สปสช.เพิ่มการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านระบบการแพทย์ทางไกล ที่ใช้สิทธิประกันสังคมผ่าน 3 แอปพลิเคชัน เพิ่มความสะดวกในการเข้ารักษาโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยอาการเล็กน้อย “หมอธีระ” ห่วงโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.75 ที่พบครั้งแรกในอินเดียและระบาดแซงสายพันธุ์ BA.5 ที่ระบาดในประเทศไปแล้ว หวั่นมีสมรรถนะการแพร่ระบาดมากกว่านี้ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อเตรียมปิดศูนย์สิ้นเดือน ก.ย. หลังมีการปรับลดสถานะจากโรคติดต่ออันตรายเหลือเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่พร้อมเปิดให้บริการใหม่ได้ทันทีใน 1 วัน หากโควิด-19 หวนกลับมาระบาดหนัก
เหล่าอาจารย์แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ต่างๆยังคงมีความห่วงใยสถานการณ์โควิด-19 ในไทย โดยเมื่อวันที่ 17 ส.ค. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่าแนวโน้มการระบาดของ BA.5 ตอนนี้ ทั่วโลกดูจะเริ่มชะลอตัวลง คาดว่ายอดติดเชื้อสะสมจะทะลุ 600 ล้านคน ภายในปลายเดือน ส.ค. ส่วน BA.2.75 ที่พบครั้งแรกในอินเดีย ระบาดแซง BA.5 ภายในประเทศและยังพบในประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ จากการติดตามพบว่ามีแนวโน้มระบาดขยายตัวขึ้น แต่อัตราการขยายตัวของ BA.2.75 ประมาณ 0.07 ต่อวัน น้อยกว่า BA.5 ที่เคยสูงกว่าถึง 2 เท่า หากดูค่าที่สะท้อนถึงสมรรถนะการแพร่เชื้อของ BA.2.75 ในอเมริกาขณะนี้อยู่ที่ 1.3 ถือว่าน้อยกว่า BA.5 ช่วงต้นของการระบาด อาจพอประเมินได้ว่า หากระลอกถัดไปของโลกเป็น BA.2.75 อัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่อาจไม่เร็วนัก จำนวนติดเชื้อที่เกิดขึ้นอาจไม่มากเท่า BA.5 แต่อาจมีสายพันธุ์ใหม่ๆเกิดขึ้นและมีสมรรถนะในการแพร่ระบาดมากกว่านี้ การดำเนินชีวิตจึงควรมีสติ ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท
...
รศ.นพ.ธีระโพสต์อีกว่า คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลวิจัยในวารสารการแพทย์ระดับโลก เปรียบเทียบความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำระหว่างกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทั้งช่วงก่อนฉีดวัคซีนและช่วงหลังจากฉีดวัคซีนกับสถิติของกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ช่วงปี 2018-2019 พบว่าผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จนต้องเข้ารักษาใน รพ. จะมีความ เสี่ยงที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำภายใน 90 วัน มากกว่าโรคไข้หวัดใหญ่ ร้อยละ 60-90
วันเดียวกัน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ สปสช.ร่วมกับบริษัทกู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Good Doctor Technology ทรู เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) และบริษัท คลิกนิก เฮลท์ จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านระบบการแพทย์ทางไกล มีผู้เข้ารับบริการตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.-17 ส.ค. จำนวน 5,388 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวและกลุ่ม 608 ที่มีอาการไม่มาก เป็นการให้บริการเฉพาะผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง สิทธิพนักงานส่วนท้องถิ่นและสิทธิสวัสดิการข้าราชการเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมผู้ใช้สิทธิประกันสังคม
