มิจฉาชีพออนไลน์กลายเป็นภัยใกล้ตัวที่หลายคนเริ่มหวาดระแวง เกรงจะแจ็กพอตเจอกับตัวจนเกิดความเสียหาย แต่จริงๆ หากเราใส่ใจรายละเอียดและตั้งข้อสังเกตไว้บ้าง ก็จะสามารถเอาชนะมิจฉาชีพได้ไม่ยากเช่นกัน มีข้อมูลหนึ่งเกี่ยวกับการรับมือมิจฉาชีพแก๊ง Call Center ที่บังเอิญไปเจอในรายการ Krungsri The COACH ช่อง YouTube : KrungsriSimple ซึ่งน่าสนใจมากทีเดียว เลยขอถือโอกาสนำมาเรียบเรียงบอกต่อ เพื่อให้ทุกคนที่นี่ ทันเกมกลลวงของเหล่ามิจฉาชีพ แก๊ง Call Center ในยุคนี้กัน
3 ข้อสังเกต แบบนี้มาไม่ดีแน่ๆ
1. SMS ปลอม
มักจะในรูปแบบ Link เพื่อให้อัปเดตแอปพลิเคชันจากธนาคาร แม้ชื่อเว็บไซต์จะคล้ายธนาคารจริงมากๆ แต่หากลองสังเกตดีๆ จะพบตัวสะกดที่ไม่เหมือนกับชื่อธนาคารจริง แม้จะใส่ Logo ธนาคาร ทำสีให้มีความคล้ายกับสีของธนาคารจริงเพื่อลูกค้าหลงเชื่อก็ตาม โดยมากหวังจะได้ข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลขบัตรประชาชน และเลขเลเซอร์หลังบัตร, วันเดือนปีเกิด, เลขที่บัญชีเงินฝาก, รหัส OTP, หมายเลขหน้าบัตร ATM, PIN เพื่อเอาข้อมูลส่วนตัวดังกล่าวนี้ไปสวมรอยใช้งาน Mobile App แทน
2. เบอร์โทรประหลาด
ส่วนมากจะขึ้นต้นด้วยเบอร์โทรจากต่างประเทศ เช่น +083 +870 หรือมีจำนวนหลักเยอะๆ หรือมาจากจังหวัดที่ไม่คุ้นเคย บางคนอาจเลือกกดทิ้ง แต่บางคนที่ไหวตัวไม่ทันกดรับสาย ก็อาจได้เจอกับกลลวง เช่น พูดให้วิตกกังวลเรื่องบัตรเครดิตมียอดคงค้าง พบบัญชีเงินฝากพัวพันกับยาเสพติดหรือฟอกเงิน มีพัสดุผิดกฎหมายต้องสงสัย หรือเป็นผู้โชคดีจากการสุ่มแจกของรับรางวัลต่างๆ ที่ต้องจ่ายภาษีก่อน บางกรณีมิจฉาชีพทำงานกันเป็นทีม โอนสาย หรือให้คุยผ่าน Line เพื่อเปิดกล้อง มีมิจฉาชีพปลอมตัวเป็นตำรวจ พูดให้เรื่องหลอกลวงดูน่าเชื่อถือ
3. โทรแจ้งแปลกๆ
บางกรณีมีการโทรเข้ามาเพื่อสร้างเรื่อง และโน้มน้าวให้ไปตู้ ATM โดยด่วน หลอกให้โอนเงิน หรือแนะนำให้ไป Click link เพื่อกรอกข้อมูลส่วนตัวสำคัญต่างๆ โดยอาจติดตั้งแอปบางประเภทที่สามารถทำงานในลักษณะรีโมตควบคุมมือถือระยะไกล จนเข้าถึงและควบคุมมือถือเพื่อทุจริตโอนเงินได้
รู้ทันแล้วต้อง “รับมือ” ให้เป็น
มีคำแนะนำจากโค้ชในรายการ ในเรื่องของการรับมือกับมิจฉาชีพลักษณะนี้ โดยเป็นวิธีง่ายๆ ที่เริ่มต้นจากตัวเราเองได้ทันที
1. ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวใดๆ ทั้งหมายเลขหน้าบัตร ATM & PIN เลขที่บัญชีเงินฝาก รหัส OTP รวมถึงรหัสผ่านปลดล็อกโทรศัพท์ และคอมพิวเตอร์ กับผู้อื่น
2. หากพบคนโทรมาอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ หรือองค์กรใดๆ ต้องมีเอกสารและนัดหมายไปที่ทำการเท่านั้น โดยให้สอบถาม ยศ ชื่อ-สกุล ตำแหน่ง หน่วยงานใด ก่อนวางสายและแจ้งขอโทรกลับที่เบอร์กลางด้วยตนเอง
