ความไม่แน่นอนจาก “สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ” ส่งผลต่อรายได้ของประชาชนลดลงกลายเป็นชนวนผลักให้ต้องหันไปพึ่งพา “บุคคลอ้างตนเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่” อาศัยความเชื่อทำพิธีกรรมอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้เกิดโชคลาภ ค้าขายดี เงินทองไหลมาเทมาไม่ขาดสาย

ทำให้มี “ผู้ตั้งตนเป็นคนวิเศษ” เปิดสำนักทำพิธีสะเดาะเคราะห์แก้กรรมทางไสยศาสตร์ผุดขึ้นปานดอกเห็ด “เรียกรับเงินรับทองแอบแฝงอยู่ในสังคมไทย” กลายเป็นไสยเวทพาณิชย์มักถูกจับดำเนินคดีหลอกลวงตกเป็นข่าวในช่วงก่อนนี้มากมายนั้น พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กลฺยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว บอกว่า

อันที่จริง “พิธีกรรมประหลาดทางไสยศาสตร์” เกิดขึ้นอยู่คู่สังคมไทยมานานเพียงแต่เมื่อก่อนทำพิธีกันแบบเงียบๆ ไม่เอิกเกริกเกลื่อนกลาดอย่างทุกวันนี้ที่พากันอวดอ้าง “คนนั้นวิเศษ หรือคนนี้มีอิทธิฤทธิ์” ตามดังที่พวกโยมเห็นกันอยู่นั้น “สิ่งนี้เป็นเหมือนเนื้องอกในทางศาสนา” คอยชวนชาวบ้านร่วมพิธีกรรมในสำนักตนเอง

...

ด้วยการโน้มน้าวใจจัดพิธีกรรมอลังการปลุกเร้าให้เกิดปาฏิหาริย์เป็นตัวตั้งโดยการใช้สิ่งอื่นมาอวดอ้าง อย่างเช่น กินเหล้าขาวเท่ากับเงิน หรือกินเบียร์เท่ากับทอง และกินลาบก็จะมีโชคมีลาภ คำพวกนี้จะกระตุ้นให้คนคล้อยตาม “เกิดความเชื่อศรัทธามากขึ้นเรื่อยๆ” อย่างไม่มีเหตุผลด้วยซ้ำ

แม้แต่ “ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหรือตำรวจ” ก็ต่างมีความเชื่อพากันบนบานศาลกล่าวขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้ประสบความสำเร็จจับคนร้ายได้ใน 3 วัน 7 วัน เมื่อคนร้ายถูกจับก็พากันไปแก้บนจนเป็นข่าวเอิกเกริกแพร่กระจายออกไปอีก เหตุนี้ทำให้ความเชื่อและพิธีกรรมไสยศาสตร์ยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทยอยู่ตลอด

ตามหลักบทสวดสาธยายธรรมกล่าวไว้ว่า “เมื่อมนุษย์มีภัยคุกคามเกิดความกลัว” ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากภัยธรรมชาติ ฟ้าผ่า ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม หรือกลัวในโรคร้ายระบาดที่จะเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตนั้น สิ่งนั้นทำให้มนุษย์มักต้องแสวงหาที่พึ่งเอื้อต่อการมีชีวิตรอดให้ได้

ตอนนี้ผู้คนเผชิญโรคระบาดเดือดร้อนกันสิ่งใดคือ “ความหวังลอยมาคว้าได้ก็ต้องคว้ากันเอาไว้” ดั่งเปรียบเหมือนคนตกน้ำกำลังใกล้จม แม้สิ่งนั้นเป็นเศษสวะลอยมาอยู่ตรงต่อหน้าย่อมต้องคว้าไว้ก่อนเสมอ

หนำซ้ำยังมีมิจฉาชีพรอฉวยโอกาสหารายได้จาก “คนกำลังแสวงหาที่พึ่งในความเชื่อนี้” ด้วยการอ้างตัวเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่สามารถติดต่อสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติได้ ทำให้ผู้คนมักตกเป็นเหยื่อถูกหลอกเสียเงินเสียทองกันได้ง่ายยิ่งขึ้น และยิ่งกว่านั้นคือ “อ้างตัวเป็นพระศรีอริยเมตไตรย” เพื่อมาช่วยเหลือทุกคนบนโลกให้รอดอีกด้วย

ประการนี้ตราบใด “ภาครัฐและสำนักสงฆ์” ไหวตัวรับมือไม่ทันปล่อยให้ใช้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิปาฏิหาริย์เป็นข้ออ้างจูงใจให้คนหลงหมกมุ่นอย่างนี้ เพื่อหาประโยชน์ยิ่งเป็นการทำลายพระศาสนาหนักขึ้น

ถ้าเป็นในสมัย “หลวงพ่อปัญญา นันทภิกขุ” ท่านมักเป็นหัวหอกคอยห้ามปรามเตือนสติไม่ให้งมงายเสมอ แต่ปัจจุบันยังดีที่มี “หมอปลา” ออกมาช่วยปกป้องพระพุทธศาสนา “เปิดโปงผู้ปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม” ทำให้คนเริ่มรู้สึกลังเลสิ่งนั้นเชื่อได้หรือไม่ได้ และพึ่งพาได้หรือพึ่งพาไม่ได้เสมือนกระตุกให้คนเลิกงมงายขึ้นมาได้บ้าง

...

