การใช้ “ATK” หรือ “Rapid antigen test”...US FDA ออกประกาศเตือนประชาชนล่าสุดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ให้ระวังเรื่อง “ผลลบปลอม”
กล่าวคือ...ชุดตรวจเองที่บ้านนั้นมักมีปัญหาเรื่อง “ความไว” ทำให้ เกิด “ผลลบปลอม” ได้สูง แปลว่า...ติดเชื้อแต่ตรวจได้ผลลบ ทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองไม่ติดเชื้อ และมีโอกาสที่จะประมาทใช้ชีวิตไม่ป้องกันตัว และแพร่ให้คนใกล้ชิดและชุมชนได้
คำแนะนำคือ...หากตรวจแล้วได้ผลบวก มักจะบ่งชี้ถึงการติดเชื้อจริง
สำหรับ “คนที่มีประวัติสัมผัสหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อ แต่ยังไม่มีอาการ” หากตรวจ ATK แล้วได้ผลลบในครั้งแรก อย่าชะล่าใจ ควรตรวจซ้ำในอีก 48 ชั่วโมง
และแม้จะยังได้ผลลบอีกครั้ง ก็ควรตรวจซ้ำเป็นครั้งที่สามในอีก 48 ชั่วโมงถัดมา
ส่วน “คนที่มีอาการป่วย” สงสัยว่าจะเป็นโควิด-19 หากตรวจ ATK แล้วได้ผลลบในครั้งแรก อย่าชะล่าใจ ควรตรวจซ้ำในอีก 48 ชั่วโมง แต่หากได้ผลลบอีกครั้งและยังมีความกังวล ควรตรวจซ้ำเป็นครั้งที่สามในอีก 48 ชั่วโมงถัดมาด้วย ATK หรือหาทางไปตรวจ RT-PCR หรือ ปรึกษาแพทย์
...
ถ้าครั้งใดที่ตรวจแล้วได้ผลบวก ก็แปลว่า...มีโอกาสติดเชื้อจริง ควรปฏิบัติตัวตามข้อปฏิบัติสำหรับผู้ติดเชื้อ เช่น ไปทำการรักษา และแยกตัวจากคนอื่น
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ บอกว่า คำแนะนำข้างต้นสอดคล้องกับที่เคยเตือนไว้ตั้งแต่ปีก่อน ตอนช่วงต้นๆที่มีการนำ ATK มาใช้ในเมือง ไทยยาวมาถึงปัจจุบันว่า...ต้องระวังเรื่องผลลบปลอมให้ดี การตรวจซ้ำเป็นระยะๆนั้นมีความสำคัญมาก
บันทึกสถานการณ์การระบาด “โควิด-19” วันที่ 12 สิงหาคม 2565 ประเด็นที่ควรระวังคือ การปล่อยข่าวให้คนเข้าใจผิดคิดว่ายังไงก็หนีไม่พ้นการติดเชื้อ
รวมถึงการชักแม่น้ำทั้งห้ามาตะล่อมให้คนเข้าใจว่าไวรัสอ่อนลง ทั้งที่ “ความจริงทางการแพทย์” นั้นชี้ให้เห็นว่าไวรัสโควิด-19 นั้นยังแพร่ระบาดเร็ว รุนแรง ติดแล้วป่วยและตายได้ แม้จะได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาก่อนก็ตาม
นอกจากนี้ ปัญหาผิดปกติระยะยาวอย่าง “ลองโควิด (Long COVID)” ก็ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยยังไม่มีวิธีรักษาอย่างจำเพาะเจาะจง ก่อให้เกิดความพิการ ทุพพลภาพ หรือรุนแรงจนเสียชีวิตได้ โดยการฉีดวัคซีนก็ลดความเสี่ยงได้ราว 15%
ความจริงต่างๆข้างต้น ขอให้เราทุกคนรับทราบไว้ อย่าหลงเชื่อข่าวลวงที่...tone down harm and risk perception...ลดทอนการรับรู้อันตรายและความเสี่ยง บทเรียนสองปีครึ่งที่ผ่านมานั้น ความสูญเสียที่เกิดขึ้นมากมาย มาจากอะไรบ้าง ขอให้เรียนรู้ เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ทำในสิ่งที่ควรทำ
ไม่ควรยอมเป็น “หนูทดลอง” ให้กับแนวคิดพิลึกพิลั่นและเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิตของตัวเรา ครอบครัว และสังคม
การรู้เท่าทัน และป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
พลิกข้อมูล...สถิติการเสียชีวิตของไทย เมื่อดูค่าเฉลี่ยรอบ 7 วัน (7-day rolling average) ต่อประชากรล้านคน จะพบว่าการเสียชีวิตของไทยยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก สูงกว่าของทวีปเอเชีย และสูงกว่ากลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงอย่างชัดเจน
...