ทพ.อรรถพรกล่าวต่อว่า สปสช.จึงประสานไปที่สำนักงานประกันสังคม ดำเนินการให้ผู้มีสิทธิประกันสังคมที่เป็นผู้ป่วยโควิด ใช้สิทธิรับบริการแพทย์ทางไกลจาก 3 แอปพลิเคชันดังกล่าวได้ ต่อมาสำนักงานประกันสังคมแจ้งว่า ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การดูแลผู้ติดเชื้อโควิดฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ครอบคลุมการให้บริการระบบการแพทย์ทางไกลแล้วจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ผู้ให้บริการทั้ง 3 แอปพลิเคชัน พร้อมให้บริการผู้มีสิทธิประกันสังคมแล้วเช่นกัน ทั้งบริการแพทย์ ทางไกลและบริการส่งยาฟรีถึงบ้าน โดยให้ผู้ป่วยเลือกลงทะเบียนแอปพลิเคชันใดแอปพลิเคชันหนึ่ง ดังนี้
1.แอปพลิเคชัน Clicknic เข้าไปที่ https://forms.gle/hfo2Wr9jdvybn8d57 รับผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ ทั้งกลุ่มสีเขียวและกลุ่ม 608 สอบถามเพิ่มเติมที่ไลน์ไอดี : @clicknic 2.แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) เข้าไปที่ https://form.typeform.com/to/cNKqNz3p รับเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวทั่วประเทศ ไม่รับกลุ่ม 608 สอบถามได้ที่ไลน์ไอดี : @mor deeapp 3.แอปพลิเคชัน Good Doctor Technology เข้าไปที่ : https://forms.gle/ YKVMKy1p8FRDDBje7 รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวในพื้นที่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ไม่รับกลุ่ม 608 สอบถามได้ที่ไลน์ไอดี : @gdtt. ผู้ป่วยทุกสิทธิสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช.1330
อีกด้านที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง และ ผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เตรียมปิดการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อในวันที่ 31 ส.ค. เนื่องจากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติปรับลดสถานะโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 เป็นต้นไป ต่อมา นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค หารือร่วมกันเห็นว่าศูนย์ควรเปิดให้บริการไปถึงวันที่ 30 ก.ย. เพราะคาดว่าประชาชนอาจตัดสินใจมารับวัคซีนรุ่นนี้ก่อนมีวัคซีนรุ่นใหม่ ภายหลังปิดศูนย์ อุปกรณ์ต่างๆ กรมการแพทย์จะฝากไว้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย หากเกิดการระบาดขึ้นอีกศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อจะกลับมาให้บริการได้ทันทีโดยใช้เวลาเตรียมความพร้อม 1 วัน ก็เปิดให้บริการได้
...
พญ.มิ่งขวัญกล่าวต่อว่า ช่วงระยะเวลาอีก 1 เดือนเศษ ศูนย์จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับวัคซีนผ่านเครือข่ายมือถือ 4 เครือข่าย ได้แก่ ทรู เอไอเอส ดีแทค และเอ็นที โดยจะเริ่มลงทะเบียนทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ในวันที่ 25 ส.ค.เป็นต้นไป รวม 4 เครือข่าย วันละ 12,000 คน ส่วนวอล์กอินรับได้ประมาณวันละ 7,000-10,000 คน ไม่อยากให้ประชาชนตกใจว่าศูนย์จะปิดแล้วแห่กันมาฉีด ทั้งนี้ คนที่รับวัคซีนเข็มกระตุ้นควรห่างจากเข็มล่าสุดอย่างน้อย 4 เดือน อยากให้ลงทะเบียนจองล่วงหน้าเพื่อลดความแออัด วัคซีนที่จะฉีด ได้แก่ ไฟเซอร์ แอสตราเซเนกา ส่วนวัคซีนโมเดอร์นาหากได้รับการจัดสรรมาเพิ่มจะประกาศให้ทราบ
ขณะที่ ศบค.รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในไทยว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,461 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 28 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 4,626,057 ราย หายป่วยสะสม 4,574,240 ราย เสียชีวิตสะสม 31,915 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 596,934,012 ราย และเสียชีวิตสะสม 6,459,290 ราย