จริงๆแล้วเรื่องความเชื่อนี้หากย้อนดูสมัยก่อนมีพุทธศาสนานั้น “วิถีชีวิตคนไทย” มักมีความเชื่อเคารพนับถือพราหมณ์ ผีสางนางไม้ และไสยศาสตร์เวทมนตร์ จนมาถึงยุค “พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทย” แผ่ขยายอิทธิพลออกไปอย่างกว้างขวางแต่ “ความเชื่อแบบดั้งเดิม” ยังไม่จางหายไปไหนคงอยู่เช่นเดิม

กลายเป็นผสมกลมกลืนระหว่าง “พุทธศาสนา พิธีกรรมไสยศาสตร์ ปาฏิหาริย์” แล้วมีความเชื่อปฏิบัติสืบต่อมาถึงวันนี้ อีกทั้งในสมัยพระพุทธศาสนาก็สอนให้มีความเชื่อในปาฏิหาริย์เช่นกัน แต่ “พระพุทธเจ้า” ท่านไม่สรรเสริญ “อิทธิปาฏิหาริย์” อันเป็นปาฏิหาริย์ในเรื่องฤทธิ์ การแสดงฤทธิ์ ความเป็นผู้วิเศษดลบันดาลสิ่งต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นการเหาะเหิน เดินอากาศ หูทิพย์ ตาทิพย์ ทั้งไม่สรรเสริญ “อาเทศนาปาฏิหาริย์” คือการทายใจโยมได้ แต่ท่านสอนให้เชื่อใน “อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือคำสอนที่เป็นอัศจรรย์” แสดงธรรมให้ผู้ฟังรู้เข้าใจแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติได้ผลเกิดปัญญาได้จริง เช่น การใช้ปาฏิหาริย์แสดงธรรมให้โจรผู้ร้ายกลับใจได้

ดังนั้น “พระพุทธเจ้า” ท่านทรงไม่สรรเสริญให้ “พระสงฆ์แสดงคนเป็นผู้วิเศษ” เพราะอาจหลงตัวเองกลายเป็นลัทธิลวงโลกเหมือนดังที่เคยเกิดขึ้น เช่น “อดีตพระบางรูปอวดอุตริ” มีคุณวิเศษบรรลุธรรมเกินคนปกติ สุดท้ายไม่มีคุณวิเศษจริง “หลอกลวง” ต้องอาบัติปาราชิกขาดความเป็นพระ ถูกดำเนินคดีมีให้เห็นอยู่เป็นระยะ

...

ถัดมาเมื่อ “พุทธบัญญัติไม่ให้พระอวดอุตริแสดงเป็นคนวิเศษ” ก็กลายมาเป็นรูปแบบ “ฤาษีหรือสำนักลัทธิ” จัดทำพิธีกรรมทางความเชื่อด้านไสยศาสตร์ประหลาด “ยิ่งทำยิ่งรวย” อันมีหน้าม้าคอยรับลูก รู้เห็นกัน เพื่อใช้ในการโปรโมตโฆษณา อย่างกรณี “ผีบอกหวย” ที่มีคนถูกหวยรวยจนต้องจัดโต๊ะจีนเลี้ยงผีใหญ่โตนั้น

แสดงให้เห็นแม้ประเทศไทยก้าวหน้าไปไกลเพียงใด “บางคนไม่รู้จะหันหน้าพึ่งใครก็หวนมาพึ่งผีเหมือนเดิมอีก” ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ “เศรษฐกิจตกต่ำ” ผู้คนหากินลำบากจนถูกหลอกลวงได้ง่ายขึ้นก็ได้

ถ้าถามว่า “อำนาจวิชาอาคมไสยศาสตร์ หรือสิ่งเหนือธรรมชาติมีจริงหรือไม่” ในเรื่องนี้สมัยอาตมาเป็นเด็ก “คุณปู่” เวลานั่งกินข้าวมักต้องนั่งสวดคาถาเขมร เรียกพระแม่คงคา พระแม่ธรณี เข้ามาปกปักรักษาผิวพรรณเนื้อหนังให้อยู่ยงคงกระพัน แล้วอยู่มาวันหนึ่งคุณปู่ถูกคนร้ายยิง ปรากฏลูกปืนไม่แตกยิงไม่ออก

แม้มีดฟันก็ไม่เห็นบาดแผลแต่ภายในร่างกายบอบช้ำทั่วตัวจนกลายเป็นคนนอนป่วยติดเตียง ดังนั้น สมัยก่อนไสยศาสตร์ถูกใช้เป็นกุศโลบายให้ทำความดี “คนมีเครื่องรางของขลังจากพระเกจิ” ต้องปฏิบัติอยู่ในศีลในธรรม แต่ปัจจุบันถูกใช้เป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์กับ “คนเชื่อง่าย งมงาย” แล้วก็มีคนเคยตกเป็นเหยื่ออยู่มากมาย

...

