที่มอเตอร์เวย์ตัดผ่าน เช่น การยกระดับความสูงเพิ่มขึ้นมอเตอร์เวย์ส่วนที่ข้ามคลองชลประทาน หรือการสร้างกำแพงครอบมอเตอร์เวย์ในช่วงที่ผ่านเรือนจำกลางคลองไผ่ อ.สีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น
4.) การปรับรูปแบบการก่อสร้าง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ และให้สอดคล้องกับโครงข่ายถนนที่ประชาชนใช้ทางในปัจจุบัน เช่น การก่อสร้างทางขนานตามแนวมอเตอร์เวย์ในบางช่วง หรือก่อสร้างทางลอดเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้าออกพื้นที่ได้สะดวก
นายสราวุธ กล่าวต่อว่า กรมทางหลวงได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งในด้านวิศวกรรมงานทางและโครงสร้าง และการบริหารสัญญาก่อสร้าง โดยมีหน่วยงานภายนอกร่วมเป็นคณะกรรมการ รวมทั้งได้ทำหนังสือหารือระเบียบข้อกฎหมาย และแนวทางการดำเนินการต่อไป กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส คุ้มค่า ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
ในปัจจุบันกรมทางหลวงได้มีหนังสือเสนอต่อกระทรวงคมนาคม และสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณารายละเอียด ขออนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณและขยายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเพิ่มเติม โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน - สระบุรี - นครราชสีมา จำนวน 16 ตอน ซึ่งคาดว่ากระทรวงคมนาคมจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติวงเงินค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ในเดือนกันยายน 2565 นี้ เมื่อได้รับอนุมัติวงเงินเพิ่มเติม กรมทางหลวงจะได้วางแผนเร่งรัดงานก่อสร้างในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ในเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดใช้งานบางส่วนได้ภายในปลายปี 2566 และจะทยอยเปิดให้บริการฟรี พร้อมทดสอบระบบการเก็บเงินค่าผ่านทางในปี 2567 และเปิดบริการเต็มรูปแบบตลอดสาย ต้นปี 2568 ต่อไป