วันนี้ (9 ส.ค. 2565) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการส่งเสริมการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก สำหรับการก่อสร้างของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่าง กระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย พร้อมร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน 7 ฝ่าย โดยมี นายสุเมธ มีนาภา รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองสนั่นรักษ์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ประธานคณะกรรมการบริหารสันนิบาตเทศบาลภาคกลาง ผู้แทนนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายสำราญ จันทร์ขจร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวไผ่ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง อุปนายกภาคกลาง สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ผู้แทนนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และนายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
ในการนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ที่มาของการจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ เริ่มจากเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ตนได้รับเกียรติเป็นประธานร่วมและกล่าวสนับสนุนต่อความร่วมมือดำเนินงานในพิธีประกาศ ‘MISSION 2023’ ผนึกกำลังมุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์: มาตรการทดแทนปูนเม็ด ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย และภาคีเครือข่าย อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งตนได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของกระทรวงมหาดไทยในการร่วมเป็นภาคีสำคัญเพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยและโลกใบนี้ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย ขององค์การสหประชาติ อันถือเป็นเป้าหมายเดียวกันของนานาประเทศทั่วโลก โดยประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยรักษาโลกใบเดียวของเราที่มีอยู่ให้คงอยู่มีอายุยืนยาว อยู่รอดปลอดภัยจากภาวะโลกร้อน ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 อย่างชัดเจนว่า “เราไม่มีแผนสำรอง No plan B เพราะเรามีโลกใบเดียวเท่านั้น ที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของมวลมนุษยชาติ” ด้วยการทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 และปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2608 ดังนั้น พฤติกรรมการใช้ชีวิตของพวกเราจะต้องทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดน้อยลง อาทิ การบริหารจัดการขยะต้นทางอย่างถูกต้อง โดยการทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ขณะเดียวกันต้องช่วยกันเพิ่มกิจกรรมในการใช้ชีวิตด้านต่างๆ ของคนในสังคมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก อาทิ การปลูกต้นไม้ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งช่วยทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเป็นปัจจัยเกื้อกูลเสมือนยาอายุวัฒนะให้แก่โลกใบนี้ หรืออาจเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า การปล่อยของเสียเป็นเหมือนรายจ่าย การสร้างระบบนิเวศที่ดีเป็นเหมือนรายได้ ที่คนเราต่างมุ่งไปในทางเดียวกัน คือ ช่วยกันลดรายจ่ายให้น้อยลง ช่วยกันเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุล หรือทำให้ดุลของรายได้มีเพิ่มมากกว่ารายจ่ายจะเป็นการดีนั่นเอง
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อทำให้สิ่งที่พวกเราตั้งใจไว้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็วนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้เชิญนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มาร่วมประชุมหารือการใช้ซีเมนต์ไฮดรอลิกสำหรับการก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดงานก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ณ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เป็นภาคีสำคัญเพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้ เนื่องจากปัจจัยความสำเร็จประการหนึ่ง คือ ผู้นำที่มีความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นมากที่สุด นั่นคือ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีความรู้ความเข้าใจ และมีอุดมการณ์ (Passion) เป็นผู้นำพี่น้องประชาชนทำกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจนเป็นวิถีชีวิต รวมทั้งการสนับสนุนองค์ความรู้ในการใช้ปูนซีเมนต์ดังกล่าวจากสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย สำหรับในส่วนของมาตรฐานงานก่อสร้าง มีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นส่วนราชการทำหน้าที่วางระเบียบ (Regulator) และมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นส่วนราชการทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมการบริหารงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งทุกฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อบูรณาการความร่วมมือดังกล่าวขึ้น