ยิ่งหากเราทราบกันดีว่า จำนวนเสียชีวิตรายวันที่รายงานในระบบนั้นไม่รวมคนที่เสียชีวิตที่มีโรคอื่นร่วม ตัวเลขจริงของผู้เสียชีวิตทั้งหมดซึ่งตรวจพบว่าติดเชื้อโรคโควิด-19 ย่อมสูงกว่าที่เห็นในรายงาน และถ้านำมาพล็อตกราฟ ก็จะยิ่งเห็นกราฟที่ทิ้งห่างจากประเทศอื่นมากขึ้น
เหนืออื่นใด ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าการระบาดยังคงรุนแรงและทำให้เกิดความสูญเสีย การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอจึงสำคัญมาก
อัปเดตความรู้เกี่ยวกับ “ลองโควิด” เริ่มจาก Crunfli F และคณะ จากประเทศบราซิล เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์ระดับสากล PNAS (11 ส.ค.2565) สาระสำคัญคือ...การแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วย ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น นอกจากจะพบว่าทำให้เนื้อสมองฝ่อได้แล้ว เชื้อจะติดเชื้อในเซลล์สมองชนิด Astrocytes
ซึ่งเป็นเสมือนโครงสร้างของสมองและทำหน้าที่ป้อนแหล่งพลังงานและนำส่งสารสื่อประสาทให้แก่เซลล์ประสาทในสมองการติดเชื้อทำให้กระบวนการเมตาบอลิซึม...การนำส่งพลังงาน...สารสื่อประสาทผิดปกติไป ส่งผลให้เซลล์ประสาททำงานผิดปกติและตายไปได้
...
กลไกทางพยาธิชีววิทยาที่ได้รับการศึกษาให้เห็นเช่นนี้ จึงอธิบายอาการและอาการผิดปกติทางสมองหรือระบบประสาทที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทั้งในระยะแรก หรือในระยะยาวหลังจากการติดเชื้อ ซึ่งพบปัญหาด้านความคิดความจำและอื่นๆในผู้ป่วยลองโควิด
ประเด็นสำคัญจึงมีอยู่ว่า...“การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ฉีดวัคซีนให้ครบ ระมัดระวังเรื่องกิจกรรมเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอเป็นหัวใจสำคัญ สุขสันต์วันแม่แห่งชาติครับ ขอให้คุณแม่ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัย และมีความสุขครับ”
แนวโน้มสถานการณ์ปัจจุบัน มีการประเมินกันไว้ว่า ภายในสิ้นเดือนนี้ ทั่วโลกอาจมียอดติดเชื้อทะลุ 600 ล้านราย...จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันมาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 87.15 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 68.54
ฉายภาพมาที่สถานการณ์ระบาดของไทย พบว่า “คนสูงอายุมีการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ที่ด้อยกว่า ทำให้เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตมากกว่าคนวัยหนุ่มสาว”
Joseph M และคณะจากสหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับสากล PNAS เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นลักษณะตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ (T-cell response) ต่อไวรัสโรคโควิด-19
...
เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มคนที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 50 ปี พบว่าการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของคนที่อายุเยอะจะมีความจำกัดกว่าคนอายุน้อย ปรากฏการณ์ข้างต้นน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่มีส่วนอธิบายว่าเหตุใดคนสูงอายุที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้วจึงมีโอกาสป่วยรุนแรง...เสียชีวิตมากกว่า
ตอกย้ำว่า...การดูแลและป้องกันการติดเชื้อแพร่เชื้อในผู้สูงอายุ รวมถึงคนที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จึงมีความสำคัญมาก ทั้งเรื่องการใส่หน้ากาก รวมถึงการฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด
ปิดท้ายด้วย...“การวิจัยเพื่อหาทางรักษาภาวะลองโควิด” ต้องยอมรับว่าถึงวันนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาอย่างจำเพาะเจาะจง มีเพียงการศึกษาแนวทางต่างๆ เช่น ยาต้านการอักเสบ ยาสลายลิ่มเลือด สเตียรอยด์ และอื่นๆ ซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะรู้ผล...การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ
อย่าเพิ่งเบื่อ ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19...รู้ไว้ใช่ว่า “ตื่นตัวย่อมดีกว่าตื่นตูม”.