3. หากมีการอ้างให้ต้องโอนเงินเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ห้ามโอนเงินโดยเด็ดขาด เนื่องจากไม่มีกระบวนการการทำงานที่เจ้าหน้าที่รัฐจะขอให้ลูกค้าโอนเงินให้เพื่อตรวจสอบ
4. ไม่ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก หรือไม่น่าเชื่อถือในโทรศัพท์มือถือ และควรลบแอปที่ไม่รู้จัก หรือไม่ใช้งานทิ้งไป
5. ตั้งรหัสล็อกหน้าจอ สำหรับการเข้าใช้มือถือ รหัสปลดล็อกโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งรหัสเข้าใช้งาน Mobile Banking Application ที่ไม่ง่ายต่อการเข้าถึงจนเกินไป
6. ไม่ใช้งาน Mobile Banking Application จากโทรศัพท์มือถือที่ทำการปลดล็อก หรือละเมิดระบบความปลอดภัยของโทรศัพท์เด็ดขาด
7. ไม่เก็บชื่อ Username Password PIN หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขบัตรเครดิต หมายเลขบัญชีธนาคาร ไว้ในโทรศัพท์ เผื่อกรณีโทรศัพท์มือถือสูญหายและอยู่ในมือผู้ไม่ประสงค์ดี
8. เมื่อเสร็จสิ้นการใช้งาน ต้อง Log Out ออกจากโปรแกรม หรือแอปพลิเคชัน Mobile Banking Application ทุกครั้ง และควรเปิดรับการแจ้งเตือนทุกครั้งที่เข้าใช้บริการ
9. เพื่อความรอบคอบ ให้กำหนดวงเงินสำหรับการใช้งาน ทั้งการโอนเงิน การชำระเงินที่เหมาะสม ให้ไม่สูงจนเกินไป
แต่ถ้าหากพลาดโอนเงินไปแล้วล่ะ!
สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือ โทรเข้าไปแจ้งอายัดบัญชีที่ Call Center ของธนาคารนั้นๆ ทันที จากนั้นจึงแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อเตรียมยื่นเอกสารดำเนินไปยังธนาคารต่อไป
นับว่าเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจ และมีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะในวันที่มิจฉาชีพออนไลน์เกลื่อนเมืองเช่นนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากผู้คนฉลาดเท่าทันขึ้น มิจฉาชีพก็จะเริ่มแพ้ทางแน่นอน หรือหากมีกลลวงใหม่ๆ ของมิจฉาชีพมากขึ้น ก็ควรแจ้งข่าวสารเพื่อให้คนอื่นๆ ได้รู้เท่าทันไปด้วยกัน
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก ช่อง YouTube Krungsri Simple อย่างมาก จริงๆ แล้วนอกจากเรื่องนี้ก็ยังมีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องเงินอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกเพียบ กับ Krungsri The COACH ที่ได้โค้ชด้านการเงินตัวจริงเข้ามาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน ให้ความรู้แบบเข้าใจง่ายตรงหน้า
ลองแวะเข้าไปดูได้ที่ช่อง YouTube : Krungsri Simple