หนังสือ “เคล็ดลางอาถรรพณ์” ของอาจารย์ “พลูหลวง” เล่มที่ผมใช้จนช้ำ...เป็นหนังสือขายดี สำนักพิมพ์ข้าวฟ่างพิมพ์เป็นครั้งที่ 10 หลายเรื่องเป็นเกร็ดความรู้สั้นๆ เกร็ดต่อไปนี้เป็นเรื่องต้นไม้

ต้นสิงหะโมรา เป็นไม้จำพวกผักหนาม หรือบอน ชาวราชบุรีนิยมปลูกใส่กระถางวางหน้าบ้าน ถือกันว่ามีอำนาจป้องกันภูตผีปิศาจ บ้านใดปลูกต้นสิงหะโมราจะไม่มีปิศาจมารบกวน

ต้นช้อยนางรำ ต้นไม้พุ่มเล็กๆ มีหูสองหูเล็กที่โคน ใบกระดุก กระดิกได้ แม้เราเอาไปใส่ในตู้กระจกไม่มีลมพัด แล้วช่วยกันตบมือ ใบอ่อนของไม้นี้จะกระดิกเป็นจังหวะ ด้วยมีประสาทสัมผัสกับเสียงได้

บางทีเราจ้องดูอยู่นิ่งๆไม่เคลื่อนไหวใดๆ มันก็จะกระดิกใบได้เอง

กระถินพิมาน เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ลำต้นสูง ใบเป็นฝอยเหมือนกระถิน รากมีคุณสมบัติถอนพิษตะขาบ แมงป่องและงูพิษ

บางแห่งมีเคล็ด ต้องขุดเอารากที่ชอนไปทางทิศตะวันออก เอามาฝนกินกับเหล้า และทาบาดแผลที่ถูกงูกัด ถอนพิษได้ดี

เห็ดที่เกิดจากไม้ผุกระถินพิมานเอามาฝนกับน้ำปูนใส ทาแก้ฝีแก้แผลเปื่อยนานาชนิดดีเลิศ

มาถึงกระเทียม ฝรั่งถือว่ามีอาถรรพณ์กันผี เอาต้นกระเทียมแขวนไว้ตามประตูหน้าต่างผีจะไม่กล้าเข้าบ้าน แบบเดียวกับผีไทยที่กลัวใบหนาด

แต่ชาวอินเดียใช้กระเทียมเป็นยา เอามาโขลกไว้สระผม ป้องกันผมหงอกก็ได้

ตำราสมุนไพรของไทย กระเทียมเป็นยาถ่ายพยาธิ แก้โรคปอดก็ได้ ทาแก้กลากเกลื้อนก็ได้

กระบือเจ็ดตัวเป็นไม้พุ่มขนาดย่อม สูงราวสี่ห้าฟุต ตำราโบราณไทย ว่า หญิงคลอดบุตรใหม่ๆเป็นสันนิบาตหน้าเพลิงคือบาดทะยักที่ปากมดลูก โลหิตทำให้สลบ หรือตายไปแล้ว แต่ตัวยังอุ่น

เคยมีคนใช้ใบกระบือเจ็ดตัวเจ็ดแปดใบตำให้ละเอียดปนกับสุรา คั้นเอาน้ำยา งัดปากคนตายกรอกเข้าไปหนึ่งนาทีก็ฟื้น

...

มีเรื่องเล่าว่า คนตายเป็นเศรษฐี สมนาคุณหมอผู้รักษาด้วยกระบือเจ็ดตัว สมุนไพรนั้นเดิมชื่ออะไรจำไม่ได้แล้ว จึงได้ชื่อใหม่เรียกกันติดปากว่า ต้นกระบือเจ็ดตัว

ต้นเขยตาย อาจารย์พลูหลวงไม่บอกลักษณะต้น เล่าเพียงตำนาน ลูกเขยถูกงูกัดตาย เมียเอาแต่นั่งร้องไห้ แต่แม่ยายไปเอารากต้นเขยตายมาฝนกับสุรากรอกเข้าไปในปากเขยก็ฟื้น

ต้นไม้ต้นนี้จึงมีชื่อเติม ต้นเขยตายแม่ยายงัดปาก

ต้นกะเพรา ต้นที่คนไทยคุ้นตา คุ้นชื่อ และคุ้นลิ้น (ข้าวผัดกะเพราไข่ดาว) แต่สำหรับชาวอินเดียเป็นต้นไม้วิเศษ คนฮินดูนิยมปลูกหน้าบ้าน ถือกันว่าจะเกิดทั้งสิริมงคลต่างๆ ทั้งยังป้องกันภัยได้สารพัด

แล้วก็มาถึง “กัญชา” ต้นไม้ที่วันนี้มีทั้งคนเชียร์และคนชัง

อาจารย์พลูหลวงบันทึกว่า คนเป็นโรคอหิวาต์อ่อนๆ ท่านให้ไปหาน้ำในบ้องกัญชา (สมัยไหนๆก็คงหาไม่ยากหรอกน่า!) รอให้คนป่วยหลับ เมื่อตื่นขึ้นมาก็หาย

เมล็ดกัญชากลมๆเล็กๆขนาดลูกผักชี คนเลี้ยงนกสมัยโบราณมักไปหามาป้อนให้นกคีรีบูนกิน กินมากๆนกจะช่างพูด ขยันพูด แถมยังร้องเพลงได้ไพเราะจับใจ

นี่คือข้อดีของกัญชาของคนรุ่นเก่า ส่วนคนรุ่นใหม่ ที่เชื่อในข้อดีของ กัญชา...ผมเพิ่งได้คุยกับหมอต้อม (ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร) ตัวจริงเสียงจริงหมอยาสมุนไพร ที่เคยได้ยินชื่อเสียง รณรงค์ฟ้าทะลายโจร หรือกัญชามา นับสิบๆปี

หมอย้ำก่อนลาให้ช่วยๆกันดูแล ไม่ให้กัญชาหลุดไปในมือของนายทุน หมออยากให้กัญชาอยู่กับชาวบ้าน หมอเชื่อว่าชาวบ้านฉลาดพอจะแยกแยะเองว่า ส่วนไหนของกัญชาเป็นโทษ ส่วนไหนให้คุณ.

กิเลน ประลองเชิง