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งในโอกาสที่กระทรวงมหาดไทยเราครบ 130 ปี และได้จับกับมือภาคีเครือข่ายคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของทั้งประเทศ ร่วมให้คำมั่นสัญญาและถือปฏิบัติอย่างเป็นทางการ ที่นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ในงานก่อสร้างเราจะใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกประเภท GU (General Used) 100% ซึ่งเป็นปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน ซึ่งหมายรวมไปถึงศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ด้วย ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทยจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักความห่วงใยของพวกเราชาวมหาดไทย เราจะใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกหรือปูนซีเมนต์ลดโลกร้อนทั้งหมด แล้วก็ในขณะเดียวกันเราก็คิดว่าสิ่งที่เป็น passion ที่ผมได้ปรับเปลี่ยนมานั้นจะตกทอดแล้วก็จะขยายผลไปสู่ส่วนราชการ อื่นๆ ในส่วนของพี่น้องประชาชนน่าจะเป็นการง่าย เพราะมีท่านผู้นำองค์กรส่วนท้องถิ่นที่คอยเป็นผู้นำที่สำคัญในการขับเคลื่อน เปรียบเสมือนคำกล่าวที่ว่า กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว แต่ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะใช้เวลานานสักเพียงใด มันต้องมีวันเริ่มต้นต่อไป นั้นก็ถือว่าวันนี้เป็นวันที่สำคัญยิ่งที่ผมภาคภูมิใจแล้ว
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ในเดือนนี้เป็นเดือนที่สำคัญ เดือนมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระชนมพรรษา 90 พรรษา เรามาร่วมรณรงค์ส่งเสริมการปลูกป่า จากพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างน้ำ ฉันจะสร้างป่า” พระองค์ท่านให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำ และเรื่องใหญ่คือการปลูกป่า ซึ่งป่าจะทำให้มีน้ำ และที่สำคัญนอกเหนือไปจากความจงรักภักดีอย่างสุดจิตสุดใจของพระองค์ท่านตลอดพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร แล้วยังสะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ท่านให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีความมั่นคงยั่งยืนว่า น้ำเป็นชีวิตหรือน้ำคือชีวิตของมวลมนุษยชาตินั้น แท้ที่จริงเรื่องใหญ่ที่สำคัญที่สุดคือ การปลูกต้นไม้หรือปลูกป่าซึ่งจะทำให้มีน้ำได้อย่างอุดมสมบูรณ์ ซึ่งทางรัฐบาลและคณะกรรมการได้จัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระพันปีหลวงทรงเจริญพระชนมายุครบ 90 พรรษา 12 สิงหาคม ก็ได้สื่อให้เห็นในมุมนิทรรศการสถานที่บริเวณถนนราชดำเนิน โดยเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนนำเศษผ้าเศษวัสดุมาจัดทำผีเสื้อซึ่งเป็นสัตว์ที่เป็น KPI ของการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งเราเรียกผีเสื้อนี้ว่า ผีเสื้อแห่งความจงรักภักดีเชิญชวน ขอเชิญชวนทุกท่านเยี่ยมชมนิทรรศการ “ผีเสื้อแห่งความจงรักภักดีจากผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ภายใต้ชื่อ “ด้วยรักแห่งแผ่นดิน : With Love For The Nation” ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2565 ณ บริเวณถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีกส่วนหนึ่งที่ผมอยากจะกราบเรียน คือกระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนเรื่องของการลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังนำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด นำโดยปลัดกระทรวงมหาดไทยพร้อมทั้งนายกสมาคมแม่บ้านพร้อมผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย มุ่ง Change for Good ทำให้โลกใบเดียวของทุกคนมีอายุยืนยาวตราบนานเท่านาน ด้วยแนวคิด “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน “โลกนี้เพื่อเรา””
ด้าน นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า ยินดีที่ได้มาร่วมกันดำเนินการในเรื่องนี้ อย่างที่ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่าทุกบริษัทที่ผลิตปูนซิเมนต์จำหน่ายในท้องตลาดไทยนั้นสามารถผลิตปูนซิเมนต์ไฮดรอลิก หรือปูนซีเมนต์ลดโลกร้อนที่ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยตั้งชื่อใหม่ให้ จึงไม่ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจ แม้เป็นบริษัทขนาดเล็ก ต้องกราบขอบพระคุณทางกระทรวงมหาดไทยที่มาร่วมกันดำเนินการ นับแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสร่วมประชุมและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่ององค์ความรู้ที่เราดำเนินการภายในต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่าน ผมเองก็ได้มีการเดินทางไปที่อเมริกาใต้ ซึ่งเราได้ร่วมงานกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TMCA) จะประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกของสมาคมอุตสาหกรรมปูนที่ลงทะเบียน พัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ โดยจะให้ความสำคัญกับการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงไปเรื่อยๆ และทำให้ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่ปลอดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และในปี 2566 เราจะหันมาใช้ปูนลดโลกร้อนทั้งหมด เพื่อเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก เพื่อให้เกิดการนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายด้วยเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมต่อไป
ในตอนท้ายนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ พร้อมด้วยผู้แทนของสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย สมาคม อบต. แห่งประเทศไทย และสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ว่าจะส่งเสริมการลดโลกร้อนอย่างเต็มที่เพื่อลูกหลานของเราได้อยู่อาศัยในโลกที่สวยงามตลอดไป