เช่นนี้ขอยกวาทกรรมเด็ด “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ.ปยุตฺโต)” กล่าวไว้ว่า “ชาวพุทธทับหลักเริ่มคลำหาฤทธิ์” กล่าวคือตามหลักผู้ต้องการความสำเร็จต้องอาศัยอิทธิบาทสี่ “ฉันทะ” ความพอใจ “วิริยะ” ความเพียร “จิตตะ” ฝักใฝ่ “วิมังสา” หมั่นสอดส่อง แต่ไม่นำหลักนี้ไปใช้กลับไปอ้อนวอนขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปาฏิหาริย์แทน ถ้ามีข่าวสถานที่ใดช่วยให้สำเร็จก็พากันไปบนบานศาลกล่าว กลายเป็นได้โชคลาภลอยลมๆแล้งๆ

ประเด็นนี้ “รัฐบาล สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” ต้องออกมาตรการมาจัดการเร่งด่วน “เพื่อเรียกสติไม่ให้คนงมงายมากกว่านี้” เพราะสังเกตดูแล้วสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อโซเชียลฯ มักไม่พูดให้คนหายงมงายเชื่อในทางที่ถูกที่ควรเชื่อชวนที่เรียกว่า “ศรัทธาต้องสัมปันยะด้วยปัญญา” แต่กลับเน้นสอนเชิญชวนคนทำบุญอย่างเดียว

ส่วนใหญ่เน้นการสื่อสารทำพิธีแบบนี้ที่ “วัดนั้นวัดนี้มักสมหวังดั่งปรารถนา” ส่งผลยิ่งกระตุ้นให้ประชาชนแห่พากันไปกราบไหว้บูชาขอพรกลายเป็นว่า “บุญเป็นสิ่งล้าหลัง” ผู้คนมุ่งเข้าวัดต้องหวังโชคลาภเป็นหลักสิ่งสำคัญบางคนบนบานไว้ ถ้าถูกหวยจะกลับมาทำบุญ สุดท้ายก็ถูกหวยกินจนบุญก็ไม่ได้ทำอีก

ตอกย้ำด้วย “เน็ตไอดอล และบรรดาเหล่าคนดัง” ส่วนใหญ่ขึ้นตรงกับวัดดังๆ ที่มีการประกอบพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ เจิมนั่นเจิมนี่ อันมีความเชื่อว่าเสริมเมตตามหานิยม และโชคลาภให้ดวงขึ้น แล้ว “งานจะเข้ามาเงินทองก็จะไหลเข้าไม่ขาดสาย” ทำให้วัดมุ่งหมายแต่ทำบุญประกอบพิธีจนแทบเป็นส่วนหนึ่งของพุทธพาณิชย์

อันที่จริงแล้วคำว่า “พุทธพาณิชย์” แปลว่าชาวพุทธมีการค้าขายกัน “คนขาย” มองผู้ซื้อเป็นเสมือนลูก ในส่วน “ลูกค้า” มองคนขายเป็น “พ่อแม่” ทำให้ค้าขายแบบครอบครัวไม่เอารัดเอาเปรียบกัน แต่ “การขายเครื่องรางของขลัง” เน้นผลกำไรเอาเปรียบคนอื่นจนน่าจะเรียกว่า “ไสยเวทพาณิชย์” เพราะหากินอยู่กับไสยศาสตร์นั้น

ยิ่งกว่านั้นวงการความเชื่อไสยเวทนี้แม้แต่ “ครูบาอาจารย์จบด็อกเตอร์” ยังเชื่องมงายไปกับเขาอีก ดังนั้น ฝากเตือนสติสังคมไทยด้วยการยกตัวอย่างกรณี “ตุ๊กตาพี่สาว” อ้างให้โชคลาภทำมาค้าขายได้ดี มีคนร่ำรวยหลายรายนั้น ถ้าเป็นความจริงทำไมรัฐบาลหรือกระทรวงพาณิชย์ ไม่เอาตุ๊กตาพี่สาวไปจะได้เป็นตัวดูดเงินให้ประเทศชาติ...?

ฉะนั้น สุดท้ายนี้ “เตือนสติญาติโยมทั้งหลาย” ต้องหมั่นพิจารณาให้ถี่ถ้วน “อย่าหลงหมกมุ่นเพลิดเพลินอยู่กับความหวัง โชคลาภ ยศ สรรเสริญ” เพราะเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป...เจริญพร.